การเกษตรแนวใหม่ปรับง่ายรายได้เพิ่ม
การทำนาแบบดั้งเดิมนำมาสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างคาดไม่ถึงในการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่แน่นอนว่าการทำนาย่อมเป็นการทำการเกษตรเลี้ยงชีพที่ในทั่วโลก และทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะข้าวถือว่าเป็นอาหารหลักของหลายประเทศบนโลกนี้ รวมไปถึงคนไทย
แต่จากปัญหาภัยธรรมชาติ และความผันผวนทางเศรษฐกิจส่งผลให้ ราคาข้าวตกต่ำ และไทยเราเสียรังวัดในการส่งออกข้าวในหลายปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท
ทีนี้เราจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ?
นาย เสมอกัน เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 4 จังหวัดสุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ออกมาเสนอแนวทางการทำนาแบบเปียกสลับแห้งว่า
“ ผมเห็นข่าวเรื่องนี้มาครับ แล้วผมก็ได้ไปลองคุยกับชาวนาบางส่วน ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าเป็นเรื่องจริงครับ และตอนนี้ก็มีการรณรงค์ให้ทำเปียกสลับแห้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ พี่น้องชาวนาลองอ่านแล้วลองพิจารณากันดูนะครับ
เท่าที่ไปคุยกับชาวนามา การทำเปรียบสลับแห้ง อาจจะต้องขยันและลงแรงมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็บอกผมว่า ผลที่ได้ค่อนข้างคุ้ม ได้ปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าใครนำดินไปวิเคราะห์ก่อนทำนา ก็ทำให้ใส่ปุ๋ยน้อยลงด้วย ประหยัดต้นทุนลงไปอีกครับ
จากรายงานข่าวของ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์กรมการข้าว เผยว่า ล่าสุดมี บริษัท Spiro Carbon ที่เป็นองค์กรสัญชาติอเมริกัน เข้ามาดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาและเกษตรกรที่ปลูกผลิตผลต่างๆ ให้สามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง หลังจากที่ภาครัฐได้ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรครับ
โดยบริษัทจะรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากชาวนา ให้ราคาตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าละ 400 บาท โดยมีเงื่อนไขคือเกษตรกรต้องทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยปล่อยนํ้าในการทำนาให้แห้ง 2 ครั้ง เพราะการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นตัวการสร้างภาวะโลกร้อนจากผืนนา ได้กว่า 55% และยังช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ได้อีก 20% ด้วยครับ
ทางบริษัท จะโอนเงินให้ทันทีจากการใช้เทคโนโลยีจานดาวเทียมเฉพาะ ตรวจสอบพื้นที่ที่ได้ลงทะเบียนกับ Spiro Carbon โดยตรวจจับพืชผลที่มีแสงแตกต่างกันออกไป พร้อมแสดงข้อมูลพิสูจน์ว่า ที่นาผืนนี้มีการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจริงไหม และลดก๊าซมีเทนไปได้ในปริมาณเท่าใด
ตอนนี้ มีพี่น้องชาวนาที่อ.เดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว 2 ราย รายละ 10 ไร่ สร้างรายได้ประมาณ 8,000 กว่าบาทต่อราย มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 9,000 ไร่ครับ ”
เราจะเห็นได้ว่า การทำนาในรูปแบบดังกล่าว สามารถได้รายได้อีกช่องทางหนึ่ง คือการได้เงินจากการขาย คาร์บอนเครดิต หรืออธิบาย ให้เข้าใจง่ายๆว่า การขายความน่าเชื่อถือในการลดการปล่อยก๊าซที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนแก่บริษัทที่รับซื้อ ที่ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ในยุคปัจจุบัน
และมีคนไทย ในจังหวัดสุพรรณบุรีประสบความสำเร็จจากการขายคาร์เครดิตรดังกล่าวแล้ว โดยได้กำไรที่นอกเหนือจากการขายข้าวอีก 8,000 บาท
เรียกได้ว่านอกจากขายข้าวแบบเดิม การเพิ่มมูลค่า แก่ผลิตผลข้าว เป็นข้าวปลอดสารพิษ ข้าวลดโลกร้อน ข้าวอินทรีย์ และได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิตอีก นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี และ ขอบคุณ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ที่ส่งเสริมและพยายามพูดถึงประเด็นดังกล่าวแก่เกษตรกรด้วยครับ













