การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ Low Carbon Tourism ช่วยให้การเที่ยวลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกทาง
สำหรับการท่องเที่ยว "คาร์บอนต่ำ" นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญ ควบคู่กับการออกแบบ รูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว กิจกรรมที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวอาจก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ เพื่อเป็นการช่วยลดโลกร้อนนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบ คาร์บอนต่ำ Low Carbon Tourism ที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกันในรูปแบบ ‘เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด’
ที่สำคัญการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Tourism เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรง มองไปทางไหนก็เห็นว่าแต่ละจังหวัดในไทย และหลายประเทศทั่วโลกกำลังจะผลักดันเรื่องนี้ เพราะหลายฝ่ายตระหนักว่า การท่องเที่ยวก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอีกอุตสาหกรรมกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เลยเกิดการคิดค้น หาวิธีที่จะทำให้การท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด และในแต่ละประเทศก็มีกิจกรรม คิดค้นวิธีที่แตกต่างกัน ในไทยเอง วิธีช่วยลดผลกระทบต่าง ๆ ก็จะมีทั้ง
-มุ่งเน้นการทำกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ลดการใช้พลังงานที่ได้มาจากพลังงานเชื้อเพลิง เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด เช่น การใช้เรือโซลาร์เซลล์
- ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการต่าง ๆ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคจากธรรมชาติ เช่น การขายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตกันเองในชุมชน
- ลดคาร์บอนฟุตปรินท์จากอาหาร เน้นใช้วัตถุดิบจากในชุมชนใกล้ๆ
- ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองเพื่อลดปริมาณขยะให้น้อยลง และเน้นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายได้ เช่น การมีตู้กดน้ำให้นักท่องเที่ยวกดน้ำใส่ขวดตัวเองในสถานที่ต่าง ๆ
สำหรับทางด้านสถานที่พักก็มีส่วนช่วยในการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน ในไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเลยมีมาตรฐาน โครงการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ให้แต่ละโรงแรมเข้าร่วม และทำตามเพื่อพัฒนาโรงแรมตัวเอง และให้แขกเข้าไปเลือกเข้าพัก (นอกจากนี้ก็มีเกณฑ์อื่น ๆ ระดับโลกอีกมากมาย) หรือใน booking.com ก็จะมีไอคอน “ที่พักสำหรับเดินทางอย่างยั่งยืน” ข้าง ๆ ชื่อแต่ละโรงแรมแสดงให้ดูด้วยว่าโรงแรมไหนผ่านเกณฑ์ของเว็บเขา หรือแม้แต่กิจกรรมที่ทำระหว่างพักผ่อนหย่อนใจก็มีส่วนช่วย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเก็บขยะ พายเรือคายัก ปั่นจักรยานชมวิว และอีกมากมาย แต่ก็ต้องระวังด้วย เพราะบางกิจกรรมอาจไม่ยั่งยืนจริง เช่น การปลูกป่า ปลูกปะการัง ปลูกป่าชายเลน ถ้าเราไม่ได้ทำร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ การกระทำของเราอาจกลายเป็นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาากกว่าลด ซึ่งตอนนี้ไทยเราก็กำลังผลักดันให้เกาะหมาก จังหวัดตราด เป็น Low Carbon Destination แห่งแรกของไทย ซึ่งตอนนี้เกาะหมากก็ติด 1 ใน 100 ของแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่ยั่งยืน ตาม Green Destinations Standard จากเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ด้วย ที่นี่เขาก็พยายามผลักดันกิจกรรมที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ตาม ’ธรรมนูญ 8 ข้อ' คือ
- ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอร์รีนำยานพาหนะของนักท่องเที่ยวข้ามเข้ามา
- ไม่ให้มีรถจักรยานยนต์ให้เช่าเกิน 70% ของจำนวนห้องพักบนเกาะ
- ไม่ให้ใช้วัสดุจากโฟม หรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษใส่อาหาร
- ห้ามทิ้งสิ่งของใด ๆ ลงในที่สาธารณะ หรือแหล่งน้ำ
- ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีตกค้าง
- ห้ามส่งเสียงดัง รบกวนระบบนิเวศ ในเวลา 22.00-07.00 น.
- ลดกิจกรรมทางบกหรือทางน้ำที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน
- ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจำหน่ายสารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดบนเกาะ
ดังนั้นสำหรับใครอยากสัมผัสชีวิตแบบโลว์คาร์บอน ก็คงต้องลองไปเที่ยวที่เกาะหมากกันแล้ว แต่มากกว่าสถานที่ กิจกรรม แและวิธีการอำนวยความสะดวกต่อการเป็นที่เที่ยวแบบโลว์คาร์บอนแล้ว พฤติกรรมของเราก็มีส่วนนะ พวกพฤติกรรมรักษ์โลกที่เชารณรงค์กัน Reuse Reduce Recycle ก็มีส่วนด้วย ต่อให้เขาลดการสร้างขยะ แต่เรายังสร้างกันแบบเกินความจำเป็น หรือทิ้งขยะไม่ถูกที่ หรือกินแบบทิ้งขว้างก็ไม่สามารถทำให้การไปเที่ยวครั้งนี้โลว์คาร์บอนได้เช่นกัน








