นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ "ประชากรสูงอายุและหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศล้าหลังในภูมิภาค
นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ "ประชากรสูงอายุและหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศล้าหลังในภูมิภาค แม้มีนายกฯ คนใหม่ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ"
เฟซบุ๊กแฟนเพจ Future Trends
รายงานว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในไทยว่า การเติบโตของประเทศไทยในปีนี้อาจล้าหลังที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปี หนี้ที่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนค่า การขาดดุลงบประมาณที่ล้นหลาม และหนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้มีตัวเลขสูงที่สุดในภูมิภาคแล้ว
Ju Ye Lee นักเศรษฐศาสตร์จาก Maybank Investment Banking Group ให้ความเห็นว่า การท่องเที่ยวไทยที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP นั้น จะมีส่วนช่วยให้การเติบโตของประเทศดีขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุและหนี้ครัวเรือนจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศล้าหลังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องเผชิญหน้ามีทั้งต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้มีรายได้น้อยและพนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ต้องดิ้นรนท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 7% ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่งปรับตัว ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีการขอปรับราคาขึ้นครั้งแรกในรอบทศวรรษ รวมถึงความกังวลในเรื่องของอุทกภัย ทั้งหมดนี้ทำให้สถานการณ์ในไทยไม่สู้ดีนัก
นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบๆ 90% ต่อ GDP ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 หนี้ครัวเรือนทำให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงนโยบายได้ยากขึ้น ส่อเค้าที่จะเกิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจหากยังไม่ได้รับการแก้ไข








