30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันฉลามวาฬโลก มาทำความรู้จักสัตว์ใหญ่ใจดีแหล่งท้องทะเลลึกชนิดนี้กัน
ฉลามวาฬนั้น แม้จะเป็นสัตว์ขนาดยักษ์ที่ดูน่าเกรงขามและมีชื่อเสียงราวกับเป็นสัตว์ดุร้าย แต่แท้จริงแล้วเหล่าฉลามวาฬกำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ จนทำให้เกิดเป็นวันฉลามวาฬนานาชาติที่ริเริ่มขึ้นในปี 2012 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนทั่วโลกร่วมกันอนุรักษ์สัตว์น้ำขนาดยักษ์เหล่านี้ ฉลามวาฬถือเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากโตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร ซึ่งฉลามวาฬที่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยมีการบันทึกมามีความยาวถึง 20 เมตร และหนักถึง 42 ตัน
สำหรับเจ้าฉลามวาฬแม้จะมีฟันซี่เล็กๆ กว่า 3,000 ซี่ แต่ฉลามวาฬหากินด้วยการกินแพลงก์ตอนและสัตว์ทะเลตัวเล็กๆ เป็นอาหาร ด้วยการอ้าปากกรองน้ำทะเลราวๆ 5,000 ลิตรต่อชั่วโมงผ่านซี่กรอง จากข้อมูลของบัญชีแดงสัตว์ที่ถูกคุกคาม (IUCN Red List of Threatened Species) พบว่า ฉลามวาฬมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ 40-92% แล้วแต่พื้นที่ ส่วนในเอเชีย-แปซิฟิก ฉลามวาฬมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 63% ทำให้ถูกยกสถานะจาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) เป็น ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) จากการประเมินในปี 2016 โดยใช้ข้อมูลในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทยนั้น ปลาฉลามวาฬ เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนในทะเลของไทย สัตว์ทะเลยักษ์ใหญ่ที่ใกล้สูญพันธุ์มีกฎหมายคุ้มครองฉลามวาฬคือ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.ก. การประมง ที่กำหนดให้ฉลามวาฬเป็นสัตว์ห้ามจับหรือนำขึ้นเรือ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 300,000-3,000,000 บาท ทส. เตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงฯ เพิ่มสัตว์ป่าคุ้มครอง 7 รายการ ยกสถานะ ปลาฉลามวาฬ-เต่ามะเฟือง-วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ป่าสงวน โดยเมื่อวันที่24 สิงหาคม 2564 ทางด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับดูแล ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) มอบหมายให้ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. .... และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปประกอบการพิจารณา และนำเสนอต่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองแห่งชาติตามขั้นตอนต่อไป โดยการพิจารณา ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. .... เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 7 ของ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ได้มีการปรับปรุงจากบัญชีท้ายกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยมีการปรับสถานะรายการสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และวาฬบรูด้า การเพิ่มรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ค่างตะนาวศรี งูหางแฮ่มกาญจน์ ปลากระเบนปีศาจหางเคียว ปลาฉลามหัวค้อนยาว ปลาฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ และปลาฉลามหัวค้อนเรียบ และ การปรับลดรายการสัตว์ป่าคุ้มครอง จำนวน 20 รายการ เช่น ค้างคาวกินแมลงนิ้วสั้น ค้างคาวปีกขนเหนือ พญากระรอกบินหูขาว นกกระเต็นน้อยหลังแดง ตะพาบพม่า และ ปลาฉนากฟันเล็ก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำในปัจจุบัน รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อภาษาไทย และชื่อวิทยาศาสตร์ ในลำดับชั้นสกุล หรือในลำดับชั้นชนิด ในบางรายการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลทางอนุกรมวิธานปัจจุบัน ซึ่งร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมฯ มาแล้วระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2564 โดยมีผู้มีส่วนได้เสีย ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน และประชาชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบผลการดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2562 – 2564 จำนวน 245 ฉบับ โดยให้ฝ่ายเลขานุการตรวจสอบและแก้ไขความคืบหน้าร่างกฎหมาย พร้อมรายงานปัญหาอุปสรรคที่พบ รายงานต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อโปรดทราบต่อไป ตลอดจนเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนพัฒนากฎหมาย
ทำไมถึงต้องอนุรักษ์เจ้าฉลามวาฬนั้น เพราะในปัจจุบันอย่างที่ทราบกันดีว่าเหล่าฉลามวาฬกำลังถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยเราเองก็ตาม หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับรายงานข่าวเกี่ยวกับ กรณีกลุ่มครูสอนดำน้ำแบนส์ไดร์วิ่งเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พบปลาฉลามวาฬที่มีเชือกพันบริเวณหางจนเกิดบาดแผลลึก และพยายามช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จว่า จึงได้สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ติดตามและสำรวจหาปลาฉลามวาฬตัวดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้น พร้อมให้รายงานให้ตนทราบเป็นระยะ นี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราควรจะต้องรีบอนุรักษ์เหล่าฉลามวาฬให้อยู่คู่กับท้องทะเลไทยตลอดไป และอีกเรื่องที่น่ายินดีคือเมื่อเร็วๆ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา รายงานว่า ที่บริเวณจุดดำน้ำกองหินชุมพรชื่อดังของเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีใต้ท้องทะเลสวยงาม ห่างจากเกาะเต่าไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 12 กิโลเมตร ครูสอนดำน้ำได้พานักดำน้ำลงใต้ทะเลที่ความลึกประมาณ 15 เมตร ได้พบฉลามวาฬ (Whale Shark) ถึง 2 ตัว โดยตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 5-6 เมตร ชื่อ "พี่จุด" ขวัญใจนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำ ที่ชอบออกว่ายต้อนรับข้างเรือนักท่องเที่ยวและว่ายตามกลุ่มนักดำน้ำ ซึ่งอีกตัวมีขนาดเล็กกว่าความยาวประมาณ 4 เมตร โดยนักดำน้ำได้พบฉลามวาฬ 2 ตัวทั้ง 2 ไดร์ฟ สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากปกติมักพบพี่จุดเพียงตัวเดียว สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะสามารถดึงดูด กระตุ้นด้านการท่องเที่ยว พร้อมสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้อีกด้วย









