รับมือกับความเครียดลงกระเพาะ
รับมือกับความเครียดลงกระเพาะ
โดย : อักษราลัย
เครียดจนปวดท้อง อาการนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เคยเป็นกันไหมคะ เครียดมากหนักหนาจนปวดท้อง เรามักจะได้ยินอยู่เสมอว่าคนที่มีอาการปวดท้องอยู่บ่อย ๆ สาเหตุน่าจะมาจากเครียดลงกระเพาะ
รู้หรือไม่ว่า เวลาเราเครียด ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป หัวใจจะเต้นแรง เร็ว แต่ไม่เป็นจังหวะ เส้นเลือดบีบตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ส่วนกระเพาะอาหารของเราก็จะหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรง
วันนี้ลองมาอ่านความรู้เกี่ยวกับความเครียดว่าส่งผลต่อกระเพาะของเราอย่างไร ลองสำรวจตัวเองกันค่ะว่าเราเสี่ยงเป็นโรคเครียดลงกระเพาะกันหรือไม่
ความเครียดเกิดจากอะไร
ความเครียดเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่เราทำเป็นกิจวัตร ในปัจจุบันคนเรามักประสบความเครียดอยู่เสมอ ทำให้เกิดความเครียดทับถมท่วมทันจนน่าเป็นห่วงสุขภาพจิต นอกจากผลเสียทางสุขภาพจิตแล้ว สุขภาพกาย และโรคภัยหลายอย่างอาจตามมา ความเครียดมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารเป็นแผล ความดันโลหิตสูง และอาจถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ระดับของความเครียด
ความเครียดนั้นมักมาจากการถูกกระตุ้นทางสังคม สิ่งแวดล้อม และ ภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ รวมถึงสภาพร่างกาย โดยความเครียดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- Mind Stress กลุ่มความเครียดต่ำ มีความรู้สึกเบื่อหน่าย การตอบสนองเชื่องช้าลง ขาดแรงกระตุ้นในการดำเนินชีวิต
- Moderate Stress เครียดระดับปานกลาง เป็นความเครียดในระดังปกติ สามารถหากิจกรรมที่ช่วยให้หายเครียดได้
- High Stress เครียดระดับสูง เกิดจากความเครียดที่มีต่อเหตุการณ์รุนแรง ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ปวดศีรษะ ปวดท้อง นอนไม่หลับ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนไปจนมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
- Severe Stress เครียดระดับรุนแรง กลุ่มความเครียดระดับสูงก่อให้เกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา อารมณ์แปรปรวนง่าย มีอาการทางจิต มีความบกพร่องในการใช้ชีวิตประจำวัน อาจมีอาการนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งหากมีอาการในกลุ่มนี้ควรเข้าพบแพทย์
ผลของความเครียด
คนส่วนใหญ่มักไม่แน่ใจว่าความเครียดคืออะไร อย่างใดจึงเรียกว่าเครียด หรือรู้ตัวได้อย่างไรว่าตนเองเครียด บางคนอาจจะโดนความเครียดรุมเล่นงานโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
การที่จะรู้ว่าตนเองหรือคนรอบข้างเครียดหรือไม่ต้องลองสำรวจพฤติกรรมการดำเนินชีวิตตามปกติดูว่ามีอะไรผิดแปลกไปบ้าง ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการแสดงออกทางอารมณ์ คนที่เครียดมักจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหร้ายมากกว่าที่เคยเป็น ระงับอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ หากเป็นยามปกติเมื่อมีสิ่งมากระทบจิตใจ ส่วนมากมักจะควบคุมตนเองได้ รู้จักคิดกลั่นกรองหาเหตุผล แต่ตอนที่อยู่ในภาวะเครียด การควบคุมตนเองจะน้อยลง ฉะนั้น บางครั้งจะแสดงออกรุนแรงมากกว่าที่ตนเองเคยเป็น โกรธง่าย โมโหง่าย ฉุนเฉียวง่าย ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้มากขึ้น
สำหรับการแสดงออกทางกาย ความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนสารทุกข์ออกมาคือ อะดรีนาลิน สตีรอยด์ เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้เข้าสู่กระแสหมุนเวียนเลือด จะนำไปสู่อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะสำคัญ ๆ รวนเรไปหมด
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งในขณะเกิดความเครียดนั้นส่งผลสู่อวัยวะสำคัญๆของร่างกาย ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการทำงาน ดังนี้
หัวใจ ปกติหัวใจจะเต้นประมาณ 60-70 ครั้งต่อนาที พอเกิดความเครียดหัวใจจะเต้นแรงขึ้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ดังนั้นผู้ที่เครียดจะรู้สึกว่าหัวใจตนเองเต้นแรงจนรู้สึกได้ ใจสั่น หรือรู้สึกเจ็บหน้าอก เมื่อหัวใจเต้นมากกว่าปกติสักพักจะเหนื่อย
หลอดเลือด ความเครียดจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวตีบตัน ทำให้อวัยวะต่างๆได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่พอ เช่น หากเกิดกับสมอง ทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดหัว เวียนหัว หากเกิดกับหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย เป็นโรคหัวใจ และเมื่อหลอดเลือดตีบมากๆ จะทำให้เป็นโรคความดันเลือดสูง ฮอร์โมนสารทุกข์ยังกระตุ้นให้ไขมันที่สะสมอยู่ใตนอวัยวะต่างๆหลุดออกมา เมื่อไขมันหลุดเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไขมันอุดตันหลอดเลือด
ตับ กรดไขมันที่ถูกกระตุ้นออกมา หากผ่านมายังตับ ตับจะเปลี่ยนไขมันเป็นน้ำตาล ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่เครียดมากๆจะเป็นโรคเบาหวาน
กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อทุกส่วนจะหดเกร็ง จะสังเกตได้ว่าคนที่เครียดหน้าตาจะเขม็งเกร็ง การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปวดหัว ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่
หลอดลม ปกติหลอดลมจะมีขนาดใหญ่ เมื่อเกิดความเครียดหลอดลมจะหดเล็กลง ทำให้ต้องหายใจแรงๆ ดังนั้น คนที่เครียดจะมีอาการถอนหายใจเพราะหายใจออกโดยแรง
ระบบทางเดินอาหาร พอเครียดทางเดินอาหารตั้งแต่คอหอย ลำไส้ กระเพาะอาหารจะหดลง ทำให้กินอาหารไม่ค่อยลง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และเป็นสาเหตุให้ท้องผูก กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาเยอะขึ้น เป็นสาเหตุของลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบหรือเป็นแผล
นอนไม่หลับ ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งทั้งตัว หัวใจเต้นแรง ความดันเลือดสูง ใจคอฟุ้งซ่าน จึงเกิดอาการนอนไม่หลับ
สมรรถภาพทางเพศลดลง
มะเร็ง ฮอร์โมนสารทุกข์ที่หลั่งจากความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง สังเกตได้ว่าคนที่เครียดจะไม่สบายง่าย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เป็นแผลในปาก เมื่อภูมิต้านทานลดลง ฮอร์โมนสารทุกข์เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติ จนเจริญเติบโตเป็นเนื้องอกมะเร็งในที่สุด
ความเครียด ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร
“โรคเครียดลงกระเพาะ” เมื่อเกิดความเครียดจะทำให้หัวใจเต้นแรงผิดปกติ การหายใจถี่ขึ้น กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง ปากแห้ง และยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้การทำงานของกระเพาะอาหาร และลำไส้หยุดชะงักลง เพื่อถนอมพลังงาน ส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดอาหารปั่นป่วนในช่องท้อง และรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
โรคเครียดลงกระเพาะเกิดจากอะไร
โรคเครียดลงกระเพาะ เกิดจากการที่เรามีความเครียดมาก จนส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดความแปรปรวน และเส้นเลือดบีบตัวทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ซึ่งเป็นผลให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติจนทำให้กระเพาะเป็นแผลและลำไส้บีบตัวอย่างรุนแรงนั่นเอง
อาการของโรคเครียดลงกระเพาะ ของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไปดังนี้
- ปวดท้อง หรือมวนท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะบรรเทา หรือหายไปเมื่อถ่ายอุจจาระ
- ถ่ายอุจจาระมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
- ต้องเบ่งถ่าย หรือกลั้นไม่อยู่ หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุด
- ปวดบริเวณลิ้นปี่
- มีอาการท้องอืด หรือรู้สึกว่ามีลมในกระเพาะมาก
- คลื่นไส้อาเจียนหลังอาหาร
ถึงแม้ว่าอาการดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาการเครียดลงกระเพาะก็ส่งผลให้ ประสิทธิภาพในการทำงานของเราลดลงเป็นอย่างมาก
วิธีการรักษาโรคเครียดลงกระเพาะ
วิธีการรักษาโรคนี้จะต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ด้วยการคลายความเครียดด้วยวิธีการ ดังนี้
- เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ถ้าความเครียดของเราเกิดจากเกิดจากการหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ในอดีต หรือมัวแต่คิดถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงแล้วล่ะก็ การหมั่นดึงจิตใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับความจริง และคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ และมีสติ จะช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี
- หัดระบายความรู้สึกออกมาบ้าง การได้เล่าความเครียดให้คนอื่นฟัง หรือ จดลงในบันทึกส่วนตัวเป็นอีกวิธีง่ายๆที่จะเอาความเครียดออกไปจากตัวของเรา
- ออกกำลังกาย เพราะทุกครั้งที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดฟิน ออกมาทำให้เรารู้สึก สบายใจ ลดความวิตกกังวลลง
- ลองตื่นแต่เช้า แล้วลงไปเดินเล่นสวนสาธารณะ สูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด เป็นการเพิ่มพลังให้กับตัวเอง จะทำให้เราพร้อมที่จะแก้ทุกปัญหาที่จะเข้ามา โดยที่ไม่มีความเครียดมารบกวนได้
- หัดปล่อยวางซะบ้าง ถ้าเจอปัญหาที่มันหาทางออกไม่ได้จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดคือ วางมันลงไว้ก่อน แล้วถอยหลังออกมาตั้งหลัก สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ผ่อนคลาย เมื่อเราพร้อมค่อยกลับมาดูมันอีครั้ง บางทีในครั้งหลังเราอาจจะพบทางออกก็ได้
การที่เรารับรู้สาเหตุของความเครียดนั้น ถือว่าเป็นต้นทางในการป้องกันความเครียดที่ดี และยังสามารถช่วยให้เราขจัดความเครียดได้อย่างตรงจุดและถูกวิธี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้ตัวเราห่างไกลจากความเครียดคือการรักษาสมดุลของสภาพร่างกายและจิตใจให้ได้ ทั้งด้านความคิด อาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันความเครียดจากจิตในเราได้ดีที่สุด สุดท้ายขอให้คุณนึกไว้เสมอว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่เคยเครียด อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างมีสติหรือไม่เท่านั้นเอง
อ้างอิง :
1 เว็บไซต์ chiangmainews.co.th. (2562). เครียดหนัก ! ระวังจะลงกระเพาะ เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง.
2 เว็บไซต์ petcharavejhospital.com/th. (2563). อาการเครียดแบบนี้อยู่ขั้นไหนกันนะ.
3 เว็บไซต์ thaihealth.or.th. (2561). ผลของความเครียดต่อสุขภาพ.