เช็คลิสต์ หมูแพง ไก่แพง เนื้อแพง แล้วสัตว์เศรษฐกิจมาแรง ปี 2022 ที่สามารถทดแทนได้ ทั้งตลาดไทยและต่างประเทศมีอะไรบ้าง
สำหรับสัตว์เศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยง รวมถึงสร้างระบบเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่งด้วย ทั้งนี้สัตว์ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ต่างเพิ่มโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมให้แก่เกษตรกรผู้ที่สนใจ
โดยวันนี้เราจะพาเช็คลิสต์สัตว์เศรษฐกิจมาแรง ปี 2022 ทั้งตลาดไทยและต่างประเทศ ว่ามีสัตว์อะไรบ้างที่มาแรง
- แพะ จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากการเลี้ยงแพะลงทุนน้อย ราคาดี และผลผลิตเหมาะสมที่จะใช้บริโภคในครัวเรือนเหมาะสำหรับเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งตนเองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรจะเลี้ยงแพะโดยการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ และมีการลงทุนในการเลี้ยงน้อยทำให้แพะโตช้า อ่อนแอต่อโรคและพยาธิ ซึ่งส่งผลให้มีอัตราการตายสูง ปัจจุบัน จะมีการขาย 2 ลักษณะด้วยกันคือ การคัดตัวผู้ขาย ราคาประมาณ 60 บาท ต่อกิโลกรัม(ขายชั่งยกตัว)และการขายตัวเมีย ราคาประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม (ขายชั่งยกตัว ) รวมถึงการขายต่อให้กับเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงแพะ ก็จะต้องขายแม่พันธุ์รุ่นใหม่ ที่สุขภาพดี และแข็งแรงมากขายพร้อมลูกในท้อง ราคาประมาณ 3,000 บาท - 4,000 บาท ต่อตัว
2.โค ราคาวัวพุ่งสูงขึ้น เพราะตลาดนัดปิดมานาน ความต้องการซื้อขายโคจึงเพิ่มขึ้นมาก โดยปกติราคาโคจะซื้อขายกันที่ตัวละ 25,000 – 35,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาขยับเป็นตัวละ 40,000 – 50,000 บาท
- ปูนา ปูน้ำจืดที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาศัยอยู่ตามคันนา ที่มักจะขุดรูอยู่ในทุ่งนา แต่หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่แปลงนามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากการใช้สารเคมี ทำให้จำนวนปูนาลดหายไป จนต้องเกิดการอนุรักษ์ และเลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย และรับประทานขึ้นมา จนกลายมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มาแรงในปีนี้ ด้วยการนำไปทำเมนูอาหารที่หลากหลายไม่แพ้ปูทะเล หรือจะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นจำนวนมาก โดยราคาตามท้องตลาดอาจพุ่งสูงอยู่ที่ 120 บาท ต่อกิโลกรัม
- จระเข้ สัตว์เศรษฐกิจเพื่อบริโภคและแฟชั่น ในช่วงที่ราคาหมูพุ่งสูง "เนื้อจระเข้" ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะมีไขมันน้อย รสชาติดีและเนื้อสัมผัสที่คล้ายกับเนื้อไก่ จึงทำให้เนื้อจระเข้เป็นที่แนะนำและเป็นที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของหนังจระเข้ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดเครื่องหนัง และแฟชั่น เป็นสัตว์ที่ส่งออกขายไปยังต่างประเทศได้ดี จระเข้ที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจในไทยมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืด หรือจระเข้พันธุ์ไทย และจระเข้น้ำเค็ม โดยราคาในตลาดตอนนี้ ส่วนเนื้ออยู่ที่ 180 บาทต่อกี่โลกรัม บ้องตันอยู่ที่ 240 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งตัวอยู่ที่ 900-1,500 บาท
- กระต่ายเนื้อ กำลังเป็นที่นิยมของคนรักอาหารป่า เพราะมีเนื้อที่นุ่มและโปรตีนสูง การบริโภคกระต่ายอาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนักในประเทศไทย เพราะคนไทยมองว่ากระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ที่ต่างประเทศการบริโภคเนื้อกระต่ายเป็นที่นิยมกันอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทย กระต่ายดำเนื้อภูพานถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงกัน เพราะเลี้ยงง่าย โตไว และสามารถนำเนื้อไปขายเพื่อบริโภค หรือขายเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงก็ได้เช่นกัน ส่วนราคานั้นขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของกระต่าย ส่วนเนื้ออยู่ที่ 100-300 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้เกษตรกรไทยยังคงพึ่งพาการเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ในการหาเลี้ยงชีพ สร้างรายได้ รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่พื้นที่จุดต่าง ๆ ในเมืองไทยมีความเหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลากหลายชนิด สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับผู้คน และสร้างเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต มีเงินเลี้ยงครอบครัวได้ เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นเสาหลักให้พื้นฐานเศรษฐกิจเมืองไทย
ซึ่งทางด้าน พรรคชาติไทยพัฒนาก่อนหน้านี้ นำโดยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานเปิดงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2564 และงานประกวดแพะ-แกะ จังหวัดชัยนาท ครั้งที่ 5 นายประภัตร กล่าวว่า แพะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เกษตรกรให้ความสนใจในการเลี้ยงมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี จากข้อมูลในปี 2564 พบว่าทั่วประเทศไทย มีเกษตรกรประกอบอาชีพเลี้ยงแพะจำนวน 85,000 ราย และมีจำนวนแพะเนื้อและแพะนม รวมทั้งสิ้นมากกว่า 1.2 ล้านตัว โดยสามารถส่งออกแพะไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ปีละประมาณ 200,000 ตัว ซึ่งแพะที่เลี้ยงในภาคกลางจะมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 100 – 120 บาท และแพะจากภาคใต้จะมีราคากิโลกรัมละ 120 – 130 บาท ซึ่งในภาพรวมแล้วตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังมีความต้องการแพะอีกจำนวนมาก
“การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่ออาชีพการเลี้ยงแพะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เกษตรกรรายเล็กและรายใหญ่ รวมถึงนักวิชาการและองค์กรต่างๆ ที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและประชาสัมพันธ์ประสบการณ์ มีการบูรณาการความรู้และเทคโนโลยี ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกแพะให้มากขึ้น รองรับการขยายตัวในอนาคตสู่อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลต่อไป” รมช.ประภัตร กล่าว
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้เชิญพี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แพะทั่วประเทศ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการแพะประเทศไทย ในการรวมพิกัดของดีของเด็ดผลิตภัณฑ์แพะประเทศไทย เพื่อเป็นช่องทางการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์แพะครบวงจรทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มโอกาสสร้างยอดขาย ชูผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแพะ เช่น เนื้อแพะแช่แข็ง แกงแพะ แพะหัน แพะแดดเดียว ชาบูแพะ แพะปิ้งย่าง นมแพะพร้อมดื่ม ชีสนมแพะ ไอศกรีมนมแพะ เครื่องสำอางค์นมแพะ เครื่องหนังจากแพะ ฯลฯ เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากแพะ สามารถปักหมุดร้านตนเอง โดยการสแกน QR Code : ลงทะเบียนร้านผลิตภัณฑ์แพะ เพื่อกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนก็จะเป็นส่วนหนึ่งของหมุดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แพะในประเทศไทย ส่วนผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปค้นหาร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แพะได้โดยการโดยการสแกน QR Code ค้นหาร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แพะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการตลาด กองผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3377
#สัตว์เศรษฐกิจ #เข้าใจจริงทุกปัญหาพัฒนาทุกชีวิต #พรรคชาติไทยพัฒนา












