อ.เจษฯ แจงกระจ่าง!! น้ำมันปลา จะละลายกล่องโฟมได้ แต่ก็ไม่ได้อันตรายต่อการบริโภค
กระจ่างเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์เรื่องนี้
"ถึงน้ำมันปลา จะละลายกล่องโฟมได้ แต่ก็ไม่ได้อันตรายต่อการบริโภคครับ"
อันนี้เป็นเรื่องเก่า แต่มีคลิปเผยแพร่ออกมาใหม่ทำให้หลายคนหวาดกลัวได้ ในคลิปเหมือนมีฝรั่งคนหนึ่ง กำลังจะกิน "น้ำมันปลา" แต่หยุดชะงัก แล้วเอาไปหยดลงบนแผ่นโฟม ทิ้งไว้ไม่นาน แผ่นโฟมนั้น ก็ละลายเป็นช่องใหญ่เลย .. ทำเอาหลายคนที่ดูคลิป หวาดกลัวกันว่า กินเข้าไปในร่างกายเราแล้วจะไปกัดทางเดินอาหารทะลุหรือเปล่า
คำตอบคือ ไม่ต้องกลัวนะครับ อันนี้เป็นปฏิกิริยาเคมีธรรมดาๆ ของพวกไขมันที่อยู่ในรูปของ "เอสเตอร์" ที่จะสามารถทำให้โฟมสไตรีน (แผ่นโฟมขาวๆ กล่องโฟมอาหาร) เกิดการละลายได้ แต่ไม่ได้จะทำให้ทางเดินอาหารของเราละลายอย่างนั้น
ปฏิกิริยาเคมีแบบนี้ สามารถทำได้ด้วยสารพื้นๆ อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น น้ำมันผิวมะนาว น้ำมันผิวส้ม น้ำกลิ่นแมงดา ฯลฯ ที่ขอให้มีไขมันในรูปเอสเตอร์สูงครับ
กล่องโฟมที่เราใช้กันเนี่ย เรียกว่า สไตโรโฟม (Styrofoam®) ซึ่งก็ทำจากสารโพลีสไตรีน (polystyrene) นั่นเอง และมันก็ "ละลาย" ด้วยน้ำมันปลาบริสุทธิ์ได้ ไม่ต่างอะไรกับที่โดนน้ำกลิ่นแมงดาละลาย หรือแม้แต่ น้ำมันผิวมะนาว-เลมอน (lemon oil)
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในสารเหล่านั้น มีกรดไขมันพวกที่อยู่ในรูปของเอธิลเอสเทอร์ (ethyl ester) อยู่ ซึ่งจะละลายสไตโรโฟมได้ดีกว่าพวกที่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) เป็นอย่างมาก เพราะน้ำมันปลาที่เป็นเอธิลเอสเทอร์จะมีจำนวนของพันธะทางเคมีใกล้เคียงกับของโฟม ทำให้มันละลายรวมกันได้โดยง่าย
จะเห็นว่าการละลายของกล่องโฟมด้วยน้ำมันปลาบริสุทธิ์นี้ ไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีสารปรอท หรือแม้แต่ตัวละลายอื่นๆ เช่น แอลกอฮอล์ ฯลฯ มาปนเปื้อนแต่อย่างไร และก็ไม่ได้ส่งผลเสียใดๆ กับร่างกายของเราเลยด้วย ... ร่างกายของเราก็ย่อยไขมันที่ 2 รูปแบบนี้ได้ดีพอๆ กัน














