เกษตรกรรุ่นใหม่ ร่วมใจหยุดเผา หยุดถาง ทำลายพื้นที่ มีหลายวิธีที่สร้างใหม่ได้
จากข้อมูลเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาหลังจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางในการดูแลปัญหาเรื่องการเผาพื้นที่เกษตร มาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา รวมถึงเร่งรัด จัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และการสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร มาโดยตลอด เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหาที่เกิดจากการเผา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา และนำเสนอทางเลือกในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร เพื่อสร้างให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและจิตสำนึก ให้ตระหนักถึงผลเสียจากการเผา และมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทน และจัดการ การเผา จัดให้มีการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อทดแทนการเผา จัดตั้งศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสาธิตการใช้เทคโนโลยีการไถกลบตอซังฟางข้าวทดแทนการเผาโดยให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้บริหารจัดการ
สำหรับการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานและใกล้เคียง รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อใช้เป็นกลไกในการปฏิบัติการลดการเผาเศษซากพืช จนถึงปัจจุบัน ได้สร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ที่ประสบปัญหาหมอกควันรุนแรงเป็นประจำทุกปี ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แพร่ ตากและจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีเกษตรกรดำเนินการใช้เทคโนโลยีทดแทนการเผาตามที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้แล้ว เช่น ไถกลบตอซัง จำนวน 22,683 แห่ง พื้นที่รวม 461,647 ไร่ สามารถ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยกว่า 85 ล้านบาทโดยประมาณ (มูลค่า NPK เท่ากับ 184.38 บาท/ไร่) , ผลิตปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 24,623 แห่ง น้ำหนักรวม 4,668 ตัน ให้เกษตรกรได้ใช้ในไร่นาตนเอง และจำหน่ายราคา 4 บาท/กิโลกรัม , การเพาะเห็ดฟาง จำนวน 521 แห่ง ผลผลิตรวมกว่า 550 ตัน จำหน่ายราคา 100 – 150 บาท/กิโลกรัม , ผลิตอาหารสัตว์/ฟางอัดก้อน จำนวน 11,018 แห่ง จำนวน 7,396,001 ก้อน น้ำหนักรวม 123,367 ตัน (น้ำหนักฟางอัดก้อน 15 – 20 กิโลกรัม/ก้อน) จำหน่ายราคา 30 บาท/ก้อน , ผลิตวัสดุปลูก จำนวน 285 แห่ง น้ำหนักรวม 91 ตัน จำหน่ายราคา
2 – 3 บาท/กิโลกรัม , ผลิตถ่านอัดแท่ง จำนวน 20 แห่ง น้ำหนักรวม 144 ตัน จำหน่ายราคา 20 บาท/กิโลกรัม , ปลูกพืชทางเลือก เช่น ไม้ผล ไม้ยืนต้น ทดแทนหรือแซมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดบนที่สูง จำนวน 83 แห่ง พื้นที่
รวม 1,618 ไร่ , ผลิตกระดาษ จำนวน 112 กิโลกรัม จำหน่ายราคาแผ่นละ 5 บาท , ขายเศษวัสดุทางการเกษตร ส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล 196,812 กิโลกรัม จำหน่ายราคาเฉลี่ย 807.77 บาท/ตัน
สำหรับปีนี้ 2565 ทางพรรคชาติไทยพัฒนา ได้เสนอแนวความคิดกษตรกรรุ่นใหม่ ร่วมใจหยุดเผา เน้นการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาให้มากที่สุด เป็นการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อ สนับสนุนการหยุดการเผาในพื้นที่การเกษตรควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเศษพืชในไร่ นา เพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร
แล้วถ้าไม่เผาแล้วทำอย่างไรได้บ้าง ?
1.ไถกลบ การไถกลบเศษวัสดุการเกษตรกรลงไปในดิน จะช่วยลดปัญหาการเผาแล้ว ยังเกิดประโยชน์กับพืชที่ปลูก เช่นเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินมีอากาศโปร่งเหมาะแก่การชอนไชของรากพืช ทำให้พืชได้อาหารง่าย
2.ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน ตอซังฟางข้าว เมื่อลงไปในดิน จะกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มอินทรียวัตถุ ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
3.ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ นำเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก สามารถลดต้นทุนการผลิตได้
4.นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ ปัจจุบัน อาหารสัตว์แพงมาก เศษวัสดุการเกษตรสามารถนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น การนำเปลือกข้าวโพดมาหมัก หรืออัดฟางข้าวโพดเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงโคและกระบือ
5.นำมาใช้เป็นพลังงนทดแทน เศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ยอดใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ถือเป็นชีวมวล สารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกได้ เช่น นำมาผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดหรือแท่ง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนต่อไป
จะเห็นได้ว่าเพียงแค่เราปรับเปลี่ยน เรียนรู้ นำไปใช้ เราก็สามารถหลีกเลี่ยงการเผาได้ ซึ่งการจุดไฟเผาอาจประหยัดเวลาของเกษตรกร แต่ก็เป็นการเพิ่มโทษลงในดิน อีกทั้งทิ้งเศษวัสดุที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ต่อ นอกจากนี้การเผายังเป็นการเพิ่มมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย


















