ทุกวันที่ 1 มิถุนายน เป็นวันแนวปะการังโลก (World Coral Reef Day)
1 มิถุนายน เป็นวันแนวปะการังโลก เป็นวันที่สร้างความตระหนักต่อทุกๆภาคส่วนต่อความสำคัญของปะการัง รวมถึงร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง ปะการัง เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในทะเล ประกอบด้วยตัวปะการังซึ่งเรียกว่า "โพลิป" (polyp) สร้างหินปูนเป็นแกนแข็งเพื่อค้ำจุนตัวเองไว้ ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มโคโลนีประกอบไปด้วยโพลิฟเดี่ยว ๆ จำนวนมาก เป็นกลุ่มที่สร้างแนวปะการังที่สำคัญพบในทะเลเขตร้อนที่สามารถดึงสารแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างเป็นโครงสร้างแข็งเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยได้ โดยโพลิฟจะสร้างโครงสร้างแข็งที่มีลักษณะเฉพาะของปะการังแต่ละชนิด
สำหรับแนวปะการังเป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง ฯลฯ ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะยังคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป
ด้านโครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล เปรียบเสมือนป่าดิบชื้น ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น
สำหรับแนวปะการังมีความสำคัญต่อชีวิตต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและมนุษย์ สายพันธุ์ทางทะเลกว่า 25% พึ่งแนวปะการังในการอยู่อาศัย เพาะพันธุ์วางไข่ และเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่ปกป้องชายฝั่งจากคลื่นกัดเซาะ เป็นแหล่งประมงอาหารสำหรับมนุษย์ สร้างทรายให้กับชายหาด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในด้านการผลิตยารักษาโรคอีกด้วย ปะการังเป็นระบบนิเวศที่ไวต่อสิ่งต่างๆ ในช่วงปัจจุบันนี้ปะการังเผชิญปัญหาการฟอกขาว และได้รับความเสียหาย ลดลงอย่างมาก จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มลพิษ และความเป็นกรดของน้ำทะเล ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายต่อปะการัง การประมงเกินขนาด และการท่องเที่ยวอย่างไม่มีการจัดการที่ดี ล้วนส่งผลต่อปะการัง ซึ่งถ้าหากปะการังฟอกขา หรือถูกทำลายมหาสมุทรจะสูญเสียระบบนิเวศไปด้วย สิ่งที่สามารถช่วยปกป้องปะการังได้มีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งและปล่อยมลพิษของเสียลงแหล่งน้ำ ท่องเที่ยวดำน้ำอย่างใส่ใจปะการังไม่จับและทำลาย การเสริมและสร้างปะการัง และการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
สำหรับปีนี้แนวปะการังฝั่งตะวันออก สถานการณ์ปลอดภัยแล้ว
เพราะเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยฝั่งตะวันออก สำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลโดยใช้อุปกรณ์วัดอุณหภูมิน้ำทะเล (Data logger) บริเวณสะพานท่าเรือเกาะมันใน อ.แกลง จ.ระยอง พบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเล ตั้งแต่วันที่ ๑-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ บริเวณสถานีสำรวจสะพานท่าเรือเกาะมันใน อุณหภูมิอยู่ในช่วง ๒๙.๑๕–๓๒.๐๙ องศาเซลเซียล ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลลดลงต่ำกว่า ๓๑ องศาเซลเซียส และจากการสำรวจเบื้องต้น ไม่พบปะการังฟอกขาว โดย National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) Coral Reef Watch ได้คาดการณ์ว่าในเดือนมิถุนายน๒๕๖๕ ไม่พบแนวโน้มผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อาจมีต่อการเกิดปะการังฟอกขาว ทั้งนี้ จะเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทั่วไป พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ ๒ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง
เมื่อล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทีมงานได้ลงพื้นที่ติดตามการเติบโตของระบบนิเวศใต้ทะเลแห่งใหม่ หลังวางปะการังเทียมด้วยขาแท่นปิโตรเลียม พร้อมปล่อยเต่าตนุคืนสู่ทะเล สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานภาพพื้นที่จัดวางปะการังเทียม โดยใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด จากรายงานและภาพถ่ายใต้น้ำของทีมสำรวจล่วงหน้า ที่มาดำน้ำสำรวจเมื่อวานนี้ พบว่าสภาพระบบนิเวศใหม่ มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปเป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์สวยงาม สามารถผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ในอนาคต โดยขณะนี้ ทั้งปะการังอ่อนและปะการังแข็ง มีความเจริญเติบโตขึ้น โดยในส่วนที่ตื้นที่สุดเป็นส่วนที่สมบูรณ์ที่สุด ส่วนที่ลึกลงไปจะต้องใช้เวลาให้ปะการังฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง ส่วนการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งดำน้ำ จะทำได้หรือไม่นั้น ต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป หลังจากนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะติดตามการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างใกล้ชิด พร้อมถอดบทเรียนผลการปฏิบัติงานครั้งนี้ เพื่อขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่อื่นๆต่อไป โดยจะมีการศึกษาเทคนิค เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ ทีมงานกระทรวงฯ ได้ร่วมกันปล่อยเต่าตนุ 20 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติ บริเวณชายหาด เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วย นายวราวุธกล่าว
#วันปะการังโลก#กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม#TopVarawut #MNRE #พรรคชาติไทยพัฒนา
ขอบคุณที่มา https://www.facebook.com/DMCRTH/posts/383324573829185
https://www.facebook.com/TOPVarawut/posts/568658501290485
https://www.facebook.com/TOPVarawut/posts/568658501290485














