ดุลยภาพตลาดโทรคมนาคมไทยอยู่ตรงไหน ใครกำหนด
ดีลควบรวมทรูดีแทคยังมีกลุ่มที่ออกมาเกาะกระแสสร้างตัวตน ซึ่งแต่ละคนต่างก๊อปข้อมูลชุดเดียวกัน มาพูดย้ำในเรื่องเดิม ๆ โดยหยิบยกแต่มุมที่บั่นทอนให้เห็นแค่มุมเดียว แล้วละเลยอีกมุมหนึ่งที่เป็นเหตุเป็นผลมาเทียบเคียง
- ค่า HHI
ที่มักใช้เป็นค่าดัชนีวัดการกระจุกตัวของธุรกิจ ซึ่งใช้เพียงส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการเป็นตัวแปร จึงวัดได้แค่มิติเดียว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ประสิทธิภาพของการแข่งขันในตลาดต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ค่า HHI จึงเป็นค่าที่มีจุดอ่อน ไม่สามารถนำมาใช้เป็นค่ามาตรฐานกับทุกตลาด ตัวอย่าง ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค กับ ตลาดโทรคมนาคม ที่มีปัจจัยแวดล้อมและข้อจำกัดต่างกัน เช่น การลงทุน การควบคุมตลาด จำนวนผู้ให้บริการที่รวมถึงความยากง่ายในการเข้าออกตลาด ฯลฯ จะไม่สามารถใช้ดัชนีเดียวกันในการวัดค่าได้ แต่ควรนำปัจจัยหรือตัวแปรอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อตลาดมาคำนวณด้วย
- ผู้แข่งขันในตลาด
การลด การเข้ามาใหม่ การสนับสนุน หรือ การกีดกัน ผู้แข่งขันในตลาด ไม่ควรเป็นภาระของผู้แข่งขันรายใด ๆ ในตลาด แต่ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลตลาด ที่ต้องคอยสอดส่อง ปกป้อง สนับสนุน หรือ อำนวยความสะดวก ให้กับผู้แข่งขันในตลาด ได้สามารถประกอบธุรกิจอย่างเสรี ยุติธรรม เท่าเทียม เช่น หากมีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้ตลาดไม่น่าสนใจสำหรับผู้แข่งขันรายเดิมจะอยู่ในตลาดต่อไป ก็ต้องหาทางขจัดปัญหานั้น และทำให้ตลาดดึงดูดผู้ประกอบการรายเดิมที่จะอยู่ต่อ รวมถึงน่าสนใจสำหรับผู้แข่งขันรายใหม่ที่จะเข้ามา เพื่อรักษาหรือส่งเสริมสภาพการแข่งขันในตลาดให้เข้มข้นและเข้มแข็ง ตลอดจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการห้ามเข้าห้ามออกตลาดอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ จึงจะสมกับการเป็นตลาดเสรี ที่ผู้แข่งขันในตลาดจะมีเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเข้าตลาดหรือออกจากตลาดก็ตาม
- ราคาค่าบริการ
อัตราค่าบริการจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่เกี่ยวกับจำนวนผู้แข่งขันในตลาด เท่ากับศักยภาพในการแข่งขัน เพราะแม้จะมีผู้แข่งขันในตลาดหลายราย แต่หากไม่มีรายใดที่มีศักยภาพมากพอ ที่จะสู้หรือคัดคานผู้นำตลาดได้ ผู้นำตลาดก็มีอำนาจที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางของตลาด ไม่ว่าจะเป็นในด้านราคาหรือบริการ แต่หากมีจำนวนผู้แข่งขันน้อยราย ที่เป็นผู้แข่งขันที่มีศักยภาพในการต่อสู้กับผู้นำตลาด ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้น สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคได้มากกว่า
นอกจากนี้ยังมีข้อสนับสนุนจากรายงานผลการศึกษาการควบรวมกิจการ Hutchison/Orange ในออสเตรียและฝรั่งเศส โดย Houngbonon เมื่อปี 2015 ที่พบว่าการควบรวมกิจการไม่มีผลกระทบโดยตรงกับราคาค่าบริการ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการควบรวมกิจการ T-mobile-Tele.ring จาก Aguzzoni ในปีเดียวกัน ที่พบว่าหลังจากการควบรวมกิจการในประเทศออสเตรีย ราคาค่าบริการมีการปรับลดลง
- อำนาจหน้าที่ของกสทช.
จากเปลี่ยนแปลงประกาศกสทช. ปี 2553 และปี 2561 ไม่ใช่ปัจจัยที่จะใช้เป็นองค์ประกอบในการตัดสินการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทต เพราะไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้อง แต่เป็นปัญหาภายในกสทช. ที่ต้องไปแก้กันเอง โดยไม่ให้กระทบกระเทือนต่อกระบวนการควบรวมในปัจจุบัน การนำความผิดพลาดของประกาศนี้มากล่าวอ้าง เป็นเพียงการยกเหตุขึ้นมาขัดขวางการควบรวมของทรูและดีแทคเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้มีกิจการหลายรายที่ควบรวมกันได้ภายใต้ประกาศฉบับนี้ เช่นกรณีของ CAT และ TOT หากจะยกความผิดพลาดของประกาศมาห้ามการควบรวมครั้งนี้ ก็ต้องผิดกันตั้งแต่การควบรวมอื่นๆ ที่ผ่านมา ที่ต้องทำให้เป็นโมฆะ แต่ถ้าจะเลือกใช้เฉพาะกับกรณีของทรูและดีแทคอย่างเดียว ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมจึงเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมายเดียวกัน ที่รายหนึ่งทำได้ แต่อีกรายกลับทำไม่ได้ ซึ่งไม่มีกฎหมายข้อใดที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ประกอบการรายก่อนหน้านี้ทำได้ แต่รายที่เหลือจะทำไม่ได้ หากเลือกแก้ตัวด้วยเหตุข้อนี้ ก็คงต้องมีการฟ้องร้องกันต่ออีกยาว
ดังนั้น การพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ต้องพิจารณาด้วยข้อเท็จจริง ตัวแปร สถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างเป็นกลาง ไม่มีอคติลำเอียงหรือธงในใจที่จะขัดขวางการควบรวม หรือยอมจำนนเพราะความกดดันจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ก็จะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างแท้จริง







