ดีลทรูดีแทค ติดปีกหรือหักแขนขาใคร
ประเด็นการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค จะออกหัวหรือก้อย จะติดปีกให้ใคร หรือจะหักแขนหักขาใคร เป็นเรื่องที่ต้องตามต่อกันอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด เอไอเอสที่เป็นคู่แข่งเบอร์ใหญ่เริ่มออกโรงนำทีมคัดค้านอย่างชัดเจนขึ้น โดยให้เหตุผลหลัก ๆ ว่า การควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาด ส่งผลต่อค่าบริการที่เพิ่มขึ้น และกสทช. มีอำนาจที่จะจัดการเรื่องนี้ โดยยังบอกด้วยว่า ไม่กลัวการแข่งขัน แต่การมีผู้ประกอบการ 3 รายย่อมดีกว่าเหลือ 2 ราย เพราะผู้เล่นลดลงจะเป็นการลดทางเลือกในการใช้บริการ โปรโมชัน บริการหลังการขาย คุณภาพสัญญาณ ซึ่งผู้เล่น 2 รายหลัก ที่มีฐานลูกค้าใกล้กันที่ 50 ล้านราย จะเป็นการสิ้นสุดสงครามราคา ที่ดำเนินการต่อเนื่องมายี่สิบปี เพราะไม่มีความจำเป็นต้องแย่งลูกค้ากัน เนื่องจากแต่ละรายมีลูกค้าค่ายละ 50 ล้านรายใกล้เคียงกันกับจำนวนประชากรในประเทศไทย แถมด้วยการเกทับเชิงแดกดันว่า ในฐานะบริษัทที่ดี เอไอเอส ไม่สามารถเพิกเฉยกับสิ่งนี้ได้ และไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการผูกขาดขึ้น ที่สำคัญ เอไอเอสเผยความในใจว่า หากกสทช. ยินยอมให้ทรูและดีแทคควบรวมกิจการได้ ก็จะมีการถือครองคลื่นความถี่ที่ไม่เป็นธรรม กสทช. ก็ควรจะมีมาตรการเยียวยาชดเชยในส่วนนี้ให้ด้วย
ในเรื่องนี้ฟากทรูและดีแทคยังไม่ได้ออกมาแก้ต่างข้อคัดค้านของเอไอเอส แต่หากลองมองมุมต่างในข้อคัดค้านของเอไอเอส ก็อาจจะได้เห็นข้อมูลที่ถ่วงน้ำหนักกันได้
ประเด็นเรื่องการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยนั้น อันที่จริงมีมาช้านานแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เอไอเอสเป็นเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งมาก เพราะมีทุนหนา ไม่มีภาระหนี้สิน ฐานลูกค้า รายได้ และกำไร เหนือกว่าคู่แข่งขันรายอื่น ๆ แบบไม่เคยตามกันทัน เรียกได้ว่าเอไอเอสนั่นเองที่เป็นประวัติศาสตร์ของการมีอำนาจเหนือตลาดที่ผูกขาดความเป็นเจ้าตลาดรายเดียวแบบชิลล์ ๆ มาตลอด แต่หากการควบรวมทำได้ก็จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยี่สิบกว่าปี ที่เอไอเอสจะหลุดจากการเป็นเจ้าตลาดในแง่ของฐานลูกค้าและการครองคลื่นความถี่ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะหลุดจากการเป็นเจ้าตลาดหรือที่หนึ่งในด้านรายได้และกำไร อย่างน้อยก็ทำให้เอไอเอสจะอยู่เฉยไม่ได้ ที่จู่ ๆ จะมีคู่แข่งที่ขึ้นมาเทียบเคียงได้ใกล้ขนาดนี้
นั่นย่อมส่งผลถึงการแข่งขันในตลาด ที่จะแก้ข้อกล่าวหาที่ว่า เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้ผู้เล่นและการแข่งขันลดลง ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะตามธรรมชาติของการทำธุรกิจ ยิ่งมีคู่แข่งที่มีศักยภาพสูสีใกล้เคียงกัน ยิ่งต้องฟาดฟันกันหนักขึ้น เพื่อให้ทิ้งห่างกันได้ไกลขึ้น ไม่สำคัญหรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่นในตลาด ดังนั้น ประเด็นด้านบริการ โปรโมชัน หรือคุณภาพสัญญาณ จึงไม่น่าจะลดลง ยิ่งในส่วนของคุณภาพสัญญาณเครือข่ายนั้น ยิ่งหมดห่วงไปได้เลย เนื่องจากการเข้ามาของผู้เล่นที่มากรายขึ้นของ OTT, บริการออนไลน์ หรือบริการอื่น ๆ ที่ต้องใช้เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ ยิ่งทำให้ต้องมีการขยายสัญญาณเครือข่ายมากขึ้นไปอีก เพื่อรองรับกับการใช้งานที่ขยายตัวขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละรายไม่สามารถหยุดพัฒนาบริการได้ ข้อคัดค้านนี้จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในประเด็นของค่าบริการที่เกรงว่าจะเพิ่มขึ้นนั้น หากไม่โลกสวยจนเกินไป ก็จะพบว่าทุกวันนี้ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ที่มีการปรับฐานขึ้น ในส่วนของกิจการโทรคมนาคมนั้น มีกสทช. ที่คอยกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุมราคาอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมากสทช. ก็ทำหน้าที่โดยไม่มีปัญหา และค่าใช้บริการโทรศัพท์ของไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่สำคัญเรื่องราคานี้ ยังเป็นแค่การประเมิน ยังไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่หากเกิดขึ้นจริง ตรงนี้กสทช. มีอำนาจคบคุมดูแลได้โดยตรงไม่ว่าจะใช้ประกาศฉบับใด จึงไม่ใช่ข้ออ้างในการคัดค้าน และจุดนี้จึงเป็นแค่ทฤษฎีในตำรา ที่ไม่น่าจะต้องยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลักในชีวิตจริง
ส่วนประเด็นอำนาจของกสทช. ในการอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่นั้น ก็ควรจะเป็นไปตามกฎหมายในปัจจุบัน การมาตะแบงอ้างเรื่องการแก้ไขประกาศกสทช. ปี 2553 หรือ 2561 ในตอนนี้นั้น พูดกันตามเหตุตามผล ก็ไม่ใช่เวลาที่ถูกที่ควร เพราะถ้าจะอ้างข้อนี้ ทำไมเลือกเวลาที่จะมาอ้างตอนที่มีการควบรวมกันของทรูและดีแทค ทำไมไม่อ้างตั้งแต่การควบรวมอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งการควบรวมใหญ่ ๆ ที่ผ่านมาระหว่าง CAT และ TOT ก็ใช้ประกาศหรือกฎหมายเดียวกันนี้ ยังไม่นับรวมการควบรวมอื่น ๆ ที่ใช้กฎหมายนี้เช่นกัน ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว ดังนั้น ข้ออ้างเรื่องอำนาจกสทช. จึงไม่เกี่ยวข้องและไม่สมเหตุสมผลที่จะใช้กับกรณีการควบรวมทรูและดีแทคในครั้งนี้ เว้นเสียแต่ว่าจะจงใจละเลย เพื่อทำให้เกี่ยวข้องกัน
ในส่วนของการถือครองคลื่นความถี่นั้น หากเมื่อควบรวมกันแล้ว บวกลบคูณหาร จำนวนคลื่นเกินกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก กสทช. ก็สมควรเรียกคืนได้อย่างสมเหตุสมผล หากต้องมีการชดเชย ก็ควรชดเชยในส่วนของการที่ได้มีการประมูลคลื่นความถี่นั้นไปแล้วยังใช้ได้ไม่เต็มที่ต้องถูกเรียกคืนเสียก่อน แต่หากจะต้องถึงขนาดเยียวยาชดเชยให้กับเอไอเอสนั้น ไม่น่าจะเป็นวิธีของแฟร์เกม เพราะที่ผ่านมาเอไอเอสได้เปรียบคู่แข่งอื่น ๆ ในตลาดโทรคมนาคม ก็ไม่เคยมีใครเรียกร้องการเยียวยาจากเอไอเอส ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งข้อคัดค้านที่ไม่สมเหตุสมผล
ตลาดโทรคมนาคมไทยที่ผ่านมาเป็นเวทีการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันมาตลอด 20 กว่าปี โดยมีเอไอเอสเป็นเจ้าตลาดเหนือรายอื่น ๆ ทั้งหมด แบบเทียบกันไม่ติด ซึ่งตรงนี้เอไอเอสเองก็ยอมรับว่าตัวเองมีความแข็งแกร่งเหนือคู่แข่งรายอื่นทั้งหมด หากผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาการควบรวมจะมีความหนักแน่น ไม่หวั่นไหวต่อการบีบคั้นของกลุ่มใด ไม่ลำเอียง ใช้หลักเหตุผลของความเป็นจริงของตลาดในปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเดินไปในอนาคต ไม่ใช่ตลาดที่กำลังจะเดินย้อนกลับไปในอดีต พิจารณาด้วยปัจจัยแวดล้อมของปัจจุบันและอนาคต ก็จะเห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า ไม่ใช่การเลือกว่าจะส่งเสริมรายใดให้ติดปีกอยู่รายเดียว หรือการหักแขนหักขารายใดให้ไม่มีโอกาสได้บิน แต่การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างแฟร์เกมจะเป็นความเหมาะสมของตลาดโทรคมนาคมใหม่ในประเทศไทย













