สตรีทฟู้ด (Street Food) จุดขายหรืออันตรายต่อสุขภาพ ?
เวลาเราไปต่างประเทศจะซื้อหรือกินอะไรหาสตรีทฟู้ดลำบาก แต่ในบ้านเรานักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนตั้งใจมาเพื่อลิ้มลองความอร่อย จุดขายของสตรีทฟู้ดไทยคือ รสชาติ เอกลักษณ์ และความหลากหลาย เราไม่พูดถึง ผัดไทย หอยทอด มัสมั่น นั่นมันแน่นอนอยู่แล้ว แต่มันยังมีอย่างอื่นอีกเยอะที่เป็นสตรีทฟู้ด และมีความโดดเด่นหลายๆ อย่างที่ที่อื่นไม่มี
สตรีทฟู้ดบ้านเราต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ผสมผสานจนกลายเป็นอาหารไทย บางอย่างมีรากเหง้ามาจากจีน เช่น ข้าวมันไก่ หรือหมูสะเต๊ะ ที่มาจากทางอินเดีย ทำให้อาหารเรามีความซับซ้อนของรสชาติ รูปร่างหน้าตา รวมถึงการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่น เป็นสิ่งสำคัญที่บ้านอื่นเมืองอื่นก๊อปปี้กันไม่ได้ อันนี้คือสเน่ห์ที่ต่างชาติพูดถึง
นั่นคือ มุมมองในแง่บวก ทีนี้ลองมามองอีกมุมกันบ้าง
ในขณะเดียวกัน นักวิชาการด้านโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ได้เคยให้ความเห็นว่า ขณะนี้มีแนวโน้มคนไทยนิยมกินอาหารที่จำหน่ายตามริมฟุตบาท หรือ สตรีท ฟู้ด กันมาก ทำให้มีความเสี่ยงได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนโลหะหนักจากควันรถยนต์ ฝุ่น เชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อวัณโรค เพราะพบว่ามีร้านค้าจำนวนมากทำผิดหลักสุขอนามัย อาทิ ทำอาหารสำเร็จรูปใส่ในภาชนะที่ไม่มีฝาปิด วางอาหารใกล้พื้น ซึ่งตามหลักต้องอยู่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร วัตถุดิบประกอบอาหารและภาชนะบรรจุไม่สะอาด เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังพบว่า ผู้ประกอบการบางร้านหยิบเงินทอนให้ลูกค้าแล้วไปหยิบอาหารใส่จานโดยไม่ล้างมือ ขณะที่ อาหารบางประเภทต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น ซูชิ ต้องอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิห้องเป็นอย่างน้อย แต่กลับพบวางขายตามตลาดนัดท่ามกลางอากาศร้อน ซึ่งอาจทำให้ซูชิบูด เสียได้ง่าย อีกทั้งเสี่ยงได้คุณค่าทางโภชนาการไม่ครบ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นอาหารประเภททอด ผัด มีผักเป็นส่วนประกอบน้อย แป้งและเนื้อสัตว์มาก แถมใส่ผงชูรส ผงปรุงรส โดยเฉพาะอาหารประเภทส้มตำ
ทางการแพทย์ มีการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่ซื้ออาหารกินเองมีความเสี่ยงที่จะอ้วนลงพุง และเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากกว่าคนประกอบอาหารกินเองหลายเท่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีผู้ประกอบอาหารร้อยละ 50 ไม่ผ่านการอบรมเรื่องสุขาภิบาลอาหาร จึงปรุงอาหารโดยเน้นรสชาติเป็นหลัก แต่ขาดการคำนึงถึงเรื่องความสะอาด ซึ่งแม้ว่าผู้บริโภคจะซื้อกลับไปอุ่นก่อนกินที่บ้าน แต่ความร้อนทำลายโลหะหนักไม่ได้