สหรัฐฯอนุมัติขาย F-15ID รุ่นที่ดีที่สุดให้อินโดนีเซีย 36 ลำ
หลังจากเพิ่งลงนามจัดหาเครื่องบินขับไล่ Rafale ไป 6 ลำแรกจาก 42 ลำ ซึ่งจะมีมูลค่าสูงสุด 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ วันนี้สำนักงานเพื่อความร่วมมือด้านความมั่นคงของสหรัฐหรือ DSCA ก็ได้แจ้งต่อสภาคองเกรสในความเป็นไปได้ที่จะขายเครื่องบินขับไล่ F-15ID จำนวน 36 ลำพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ และระบบสนับสนุนให้กับอินโดนีเซีย โดยมูลค่าสูงสุดที่เป็นไปได้ของสัญญาคือ 13.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเฉลี่ยลำละ 386 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่าในการลงนามในสัญญาจริงนั้นมักจะมีมูลค่าไม่ถึงตามมูลค่าสูงสุดที่แจ้งต่อสภาครองเกรสก็ตาม โดยมูลค่ามักจะลดลงเหลือ 50-70% ของมูลค่าสูงสุด แต่ถือว่า F-15ID ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก F-15EX มีอุปกรณ์ที่ครบถ้วน และจะก้าวมาเป็นเครื่องบินขับไล่ที่ดีที่สุดในอาเซียนแบบหนึ่งเลยทีเดียว
F-15ID ที่ผลิตโดย Boeing ของอินโดนีเซียจะมีมาตรฐานเดียวกับ F-15EX รุ่นที่ดีที่สุดของกองทัพอากาศสหรัฐ โดยจะใช้เครื่องยนต์ F100-PW-229 ของ Pratt & Whitney ติดตั้งเรดาร์ AESA ประสิทธิภาพสูงแบบ AN-APG-82(v)1 ของ Raytheon และจะรวมถึงการติดตั้งระบบ AN/ALQ-250 Eagle Passive Active Warning Survivability System (EPAWSS) ของ BAE System ซึ่งเป็นระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบเชิงรุกและเชิงรับประสิทธิภาพสูง เชื่อมต่อกับระบบเรดาร์ ระบบหาตำแหน่งอากาศยานด้วยดาวเทียม และระบบเป้าลวงต่าง ๆ เพื่อให้ภาพสถานการณ์การรบรอบตัวแบบ 360 องศา ตรวจจับภัยคุกคามที่ใช้การนำวิถีได้หลากหลาย ซึ่งรวมถึงสามารถตรวจจับภัยคุกคามที่นำวิถีด้วยอินฟาเรดเช่นจรวด MANPAD หรือจรวดอากาศสู่อากาศที่นำวิถีด้วยความร้อน ลด Footprint ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของตัวอากาศยานได้ 50% เพื่อลดการถูกต่อต้านจากข้าศึก และสามารถเพิ่มจำนวนเป้าลวงและสามารถอัพเกรดได้ง่ายในอนาคตเนื่องจาก EPAWSS เป็นระบบดิติจอลทั้งระบบ
สำหรับระบบนำทางและชี้เป้านั้น อินโดนีเซียเลือกจัดหากระเปาะ AN/AAQ-13 LANTIRN navigation pods และ AN/AAQ-33 Sniper ATP ของ Lockheed Martin เช่นเดียวกับกระเปาลาดตระเวน MS-110 Recce Pods ของ Collins Aerospace โดยนักบินทั้งสองคนบนเครื่องจะสวมหมวกบินติดศูนย์เล็ง Joint Helmet Mounted Cueing Systems (JHMCS) ของ Elbit Systems อีกด้วย
อินโดนีเซียกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงกองทัพอากาศขนานใหญ่ตามนโยบายการก้าวเป็นผู้นำอาเซียนอย่างรอบด้านของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยปัจจุบันกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเครื่องบันขับไล่ F-16 จำนวน 33 ลำ และ Su-27/30 จำนวน 16 ลำ ซึ่งอินโดนีเซียยกเลิกการจัดหา Su-35 จากรัสเซียเนื่องจากกังวลผลกระทบของกฎหมาย CAATSA ของสหรัฐที่อาจคว่ำบาตรประเทศที่ให้การสนับสนุนและจัดหาอาวุธจากรัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน จึงเปลี่ยนมาจัดหา Rafale จำนวน 42 ลำ ซึ่งถือเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกแทน และมีแผนในการจัดหา F-15ID จำนวน 36 ลำเพื่อปฏิบัติการคู่กัน รวมถึงยังคงแผนการจัดหา KF-21 ที่อินโดนีเซียรว่มลงทุนวิจัยกับเกาหลีใต้เป็นจำนวน 20% ของโครงการอีก 50 ลำ ซึ่งเมื่อแผนการเสร็จสิ้น จะทำให้อินโดนีเซียมีกองทัพอากาศที่ทันสมัยและมีมาตรฐานในการปฏิบัติการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ทั้งนี้ สภาครองเกรสมีเวลา 30 วันถ้าต้องการคัดค้านการขายนี้ แต่คาดว่าการคัดค้านจะไม่เกิดขึ้น การประกาศนี้ยังไม่ใช่การลงนามในสัญญาจัดหา โดยอินโดนีเซียกับสหรัฐอเมริกาจะต้องทำการเจรจากับอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปสุดท้ายก่อนลงนามในสัญญาต่อไป











