รัฐบาล มุ่งพัฒนาระบบรางของไทยในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน
รัฐบาล มุ่งพัฒนาระบบรางของไทยในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยและเพื่อให้การเดินทาง การขนส่งสินค้า สามารถเชื่อมต่อรถไฟไทย ลาว และจีน อย่างไร้รอยต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า โครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อมรองรับปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่งข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไทย ลาว และจีน ในลักษณะทีมประเทศไทย หรือ Team Thailand เพื่อบริหารจัดการสมดุลระหว่างปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่งกับความสามารถรองรับของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ระหว่าง demand และ supply เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย โดยหน่วยงานฝั่ง demand ประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ขณะที่ฝั่ง supply ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมวางแผนกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้า เพื่อกำกับ ติดตามเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ พร้อมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา เห็นชอบแผนการดำเนินงานและเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความก้าวหน้าสถานะการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเห็นชอบการจัดทำ Framework Agreement การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยการเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ซึ่งในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น ให้ดำเนินการเจรจาบนพื้นฐานที่ไทย ลาว และจีน โดยอาจยกระดับให้เป็นบันทึกข้อตกลงที่มีความผูกพันเพิ่มเติมและให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ดำเนินการของบกลางเพื่อออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 และเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งองค์ประกอบของคณะกรรมการเพิ่มเติม ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาแนวทางการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย – ลาว และจีนต่อไป













