โรนินผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างตำนานการประลองดาบทั้งชีวิตโดยไม่เคยพ่ายแพ้!
#โรนินผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างตำนานการประลองดาบทั้งชีวิตโดยไม่เคยพ่ายแพ้
หากกล่าวถึงยอดนักดาบในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นแล้ว ชื่อของเขาย่อมเป็นคนแรก ๆ ที่ใคร ๆ ต่างล้วนคิดถึงอย่างแน่นอน ตลอดชีวิตของเขาได้ต่อสู้มากกว่า 60 ครั้งและไม่เคยมีครั้งใดที่ได้พ่ายแพ้ให้กับศัตรูเลยแม้แต่ครั้งเดียว
“มิยาโมโตะ มูซาชิ”
มิยาโมโตะ มุซาชิ เกิดที่จังหวัดฮาริม่า เมื่อประมาณปีค.ศ. 1584 มีชื่อเดิมว่า “ชินเม็ง ทาเกโซ”
เรื่องราวของเขาได้เริ่มถูกบันทึกขึ้นในช่วงสมรภูมิเซกิงาฮาระ ในฐานะทหารเลวใต้สกัดทัพของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ที่ทำศึกกับกองทัพของโตกุกาว่า อิเอยาสึ ก่อนที่ฝ่ายทัพของฮิเดโยชิจะพ่ายแพ้ นั่นจึงทำให้มุซาชิได้หันเหเส้นทางชีวิตของตัวเองไปสู่การเป็นนักดาบเร่ร่อน หรือก็คือโรนินนั่นเอง
ตลอดเกือบทั้งชีวิตที่สองมือจับดาบนั้น… เขาได้ท้าประลองกับยอดฝีมือมาอย่างมากมายกว่า 60 ครั้ง แล้วไม่เคยมีครั้งใดที่ได้พ่ายแพ้ให้กับศัตรูแม้แต่เดียว ตัวเขาได้เอาชีวิตของตนเองเป็นเดิมพันในการประลอง… เสี่ยงตายจากคมดาบของศัตรูมานับครั้งไม่ถ้วน และการต่อสู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเขามากที่สุดก็คือ การสังหารหมู่ลูกศิษย์ของสำนักดาบโยชิโอกะ 70 คน บางแห่งว่า 30 คนเท่านั้นในคืนเดียว
เหตุการณ์นี้เกิดจาก เมื่อตอนที่มุซาชิมีอายุได้ 20 ปี และ เข้าต่อสู้กับเจ้าสำนักดาบโยชิโอกะ โดยมีการต่อสู้มีทั้งหมด 3 ครั้ง 3 คนด้วยกัน คือ คนแรก โยชิโอกะ เซจูโร่ คนที่สอง โยชิโอกะ เดนชิจิ และคนที่สาม โยชิโอกะ มาตาชิจิโร่ ว่าที่เจ้าสำนักคนต่อไปที่มีอายุเพียง 12 ปี มุซาชิสามารถเอาชนะได้ทั้ง 3 ครั้ง
แต่เหล่าลูกศิษย์ของสำนักโยชิโอกะมองว่า มุซาชิเล่นตุกติก จึงยกพวกเข้ารุมและไล่ล่ามุซาชิเพื่อสั่งสอน ซึ่งในสมัยนั้นการใช้พวกมากเข้ารุมคน คนเดียวถือว่ามีขั้นตอนและมีเกียรติมากกว่าการเล่นตุกติกไม่ซื่อ
แต่ด้วยชั้นเชิงและกลยุทธ์ที่วางแผนมาเป็นอย่างดี โดยมูซาชิได้มาสำรวจพื้นที่ก่อนการประลอง ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์และเลือกความได้เปรียบโดยการวิ่งหาชัยภูมิที่ไม่ให้ศัตรูสามารถโอบกระหนาบหรือซุ่มโจมตีจากด้านอื่นได้เลย และมุซาชิก็สามารถสังหารลูกศิษย์สำนักโยชิโอกะได้ทั้งหมด ปิดฉากสำนักโยชิโอกะไปในที่สุด
และเหตุการณ์นี้ยังได้ให้กำเนิดวิชาดาบคู่ของมุซาชิที่เรียกว่า “นิเทนอิจิริว” อีกด้วย
อีกสนามประลองหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้มูซาชิจนถึงทุกวันนี้คือ การประลองกับสุดยอดซามูไรนักดาบอย่าง “ซาซากิ โคจิโร่” ที่เกาะกังริวด้วยไม้พายเรือเพียงกระบวนท่าเดียว
มูซาชิวางแผนที่จะนั่งเรือพายข้ามเกาะไปยังลานประลอง และใช้เวลาระหว่างนั่งเรือเหลาไม้พายเรือเป็นดาบซึ่งมีความยาวกว่าดาบของโคจิโร่ และตั้งใจไปช้ากว่าเวลานัดหมายเป็นอย่างมาก
โคจิโร่ที่รออยู่บนเกาะรู้สึกร้อนใจจนผลีผลามบุกเข้าใส่คู่ต่อสู้ มูซาชิจึงฉวยโอกาสใช้ดาบไม้ที่เหลามาระหว่างเดินทางฟาดเข้าใส่โคจิโร่จนเสียชีวิตในดาบเดียว
เมื่อมีใครมากล่าวถามมุซาชิว่า ทำไมเขาถึงกลายมาเป็นจอมดาบไร้พ่ายได้ถึงเพียงนี้ เขาก็ตอบง่ายๆสั้นเพียงว่า
“ศัตรูของข้าแต่ละคนล้วนแต่เป็นยอดฝีมือ แต่สาเหตุที่ข้าเอาชนะพวกเขาเหล่านั้นมาได้ เพราะว่าข้าเลือกที่จะสู้เมื่อข้าคิดว่าจะชนะเท่านั้นเอง”
เส้นทางของสายนักดาบ มุซาชิ ได้ทำความรู้จักและหลอมรวมกับคำว่า นักรบย่อมเห็นคุณค่าของชีวิต วิถีแห่งปัจเจกชนจึงกำเนิดขึ้นในช่วงบั้นปลาย ตามหลักคำสอนของขงจื้อ การใช้ชีวิตที่เกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และ ยังถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือให้ได้ศึกษา อันได้แก่ กระจกแห่งวิถีกลยุทธ , กลยุทธ 35 ข้อ , กลยุทธ 42 ข้อ , วิถีแห่งการก้าวเดินโดยลำพัง และคัมภีร์ห้าห่วง
พินัยกรรมของมุซาชิระบุให้นำศพของเขาฝังในชุดนักรบเต็มยศไว้บริเวณถนนสายหลักจากคุมาโมโตะไปสู่นครเอโดะ เพื่อต้องการแสดงความเคารพต่อไดเมียวโฮโซคาวะ ทาดะโทชิ ผู้ล่วงลับไปแล้ว เจ้านายคนแรกและคนเดียวของมูซาชิ ซึ่งมูซาชิเคยได้รับราชการอยู่กับ โฮโซคาวะ ทาดะโทชิ เพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น
มุซาชิไม่ได้โด่งดังแค่เพราะการเป็นยอดนักดาบ แต่ยังมีชื่อเสียงในด้านการเป็นนักประพันธ์และเขียนหนังสือ และหากมูซาชิมีโอกาสได้เป็นซามูไร โลกอาจจะไม่ได้รู้จักกับปรัชญายิ่งใหญ่ที่อยู่ในคัมภีร์ห้าห่วงก็เป็นได้
อ้างอิงจาก: , มิยาโมโต้ มุซาชิ ซามูไรแห่งตำนาน ,วิกิพีเดีย










