ทหารไทย ประชิดชายแดน
ทหารไทย ประชิดชายแดน
“ผบ.ทบ. “ส่งกำลังทหาร
พร้อม ยุทโธปกรณ์
เข้าควบคุมพื้นที่
ดูแลประชาชนชายแดน จ.ตาก
หลัง ทหารเมียนมา ถล่ม ชนกลุ่มน้อย หนัก
ชาวเมียนมาอพยพ ข้ามมากว่า5พันคน
ลั่น พร้อมจะใช้กลไกที่มีอยู่ดูแลอธิปไตย ตามหลักสากล ควบคู่ แจ้งเตือน
เผยประท้วง เมียนมา ผ่านTBC กระสุน ข้ามมาตก
ส่งทหารซ่อมบ้านให้ชาวบ้าน
พร้อม ช่วยเหลือผู้หนีภัยฯ ชาวเมียนมาตามหลักมนุษยธรรม
เมื่อ เหตุการณ์สงบ
จะ ส่งกลับข้ามแดนด้วยความสมัครใจ
พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ประชุมสรุปสถานการณ์ประจำวันด้วยระบบออนไลน์ ที่ กองบัญชาการกองทัพบก
พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้รายงานสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ตาก ซึ่งปัจจุบันมีการสู้รบในเขตประเทศเพื่อนบ้านระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อยอยู่เป็นระยะ
หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ฝ่ายปกครอง อาสาสมัครกู้ภัย ผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันติดตามสถานการณ์ในทุกด้าน รวมทั้งการส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจตลอดแนวชายแดนที่ติดกับพื้นที่สู้รบ
และพร้อมจะใช้กลไกที่มีอยู่ดูแลอธิปไตยตามหลักสากล ควบคู่กับการใช้กระบวนการแจ้งเตือนโดยทันทีเมื่อตรวจพบสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติและความปลอดภัยของประชาชน
เช่น เมื่อมีกระสุนข้ามมาตกยังฝั่งไทย ฝ่ายไทยได้ทำการประท้วงไปยังรัฐบาลเมียนมา ผ่านช่องทางคณะกรรมการชายแดนระดับท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ให้ระมัดระวังเรื่องการใช้อาวุธ และปฏิบัติการทางอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาการคลี่คลายผลกระทบดังกล่าวได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
โดยผู้บัญชาการทหารบก ได้ย้ำให้ทุกหน่วยดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล และ กระทรวงกลาโหม ในการติดตามสถานการณ์และการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศของกองกำลังป้องกันชายแดน เพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่
พร้อมสั่งการให้กองกำลังนเรศวรเข้าดูแลราษฎรไทยที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย จากกระสุนที่พลัดตกเข้ามาในฝั่งไทย ช่วยซ่อมแซมให้คืนสภาพโดยเร็ว
รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ ที่พักอาศัยของประชาชนชายแดนให้มีความปลอดภัยจากสถานการณ์
ทั้งนี้ การสร้างความมั่นใจและดูแลความปลอดภัยให้กับราษฎรไทยเป็นเรื่องที่กองกำลังป้องกันชายแดนและหน่วยงานด้านความมั่นคงให้ความสำคัญสูงสุด
สำหรับการช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาให้ยึดตามหลักมนุษยธรรมภายใต้ขีดความสามารถของหน่วยงาน
และเมื่อเหตุการณ์สงบลงให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งกลับข้ามแดนด้วยความสมัครใจ ซึ่งส่วนใหญ่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศทันทีอยู่แล้วเมื่อการสู้รบในแต่ละห้วงยุติลง












