สมาธิของพระพุทธะ
สมาธิของพระพุทธะ
/////
นิยามของคำว่า "สมาธิ" ของพุทธ
สมาธิของพระพุทธะ คือการสลัดให้หลุดจากบ่วงและห่วงแห่งความร้อยรัดทั้งปวง
ด้วยการทำจิต ทำใจ ทำสมอง ทำความคิดให้ว่างๆ โปร่ง เบา สบาย
จนกระทั่งจิตจะอยู่ในคำว่าสมาธิเอง โดยไม่ต้องไปบังคับไม่ต้องไปชี้นำใดๆทั้งสิ้น
จำไว้นะ สมาธิของพระพุทธะ ต้องเป็นสภาวะหรือประสบการณ์ทางวิญญาณของจิตที่ปล่อยวางเท่านั่น
ถ้ายังไม่ปล่อยวาง ก็ยังไม่ใช่สมาธิของพระพุทธะ
คำว่า 'สมาธิ' สำหรับพระพุทธะ จึงต้องเป็นความตั้งมั่นของอารมณ์
โดยที่ความตั้งมั่นของสภาวะแห่งอารมณ์คือ อารมณ์ที่ไม่มีอะไร
อารมณ์ที่ปล่อยวาง ว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบาย
เซนเรียกสภาวะนี้ว่า "ประตูวิญญาณแห่งพุทธะ"
มีแต่ผู้กล้าทางจิตวิญญาณหรือนักรบแห่งแสงเท่านั้นที่มุ่งมั่นที่จะเปิดประตูวิญญาณแห่งพุทธะนี้
ผู้ที่มีวาสนาในทางธรรมจนสามารถล่วงเข้าประตูวิญญาณแห่งพุทธะนี้ด้วยลมปราณกรรมฐานได้ คนผู้นั้นย่อมพานพบเสรีภาพ ความสดชื่น ความเบิกบาน และความอิสระ ณ เดี๋ยวนั้น ทันที
เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนให้เราทำสมาธิเพื่อฝึกจิต
เพื่อชำระล้างจิต เพื่อทำจิตให้กล้าแข็ง ให้โปร่ง ให้โล่ง ให้ปล่อยวาง ให้กว้าง ให้เบา ให้สบาย
สุดยอดของการนั่งกรรมฐาน
จึงต้องเป็นการนั่งอย่างชนิดที่หมดจดนิ่งสนิท
อย่างชนิดที่ จิตใจ กาย และวิญญาณรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยเร็วในระยะเวลาอันสั้น
เพราะเหตุนี้ สุดยอดของการนั่งกรรมฐานจึงต้องเป็นลมปราณกรรมฐานเท่านั้น
โดยที่สุดยอดของสมาธิเรียกว่า 'สมาธินิรรูป' หรือ สุญญตสมาธิ
ที่ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย โปร่งโล่ง จิตบางเบาสบาย สมองไม่หมกมุ่นเครียดคิดอะไร มีแต่กายกับใจที่รวมกันเป็นหนึ่ง ก่อนจะไปถึงขั้นนิรรูป คือไม่รู้สึกว่ากายปรากฏ หรือไม่ปรากฏขันธ์ 5
ขณะที่ มารของสมาธิ คือ ความเมื่อย ความเหนื่อย ความเพลีย ความง่วง ความเบื่อ ความเกียจคร้าน ความท้อถอย และความงี่เง่าของอารมณ์ฟุ้งซ่าน
สิ่งเหล่านี้เป็นมารร้ายของสมาธิ
ผู้ที่ยอมปล่อยให้มันเป็นนาย ผู้นั้นก็จะกลายเป็นทาสของตลอดทั้ง ชาติ
ชาตินี้ทั้งชาติผู้นั้นจะไม่มีโอกาสรู้จักคำว่าสมาธิของพระพุทธเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่เกิดอารมณ์อย่างนี้ขึ้น เราต้องเอาชนะมันเดี๋ยวนั้นทันที
เราต้องเอาชนะมันให้ได้ทุกวัน
ด้วยการเจริญลมปราณกรรมฐานทุกวัน จนกระทั่งการเจริญลมปราณกรรมฐานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
นี่คือวิถีของผู้ชนะจิตใจตนเอง
เคล็ดวิธีเอาชนะมารเหล่านี้แบบฉับพลัน สามารถทำได้โดยการสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆ ยาวๆ ให้เต็มปอด แล้วกักลมหายใจเอาไว้จนแทบทนไม่ได้ แล้วค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกมายาวๆ
ทำเช่นนี้สัก 5 ครั้ง ความฟุ้งซ่าน ความง่วงเหงาหาวนอน ความหงุดหงิดรำคาญก็จะหายไปในทันที
วิธีปราบมารของสมาธิ คือการเรียกสติให้กลับคืนมา ด้วยการสูดลมหายใจลึกแล้วกักลมทิ้งไว้ จนหายใจแทบจะไม่ได้แล้วจึงปล่อยลมหายใจออกมายาวๆ ช้าๆ
การเจริญสมาธิของพระพุทธะด้วยลมปราณกรรมฐาน จึงเป็นสมาธิแห่งการมีชีวิตอยู่บนโลกอย่างเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบาน
การเจริญลมปราณกรรมฐานแบบพระพุทธะ จะให้ความสมบูรณ์แห่งพลัง 3 ชนิด แก่ผู้นั้นคือ
ความสมบูรณ์แห่งพลังความคิด
ความสมบูรณ์แห่งพลังในการพิชิตอุปสรรคทั้งปวง ... และ
ความสมบูรณ์แห่งพลังในการบรรลุความสำเร็จ
ด้วยความปรารถนาดี
สุวินัย ภรณวลัย









