หยอดหมดไปหลายเหรียญ..เธอบอกเป็นได้แค่เพื่อน..ใครเคยใช้ตู้นี้บ้าง??
คิดถึงแฟน-บอกรักพ่อแม่-โทรกลับบ้าน-ขอเพลง" ความทรงจำในตู้สี่เหลี่ยม
ทุกวันนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะบางตู้กลายเป็นที่เก็บสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า บางตู้แปรสภาพเป็นถังขยะ ผิดจากสมัยก่อนที่ตู้สี่เหลี่ยมตู้นี้เปรียบดั่งวิมานรักของคนหนุ่มสาว เป็นที่พึ่งทางใจของลูกที่คิดถึงพ่อแม่
ภาพการถือเหรียญบาทกำไว้ในมือ ยืนรอต่อคิวด้วยความกระวนกระวาย ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนอายุ 30 ปีขึ้นไป
“20ปีก่อน ตู้โทรศัพท์จำเป็นมาก เลิกเรียนต้องโทรไปบอกแม่ว่าจะให้มารับที่ไหน จะไปเที่ยวกับเพื่อนก็โทรนัดกัน รวมทั้งจีบสาว จำได้ว่าต้องคอยเดินหาตู้ดีๆในมุมเหมาะๆไว้ยืนคุยกับผู้หญิงที่เราชอบ บางตู้ดีจริง แต่คุยได้ไม่นาน เพราะเขินและเกรงใจคนยืนรอ ต้องวิ่งข้ามถนนไปในซอยลึกมืดๆ สลัวๆ ควานหาตู้ประจำเพื่อจะได้คุยกับสาวนานๆ”
เช่นเดียวกับความทรงจำของ ญานี พานทอง
“หนูเลิกเรียนแล้วนะแม่ แต่ขออยู่เล่นกับเพื่อนก่อน หนูเรียนพิเศษ หรือหนูยืนรอหน้าร้านขายน้ำนะแม่” ถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำสนทนาอันคุ้นชินผ่านหูในตู้สี่เหลี่ยม
“มันเป็นอุปกรณ์ฉุกเฉิน ตอนเด็กๆเคยโดนล้วงกระเป๋า ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ต้องวิ่งไปที่ตู้สาธารณะ โทรหาตำรวจ แต่เดี๋ยวนี้ตู้สาธารณะขาดการดูแล หลายแห่งไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่สกปรก ครั้งหนึ่งแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนหมดจะโทรถามอาการป่วยของลูกสาว เลยคว้าโทรศัพท์สาธารณะแต่กลับใช้งานไม่ได้ เงียบ ไม่มีสัญญาณอะไรเลย”
ดีเจป๋อง-กพล ทองพลับ นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง เล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่า เมื่อครั้งยังเด็กเคยหยอดเหรียญโทรขอเพลงจากดีเจตามคลื่นวิทยุ ถึงวันหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นดีเจ มีผู้ฟังใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรเข้ามาเล่าพูดคุยด้วยเช่นกัน
“วัยรุ่นยุคก่อนต้องเคยแลกเหรียญโทรขอเพลงดีเจ หรือโทรจีบสาว ต้องเข้าคิวด้วยนะ บางคนใช้นานมาก ยืนรอจนจะหลับก็มี บางคนรอไม่ไหวโวยวาย 'เฮ้ย...นานไปแล้ว คุยเร็วหน่อยได้ไหม' นึกแล้วก็ตลก ตัวเราเองก็ต้องระวัง ยกหูเมื่อไหร่ จะดูคนอื่นก่อน มีคนต่อคิวไหม ไม่มีก็คุยยาวเลย โดยเฉพาะคุยกับสาว เคยโทรเข้าเบอร์บ้าน พ่อเขารับ เราไม่กล้าพูด รีบวางหูหนีเลย โทรกลับตามเราไม่ได้ด้วย”
ดีเจป๋อง บอกว่า ผู้ฟังวิทยุในยุคนั้นใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรเข้ามาขอเพลง เล่าเรื่องราวสนุกๆ บ่อยครั้งเป็นเรื่องตลก บางทีเล่ายังไม่จบก็ตัดสายไปดื้อๆ เพราะเหรียญหมด #ใครทันบ้าง





