เหตุใดสีส้มของเสือจึงเป็นลายพรางที่ดี
เหตุใดสีส้มของเสือจึงเป็นลายพรางที่ดี
สำหรับมนุษย์อย่างเรา อาจมองลายพรางตามลำตัวของเสือเหมือนเสื้อคลุมสีส้มสดใสผืนใหญ่ที่เคลื่อนที่ได้รอบป่าสีเขียว แต่สำหรับนักล่าที่ซุ่มโจมตีในป่า ลายสีส้มกลับเป็นลายพรางที่ดีที่สุดสำหรับพวกมัน
ภาพลายพรางตามลำตัวสีส้มของเสือเป็นประโยชน์ต่อการพรางตัวของพวกมัน แต่เป็นภัยสำหรับเหยื่อ
หากได้ชมสารคดีเกี่ยวกับสัตว์นักล่าเราจะเห็นได้ชัดว่า ในขณะที่เสือล่าเหยื่อในทุ่งหญ้าของป่าแถบแอฟริกา สีของพวกมันจะช่วยในการพรางตัวได้ดี แม้มองด้วยสายตาของมนุษย์ ขณะเดียวกันหากการล่าของสัตว์ตระกูลแมวสีส้มที่มีลำตัวยาวเกือบ 4 เมตรเกิดขึ้นในป่าสีเขียว หลายคนอาจคิดว่า สีของมันคงจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดที่จะผสมผสานเข้ากับสีพื้นหลังอย่างสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้ารอบ ๆ ป่า แต่ปรากฏว่า ขนสีส้มตลอดทั้งลำตัวของมันนั้นกลับเป็นสีที่ช่วยพรางตัวพวกมันได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) สหราชอาณาจักรได้ตีพิมพ์การศึกษาใหม่ที่อธิบายถึงเหตุผลของเรื่องนี้
เมนูโปรดของเสือคือ กวาง หมูป่า หรือสัตว์เท้ากีบชนิดอื่น ๆ ซึ่งสัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีการมองเห็นภาพสีด้วยเซลล์ 2 ชนิด หรือที่เรียกว่า Dichromacy นั่นหมายความว่า พวกมันมีความสามารถในการมองเห็นแสงสีน้ำเงิน และแสงสีเขียว แต่ตาบอดแสงสีแดง หรืออาจอธิบายได้ว่า เหยื่อจะมองเห็นผู้ล่าอย่างเสือ เป็นสีเดียวกับสีเขียวของป่า
การเห็นเป็นสี (Color vision) เป็นการปรับตัวเพื่อรับรู้สิ่งเร้าทางตา เพื่อให้สามารถแยกแยะแสงที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกันได้ ทั้งนี้การมองเห็นเป็นสีต่าง ๆ จำเป็นต้องมีโปรตีนอ็อปซิน (opsin) ที่ดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่นต่างกัน
นั่นจึงทำให้สัตว์ในแต่ละกลุ่มที่มีโปรตีนอ็อปซิน แตกต่างกัน มองเห็นเป็นสีได้แตกต่างกัน เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นภาพสีด้วยเซลล์ 2 ชนิด (dichromacy) ในทางกลับกัน อันดับวานร หรือ อันดับไพรเมต (Primate) เป็นอันดับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รวมทั้งมนุษย์ จะมองเห็นภาพสีด้วยเซลล์ 3 ชนิด (trichromacy) นั่นจึงทำให้มนุษย์สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีส้มและสีเขียวได้ เราจึงมองเห็นเสือเป็นสีส้มตัดกับสีเขียวของป่าได้อย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากเหยื่อที่ตาบอดแสงสีแดง
นักวิจัยตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Journal of the Royal Society Interface และอธิบายถึงการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อรับรู้โลกผ่านสายตาของสัตว์จำพวก dichromate หรือสัตว์ที่ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีส้มและสีเขียวได้ โดยการสร้างภาพสีแดงบนพื้นหลังหลากหลาย รวมทั้งป่าทึบที่เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือ และเป็นที่ซึ่งพบว่า สีส้มของเสือเป็นสีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลอมตัวและการซ่อนเร้นอำพรางสำหรับสัตว์ที่มองเห็นมันเป็นสีเขียวกลืนเข้ากับสีโดยรอบของป่า
อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังได้ตั้งข้อสันนิษฐานต่อว่า เหตุใดวิวัฒนาการจึงไม่เปลี่ยนแปลงให้เหยื่อ เช่น กวาง หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ กลายมาเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสีเขียว สีน้ำเงิน และสีแดงได้เช่นเดียวกับมนุษย์ เพื่อการมองเห็นที่ดีขึ้น และหลีกเลี่ยงการเป็นอาหารของเสือ ซึ่งนั่นยังคงเป็นข้อสงสัยสำหรับการศึกษาต่อไป
อ้างอิงจาก: ELIAS MARAT. (2019, May 30). Tigers Are Orange Because They Prey on Animals Who See Them as Green,
YouTube Tiger



















