ความโดดเด่นของ"ขอนแก่น"ในภูมิภาค ศักยภาพแห่งการค้าและการขนส่งที่หลายคนจับตามอง
ขอนแก่น จุดศูนย์กลางด้านการค้า และการขนส่งระดับอาเซียน
ณ ตอนนี้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าขอนแก่นเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครบทุกมิติ เมื่อเทียบกับจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และในอนาคตโครงการจากแผนการพัฒนาประเทศจากรัฐบาลที่กำลังดำเนินการจะส่งผลให้ขอนแก่นสามารถก้าวไปสู่จุดศูนย์กลางด้านการขนส่งระดับอาเซียนได้ในไม่ช้า วันนี้ บ้านบ้าน ขอเจาะแต่ละโครงการที่กำลังจะเกิดและส่งผลต่อขอนแก่นอย่างไรในอนาคต ไปดูกันเลยครับ
แต่ในอนาคตมี 3 โครงการใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น บางโครงการอยู่ในช่วงดำเนินการ หากการสร้างแล้วเสร็จจะส่งผลให้ขอนแก่นก้าวสู่ศูนย์กลางทางการค้าและการขนส่งในระดับอาเซียน อย่างเต็มตัว 3 โครงการหลักที่ส่งผลโดยตรง
1. โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (East West Economic Corridor)
2. โครงการ 4 จุดยุทธศาสตร์ ท่าเรือบก (Inland Container Depot)
3. โครงการพัฒนาสนามบินขอนแก่น (International Airport)
ไปกันที่โครงการแรก โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (East West Economic Corridor)
โครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก (East West Economic Corridor)เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) ประกอบไปด้วย
- ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก–ตะวันตก (East-West Corridor)
- ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ–ใต้ (North-South Corridor)
- ระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาค (Southern Corridor)
ในด้านภูมิศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจเป็นเสมือนเส้นทางเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของไทยเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน/หน่วยเศรษฐกิจต่างๆ (แหล่งข้อมูล : ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์)
เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเริ่มจากเมืองท่าดานังของเวียดนาม ผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว (Lao Bao) อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามซึ่งติดกับชายแดน สปป.ลาว จากนั้นจะผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตใน สปป.ลาว และมาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ข้ามแม่น้ำโขงสู่ไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก จนไปสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเข้าไปยังประเทศพม่าจนทะลุอ่าวเมาะตะมะที่เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง (Mawlamyine / Mawlamyaing) เป็นการเชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่ทะเลอันดามัน และจากทะเลจีนใต้ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังมหาสมุทรอินเดียได้
* เมื่อโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นจะสร้างโอกาสการลงทุนด้านโลจิสติก และเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น
โครงการที่ 2 โครงการท่าเรือบก
ขอนแก่น เป็น 1 ใน 4 จุดยุทธศาสตร์สร้างท่าเรือบก (Inland Container Depot) ทั้ง 4 จุดยุทธศาสตร์ประกอบไปด้วย จังหวัดฉะเฉิงเทรา จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครสวรรค์ ท่าเรือบกแต่ละจุดทำหน้าที่คล้ายกับท่าเรือ สินค้าส่วนใหญ่จะถูกบรรจุไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟทางคู่ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการสร้างทั่วประเทศ (แหล่งข้อมูล : www.salika.co)
โครงการท่าเรือบก (Inland Container Depot) ใช้รูปแบบการขนส่งระบบราง ฉะนั้นยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสินค้า คือ รถไฟ
เมื่อโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นขอนแก่นจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งที่สามารถนำสินค้าเข้าและออกนอกประเทศได้ทั้งหมด 3 เส้นทาง
1. ขอนแก่น-พม่า (ทางบก : รถบรรทุก)
2. ขอนแก่น-เวียดนาม (ทางบก : รถบรรทุก)
3. ขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบัง (ทางราง : รถไฟ)
ข้อแนะนำ : จับตา 5 ประเด็น ส่ง "ขอนแก่น เมืองสมาร์ทซิตี้" โดดเด่นในภาคอีสาน
โครงการสุดท้าย โครงการพัฒนาสนามบินขอนแก่น
สนามบินขอนแก่นเป็นหนึ่งในสนามบินที่มียอดผู้โดยสารเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยจากสถิติ 5 ปีย้อนหลังระหว่างปี 2555-2560 พบว่าสนามบินขอนแก่นมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20% ต่อปี และยอดผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 400,000 คนต่อปี ในปี 2552 เป็น 1,700,000 คนต่อปี ในปี 2560
ด้านกรมท่าอากาศยานจึงได้จัดสรรงบประมาณ 2,500 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 61 สำหรับการพลิกโฉมสนามบินขอนแก่นในครั้งนี้โดยประกอบไปด้วย
1. เพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2,000 คนต่อชั่วโมง หรือ 5 ล้านคนต่อปี จากเดิมที่ 2.4 ล้านคนต่อปี
2. ขยายหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 6 หลุมจอด ให้รองรับได้เครื่องบินได้สูงสุด 11 ลำ พร้อมกัน จากเดิมที่รองรับได้เพียง 5 ลำ
3. สร้างอาคารจอดรถ 7 ชั้น ให้รองรับรถยนต์ได้สูงสุด 1,160 คัน จากเดิมที่ 610 คัน
(แหล่งข้อมูล : กรมท่าอากาศยาน)
เมื่อโครงการพัฒนาสนามบินดำเนินการเสร็จสิ้นขอนแก่นจะสามารถรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศสอดคล้องกับการพัฒนาเมือง MICE City มีความพร้อมและเป็นศูนย์กลางแห่งการประชุมสัมมนาในภูมิภาค
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม : ขอนแก่น จุดศูนย์กลางด้านการค้า และการขนส่งระดับอาเซียน
เป็นยังไงกันบ้างครับ กับประเด็นที่ บ้านบ้าน นำมาเล่าในเพื่อน ๆ ได้อ่านกันในวันนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าศักยภาพของขอนแก่นนั้นสามารถพัฒนาไปได้ไกลมากกว่านี้อีกหลายเท่า ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ทางภูมิศาสตร์ และคนในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือทั้งภาคธุรกิจ เอกชน และรัฐบาล บ้านบ้าน เชื่อว่า หากโครงการที่เล่ามาเหล่านี้สำเร็จลุล่วงทั้งหมด จะทำให้ขอนแก่นหลายเป็นเมืองที่เป็นสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะได้อย่างเต็มตัวแน่นอนครับ








