"ส.ว.วันชัย" ตีปี๊บ ส.ว.สัญญาณแรง ส่อคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บอกถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งวาระที่ 3 ในวันที่ 10 ก.ย. นี้ ว่าหลังลงคะแนนวาระ 2 ทาง ส.ว. ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันตลอดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง และนักการเมืองล้วนๆ ไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น เราเห็นว่าหากระบบแบบนี้มีข้อบกพร่อง ไม่ได้แก้ไขเพื่อเดินหน้า แต่เป็นการแก้ถอยหลัง และจนวันนี้มีการพูดคุยกันว่าจะรับหรือไม่รับ และเชื่อว่าในวันที่ 9 ก.ย. จะมีความชัดเจน แต่เท่าที่ตนติดตามมาโดยตลอดมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าอาจจะไม่รับร่างครั้งนี้ก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องรอดูกัน เพราะแต่ละวันเป็นมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยตลอด
ผมเห็นว่าสัญญาณไม่ปกติ เริ่มปรากฎมีในบรรดากลุ่ม ส.ว. ด้วยกัน แม้กระทั่งช่วงเช้าที่ผมมาถึงสภาฯ ก็มีหลายกลุ่มนำเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกัน ซึ่งจะให้ตอบสังคมว่าผ่านหรือไม่ ผมไม่กล้ายืนยัน เหมือนกับวาระที่ 2 เพราะในวาระ 2 ก็เริ่มมีปัญหาอยู่แล้ว ฉะนั้นเขาจึงบอกว่าให้ผ่านๆ ไปก่อน แต่จะผ่านหรือไม่ที่เป็นเรื่องจริงนั้น เชื่อว่า ส.ว. จะตัดสินใจยืนข้างความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐมีปัญหากันช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะส่งต่อการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายวันชัย บอกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เกิดแรงกระเพื่อมไปทุกฝ่าย แม้จะบอกว่าไม่ได้มีผลโดยตรง แต่ก็เกิดแรงกระเพื่อมในการเปลี่ยนแปลงเรื่องการโหวตได้
เมื่อถามว่าสัญญาณที่บอกว่าจะไม่ผ่านคืออะไร จะมาจากทางรัฐบางเองหรือไม่ เพราะมีกระแสว่าในการประชุมพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้บอกกับลูกพรรคว่า ส.ว. จะโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นายวันชัย บอกว่าไม่ได้มีสัญญาณมาจากฝ่ายการเมือง หรือจากผู้มีอำนาจ เพราะเท่าที่ตนติดตามมาคือสัญญาณชัดๆ จาก ส.ว. เท่าที่ดูจากการแลกเปลี่ยนของ ส.ว. มาจากความรู้สึกนึกคิด และสัญญาณนี้พบว่าจะไม่รับร่างแรงพอสมควร
เมื่อถามว่า ในวาระ 2 ที่ส.ว.ประมาณ 100 กว่าคนโหวตรับร่างมาแล้ว แต่ในวาระ 3 อาจคว่ำร่างนั้นจะตอบคำถามสังคมอย่างไร นายวันชัย บอกว่าเชื่อว่าตอบได้ แต่จะตอบอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เราพูดกันมาแล้วว่าการแก้ไขครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประชาชน แต่เพื่ออำนาจและความได้เปรียบทางการเมืองล้วนๆ
การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะผ่านไปได้ แต่อาจจะไม่ได้ใช้ เพราะยังมีขั้นตอนที่นายกฯจะต้องรอ 5 วัน และต้องยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในแล้วเสร็จภายใน 30 วัน อีกทั้งยังมีขั้นตอนการทูลเกล้าฯ อีก เชื่อว่าใช้เวลาอย่างน้อย 30-60 วัน และการเมืองตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงแรงก็พอสมควร ตนมองว่าแม้จะรอดในวาระ 3 แต่คิดว่าไม่ทันใช้ อาจจะไปติดที่อื่นหรือที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ที่จะต้องวินิจฉัยว่าการแก้ไขชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะมีกระบวนการที่ฝ่ายหนึ่งตั้งป้อมจะร้องอยู่แล้ว และมีประเด็นที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน
การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เกิดแรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทยก็ไม่เอาด้วยตั้งแต่ต้น ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้หลายส่วนอาจทำให้เกิดการสะดุดและหยุดชะงัก













