กองทัพอากาศไทยนำอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลาง KS-1CM เข้าประจำการที่กองบิน ๔ ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
กองทัพอากาศไทยนำอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศระยะปานกลาง KS-1CM เข้าประจำการที่กองบิน ๔ ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
พลอากาศโทสมควร รักดี ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน พร้อมคณะตรวจเยี่ยมสายวิทยาการอากาศโยธิน กองบิน ๔ โดยมีนาวาอากาศเอกเนาวมรัตน์ ประพัฒน์ทอง ผู้บังคับการกองบิน ๔ ให้การต้อนรับ ณ กองบิน ๔ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564
ระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง KS-1CM ที่พัฒนาโดย China Aerospace Science and Industry Corporation (CASIC) สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศอัตตาจร ที่กองทัพอากาศไทยจัดหามาตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ซึ่ง 1 ระบบ ประกอบด้วยรถที่บังคับการ KZH, รถเรดาร์ค้นหา KMZ, รถเรดาร์ติดตามเป้าหมาย KLD, รถระบบแปลงความถี่ KBP, รถแท่นยิง 4 ระบบ โดยหนึ่งแท่นยิงบรรจุจรวดได้ 2 นัด ระยะยิง 7-70 กิโลเมตร ที่ความสูง 300 เมตร ถึง 27 กิโลเมตร, ที่จ่ายพลังงาน KDP, รถบรรทุกลูกจรวด และรถบรรทุกเครื่องมือ
กองทัพอากาศไทยได้นำระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง KS-1CM เข้าประจำการในกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน ๗ สุราษฎร์ธานี โดยกองบิน ๗ มีหน่วยบินที่ขึ้นตรงคือ
-ฝูงบิน ๗๐๑ มีเครื่องบินขับไล่แบบที่๒๐ บ.ข.๒๐/ก Saab Gripen C/D 11 เครื่อง
-ฝูงบิน ๗๐๒ มีเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนทางอากาศแบบที่ ๑ บ.ค.๑ SAAB 340 AEW 2 เครื่อง และเครื่องบินลำเลียงแบบที่ ๑๗ บ.ล.๑๗ SAAB 340B จำนวน 5 เครื่อง แบ่งเป็นภารกิจลำเลียง 3 เครื่อง และเครื่องบินข่าวกรองทางสัญญาณ SIGINT ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับข่าวกรองทางสัญญาณซึ่งมีขีดความสามารถทั้งงานข่าวกรองการสื่อสาร (COMINT) คือการดักฟังสัญญาณจากข่ายการสื่อสารของข้าศึก ข่าวกรองอิเล็กทรอนิกส์ (ELINT) ซึ่งเป็นข่าวกรองที่ได้จากการดักรับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสารของข้าศึก
กองทัพอากาศไทยน่าจะมีการจัดหา KS-1CM เพิ่มเติมอย่างน้อย 1 ระบบและถูกนำเข้าประจำการในกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน ๔ โดยกองบิน ๔ มีหน่วยบินที่ขึ้นตรงประกอบด้วย
-ฝูงบิน ๔๐๑ ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่๒ บ.ขฝ.๒ T-50TH Golden Eagle จำนวน ๑๒เครื่อง
-ฝูงบิน ๔๐๒ ประจำการด้วยเครื่องบินตรวจการณ์และฝึกแบบที่ ๒๐ บ.ตฝ.๒๐ Diamond DA-42 MMP จำนวน 5 เครื่อง
-ฝูงบิน ๔๐๓ ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่แบบที่๑๙/ก Lockheed Martin F-16AM/BM EMLU จำนวน 18 เครื่อง
-ฝูงบิน ๔๐๔ ประจำการด้วยอากาศยานไร้คนขับทางยุทธวิธี Aerostar จำนวน 2 ระบบ, อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก Orbiter II และอากาศยานไร้คนขับพิสัยกลาง Aeronautics Dominator จำนวน 1 ระบบ เป็นต้น
ตามแผนในสมุดปกขาวกองทัพอากาศไทย 2563 ในส่วนการป้องกันฐานบินได้ระบุถึงโครงการจัดหาระบบป้องกันฐานบินแบบใหม่ดังนี้
ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ.2566-2568
ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ.2569-2571
ระยะที่ 3 ปีงบประมาณ พ.ศ.2572-2574
สำหรับระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ และภาคพื้นแก่ที่ตั้งฐานทัพอากาศ ให้รองรับภัยคุกคามในอนาคต และทดแทนระบบเก่าที่ใช้งานมานาน

















