เทียนรุ่ง คืออะไร
เทียนรุ่ง คืออะไร
ทุกคนคงได้ดูข่าวพระราชสำนักแล้ว ได้ยินคำว่า "เทียนรุ่ง" ที่ในหลวงทรงเจิม อาจมีความสงสัยว่า "เทียนรุ่ง" คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรกับพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลในวันมาฆบูชา
"เทียนรุ่ง" คือเทียนจุดบูชาตลอดคืน ขนาดขี้ผึ้งหนัก 33 บาท สูง 45 เซนติเมตร ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงเจิมและพระราชทานอุทิศไปจุดบูชาพระรัตนตรัย ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตร วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ และวัดนิเวศธรรมประวัติ ในวันก่อนถึงวันมาฆบูชา เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังจะมีหน้าที่นำไปยังวัดทั้ง 6 วัดดังกล่าวนี้
โดยในพระราชพิธีนี้เริ่มเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยปัจจุบัน
ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลมาฆบูชานี้เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้ในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ในสมัยนั้นมีการบำเพ็ญพระราชกุศลเวลาเช้า ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการ พระสงฆ์ทำวัตรเย็นและสวดมนต์ต่อแล้วสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ มีการจุดเทียนตามราวรอบพระอุโบสถ จำนวน 1250 เล่ม ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นครอบบัว ทำด้วยกระเบื้องแก้วขาวสลับสี ตั้งรอบบนสันกำแพงระหว่างช่องเสาพระอุโบสถ มีประโคม สังข์ แตร ดุริยางค์ แล้วจึงเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ 1 เป็นภาษาบาลีและภาษาไทย
เครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์มีจีวร 1 ผืน เงิน 3 ตำลึง และขนมต่าง ๆ เมื่อเทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา การทรงบำเพ็ญพระราชกุศล นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตน ศาสดาราม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์ ทรงจุดเทียนชนวนพระราชทานหัวหน้ากองพระราชพิธี เพื่อเชิญไปถวายเจ้าอาวาสจุดเทียนรุ่ง ที่ได้ทรงพระราชอุทิศบูชาพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวง พระสงฆ์ 30 รูปเจริญพระพุทธมนต์ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยดอกมะลิ 1250 ดอก เท่าจำนวนพระอรหันต์ที่ธรรมาสน์ศิลาสำหรบพระราชาคณะนั่งถวายพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เป็นการเสร็จพิธี
🔆🔆เกร็ดความรู้เพิ่มเติม🔆🔆
วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาที่ปรากฏเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ 4 ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ
1. เป็นวันที่พระภิกษุ จำนวน 1250 รูป มาประชุมเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
2. พระภิกษุทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์
3. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระภิกษุซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น
4. เป็นวันที่ดวงจันทร์เสวยฤกษ์มาฆบูชาบูรณมี
วัน มาฆบูชาปรกติจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสคือมีเดือน 8 สองหน วันมาฆบูชาจะเลื่อนเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
Cr: สรัลวลัย ปิติคุณพงศ์สุข เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมการศาสนา


















