เสียงสะท้อนจากวงการแพทย์ต่อวัคซีนของซิโนแวค
กลายเป็นประเด็นแซะกันสนุกปาก ไปได้อีกหลายวันของชาวโซเชียล กับข่าวจากบราซิลว่า วัคซีนของซิโนแวค จากประเทศจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้แค่ 50.4% ขณะที่แพทย์หลายสาขาของไทยพยายามออกมาอธิบาย แต่ไม่ค่อยมีใครฟัง
ข้อมูลจากคุณหมอยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณหมอศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, คุณหมอสุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, คุณหมอเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ สรุปได้ว่า
ซิโนแวค ใช้เทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนแบบดั้งเดิม ที่เรียกว่า Inactivated Vaccine หรือ วัคซีนเชื้อตาย โดยการนำเอาเชื้อก่อโรคที่ต้องการป้องกัน คือ เชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 มาทำให้ตาย แล้วนำซากเชื้อฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ที่ต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกัน
หลักการทำงานของวัคซีนเชื้อตาย
- แม้จะเป็นเชื้อตาย แต่คุณลักษณะของเชื้อและสารเคมีที่ผสมอยู่ในวัคซีน สามารถไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงาน
- พร้อม ๆ กับทำหน้าที่เหมือนเปิดสวิตช์ความจำของระบบภูมิคุ้มกัน ให้จดจำคุณลักษณะของเชื้อไว้ในระยะยาว ส่งผลให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวได้ในอนาคต
- เพราะเป็นเชื้อตาย จึงไม่ส่งผลให้เกิดอาการป่วยขึ้น แม้ผู้ได้รับวัคซีนจะเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื้อรังในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่แล้วก็ตาม
ข้อดี
- มีความปลอดภัยสูง
- ระบบการผลิตมีเสถียรภาพสูง
- สามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดาคือ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้สะดวกต่อการขนส่งและเก็บรักษา โดยเฉพาะการส่งไปยังพื้นที่ห่างไกล
- เทคโนโลยีเชื้อตาย เป็นวิธีการที่ใช้ผลิตวัคซีนให้กับมนุษย์หลายชนิด เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ
- ฉีดในหลายแสนคนมาแล้ว แต่ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งต่างจากวัคซีนอื่นที่พบผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรง เช่น ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ หรือต้องการการดูแลจากแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อย
ข้อเสีย
- อาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่าวัคซีนเชื้อเป็นและเอ็มอาร์เอ็นเอ ทำให้อาจจำเป็นต้องฉีดครั้งละหลายเข็ม และมีการฉีดกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง
- ใช้ระบบชีวนิรภัยทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และไม่สามารถผลิตได้คราวละมาก ๆ ได้
ทำไมตัวเลขแสดงประสิทธิผลของวัคซีนจึงต่างกัน
- การแถลงตัวเลขต้องดูว่าเป็นตัวเลขของการป้องกันประเภทใด เช่น วัคซีนของซิโนแวค สามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ 100%, ป้องกันอาการเล็กน้อยได้ 78%, ป้องกันการติดเชื้อได้ 50%
- การศึกษาทดลองกับประชากรกลุ่มใด เช่น วัคซีนของซิโนแวคศึกษาในกลุ่มประชากรเสี่ยงสูง คือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าประชาชนทั่วไป 3-6 เท่า ย่อมมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำกว่าการศึกษาในประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำ
- วัคซีนของซิโนแวค ประสิทธิภาพโดยรวมที่ประเทศจีนประกาศ 79%, ตุรกีประกาศผลการศึกษาในประชากรทั่วไปได้ 91%, อินโดนีเซียได้ 65% และบราซิลได้ 4% เป็นการศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นด่านหน้าในการป้องกันโรค และอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงทั้งนั้น
ฉีดวัคซีนของซิโนแวคแล้วจะปลอดภัยหรือไม่
- วัคซีนที่นำมาใช้ ได้ผ่านการพิจารณาถึงคุณภาพเรียบร้อยแล้ว อิงตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า วัคซีนที่มีคุณภาพมากกว่า 50% ขึ้นไปสามารถนำมาใช้ได้ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ
- วัคซีนจะนำมาใช้ภายในประเทศไทยได้ จะต้องผ่านการรับรองจาก อย. ซึ่งจะตรวจสอบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพของวัคซีน โดยจะระดมผู้เชี่ยวชาญแทบทุกคนทั่วประเทศ มาช่วยกันประเมินและพิจารณาวัคซีน เพื่อให้พิจารณาได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว
ข้อมูลอื่น ๆ
- วัคซีนที่มีอยู่ทั่วโลกในตอนนี้อาจจะมีหลายชนิด แต่ที่ผ่านการทดลองในคนในระยะที่ 3 และมีการอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลายประเทศเวลานี้มีอยู่ 6 ตัว ได้แก่ ไฟเซอร์/ไบออนเทค, โมเดอร์นา, แอสทราเซเนกา, สปุตนิควี, ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการกับประชากรทั่วโลก จึงต้องมีการแย่งกัน
- วัคซีนของซิโนแวคไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงนับว่ามีความปลอดภัยสูงกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นที่มีอยู่ตอนนี้ จึงสามารถนำมาใช้ได้
- ขณะนี้หลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนของซิโนแวคแล้ว
- วัคซีนที่ไทยสั่งจากซิโนแวคจะมาถึงก่อนวัคซีนชนิดอื่นในเดือนก.พ.
วันนี้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาให้ความมั่นใจกับพวกเราว่า วัคซีนที่ไทยได้เลือกซื้อได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้ฉีดได้ มีความปลอดภัย ถ้าเรายังไม่ฟังหมอ ไม่เชื่อหมอ แล้วเราจะไปเชื่อใคร !!!
---------------
ขอบคุณรูปจากกูเกิ้ลและกระทู้อื่นในโพสต์จัง


