ทำไงดี!! ลิ้นหัวใจรั่ว
ติดตามกันได้ทางช่องทาง Facebook : สุขภาพดี 5 นาทีกับหมอเซียม Youtube : DR Seam Tiktok : DR Seam
สำหรับลิ้นหัวใจ ก็ส่วนประกอบหนึ่งที่อยู่ในหัวใจ ทำหน้าที่แบ่งกั้นห้องหัวใจในการป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ ซึ่งถ้าจะเปรียบไปแล้ว ลิ้นหัวใจก็จะเหมือนกับประตูกั้นไว้ระหว่างห้องสองห้อง ถ้าหากว่าประตูนั้นปิดไม่สนิท ก็จะเหมือนกับภาวะที่ลิ้นหัวใจรั่ว ก็จะเกิดการไหลย้อนของเลือดกลับมาสู่อีกห้องหนึ่งได้ โดยปกติแล้วลิ้นหัวใจของคนเรา จะมีอยู่ 4 ลิ้นด้วยกัน โดยอยู่ทางห้องหัวใจด้านขวา 2 ลิ้น และห้องหัวใจด้านซ้าย 2 ลิ้น
สำหรับอาการของโรคลิ้นหัวใจรั่ว ก็จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรง โดยถ้าหากลิ้นหัวใจรั่วไม่มากก็จะไม่มีอาการ และผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเมื่อลิ้นหัวใจรั่วขนาดปานกลางขึ้นไป โดยอากาาจะมีอาการหลายอย่างด้วยกัน เช่น ในช่วงแรกอาจจะมีเหนื่อยเวลาออกกำลัง แต่ในระยะหลังก็จะมีเหนื่อยมากแม้นั่งพักเฉยๆ ก็จะเหนื่อย โดยเฉพาะในการนอนราบจะเหนื่อยมากจนต้องลุกขึ้นมาเหนื่อยหอบเลยทีเดียว หรือลุกขึ้นมาไอมากขึ้น
ในบางคนจะมีอาการหน้ามืดวิงเวียนเหมือนจะเป็นลม หายใจไม่อิ่ม หายใจสะดุดติดขัด หรือเจ็บแน่นร่วมด้วย และมีอาการบวมน้ำซึ่งจะมีบวมกดบุ๋มที่หน้าแข้ง หรือส่วนน้อยอาจจะมีหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ที่จะทำให้มีอาการใจสั่นหรือใจกระตุก สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว มีได้ตั้งแต่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด โดยเฉพาะโรคหัวใจแต่กำเนิดแบบซับซ้อน หรือบางคนอาจมีลิ้นหัวใจยาวกว่าปกติ แต่อีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในคนไทยคือโรคหัวใจรูมาติก ตามหลังการเป็นไข้คออักเสบ จากการติดเชื้อ Streptococcus group A ซึ่งอาจจะทำให้ลิ้นหัวใจถูกทำลายและเกิดเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วตามมา สำหรับสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน
และสาเหตุสุดท้ายนั่นก็คือ ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากลิ้นหัวใจของคนเราเมื่อใช้เป็นเวลายาวนาน ในคนสูงอายุก็มีความเสื่อมเกิดขึ้นตามอายุ และทำให้เกิดลิ้นหัวใจรั่วได้เช่นเดียวกัน การวินิจฉัยจะเริ่มจากการซักประวัติในอาการที่สงสัย และตรวจร่างกายฟังเสียงหัวใจที่ผิดปกติที่เข้าได้กับลักษณะของลิ้นหัวใจรั่ว อย่างไรก็ตามในการตรวจยืนยัน จำเป็นต้องใช้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจความถี่สูง หรือ echocardiogram ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้ทั้งกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่และมีโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่
รวมทั้งประเมินความรุนแรงของลิ้นหัวใจรั่วได้เช่นเดียวกัน การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว จะเริ่มจาก ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตามการออกกำลังกาย ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะทำการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายที่หักโหมเกินไปหรือมากเกินไป จะมีผลต่อหัวใจได้ และอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
ดังนั้นในคนที่มีลิ้นหัวใจรั่วควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการออกกำลังกายเสมอ งดการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและติดตามการรักษาพบแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าลิ้นหัวใจเรามีความผิดปกติเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที การรักษาสำหรับโรคลิ้นหัวใจรั่ว จะเป็นการรักษาตามอาการ ถ้าหากบวมน้ำหรือขาบวมกดบุ๋ม อาจจะได้ยาขับปัสสาวะ งดอาหารเค็ม แต่ในคนที่มีลิ้นหัวใจรั่วแบบรุนแรงอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจหรือซ่อมแซมลิ้นหัวใจ แล้วแต่ชนิดของลิ้นหัวใจและความรุนแรง รวมถึงสาเหตุที่ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว ทุกคนสามารถเข้าไปชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในคลิปนะครับ