จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สิ้นสภาพความเป็น ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากกรณีถือครองหุ้นสื่อ 2 แห่ง คือ บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม กรณีการวินิจฉัย ส.ส. รวม 64 ราย ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่ถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ รวมถึงกรณีของนายธัญญ์วารินด้วย
.
- ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพยานหลักฐานจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เอกสารการเสียภาษีจากกรมสรรพากร ข้อมูลจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม
.
- นายธัญญ์วาริน (ผู้ถูกร้องที่ 2) ชี้แจงว่า บริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด ประกอบกิจการและมีรายได้จากกิจการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ รับจ้างถ่ายโฆษณา ถ่ายภาพ โฆษณาผลิตภัณฑ์ และสื่อโฆษณาทุกชนิด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์
.
- เบื้องต้นศาลมีคำสั่งให้นายธัญญ์วาริน ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพ โปรดักชั่น จำกัด และบริษัท แอมฟายน์ โปรดักชั่น จำกัด และจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำเนาใบโอนหุ้น สำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น สำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง
.
- อย่างไรก็ดีนายธัญญ์วาริน ไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ยื่นเอกสารตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเรียกทั้งหมด โดยยื่นเพียงเอกสารบางรายการ ได้แก่ สำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้นของบริษัท เฮด อัพฯ ระหว่างนายธัญญ์วาริน ในฐานะผู้โอน กับ น.ส.นันท์มนัส ไกรหา ผู้รับโอน พร้อมทั้งสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท เฮด อัพฯ
.
- บ.เฮด อัพฯ-บ.แอมฟายน์ฯ ทำธุรกิจสื่อหรือไม่?
เอกสารรายได้ของบริษัท ระบุว่า มีรายได้จากค่าบริการผลิตงานถ่ายทอดสด ค่าบริการผลิตละครสั้น และค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการเกี่ยวกับการรับจ้างผลิตรายการโทรทัศน์ สารคดี ละคร ภาพยนตร์โฆษณา ซีรีย์ ซึ่งเป็นกิจการที่เป็นสื่อตัวกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
.
- บริษัท แอมฟายน์ฯ มีวัตถุประสงค์ข้อที่ 23 และข้อ 24 ประกอบกิจการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย อย่างไรก็ดีนายธัญญ์วาริน ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2562 หลังวันสมัครรับเลือกตั้ง นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งขีดชื่อบริษัท แอมฟายน์ฯ ออกจากทะเบียน เป็นผลให้บริษัท แอมฟายน์ฯ สิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่วันดังกล่าว ส่วนกรณีบริษัท แอมฟายน์ฯ เคยประกอบกิจการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ เห็นว่า แบบ สสช.1 ฉบับลงวันที่ 27 พ.ค. 2554 ระบุว่า ผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และฉบับลงวันที่ 28 ก.พ. 2557 ระบุเพิ่มเติมว่า ประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย
.
- บริษัท แอมฟายน์ฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อการแสดง และสื่อการตลาดต่าง ๆ และประกอบธุรกิจเป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อภาพยนตร์ โฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อการแสดง เป็นกิจการที่เป็นตัวกลางในการส่งข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระไปสู่มวลชนที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป
.
- มีการโอนหุ้นจริงหรือไม่?
นายธัญญ์วาริน ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าว และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเชิญประชุม วาระการประชุม ลายมือชื่อผู้เข้าประชุม และบันทึกการประชุม ที่แสดงว่ามีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 จริง และแม้จะปรากฏเอกสารสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้น และสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ว่า นายธัญญ์วาริน โอนหุ้นให้แก่ น.ส.นันท์มนัส ไกรหา วันที่ 11 ม.ค. 2562 ก็ตาม แต่ข้อพิรุธข้างต้นย่อมมีน้ำหนักเพียงพอรับฟังได้ว่า เอกสารหลักฐานดังกล่าวน่าจะถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เจือสมกันกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในแบบ บอจ.5 ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562
.
นอกจากนี้นายธัญญ์วาริน ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้นว่า มีการชำระค่าโอนหุ้นกันอย่างไร และเป็นจำนวนเงินเท่าใด และไม่ได้แสดงเอกสารหลักฐานจากการชำระค่าหุ้นและหลักฐานอื่นทีเกี่ยวข้องที่สามารถยืนยันเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงฟังไม่ได้ว่านายธัญญ์วาริน โอนหุ้นให้แก่ น.ส.นันท์มนัส ในวันที่ 11 ม.ค. 2562 ตามที่ปรากฏในแบบ บอจ.5
.
- จึงเชื่อได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในแบบ บอจ.5 ที่ระบุว่าเป็นรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อนายธัญญ์วารินถือหุ้น แต่ปรากฏชื่อ น.ส.นันท์มนัส และนายณัฐวัฒน์ เป็นผู้ถือหุ้นตามจำนวนและหมายเลขดังกล่าวแทน โดยระบุเลขหมายใบหุ้น และวันลงทะเบียนผู้ถือหุ้นวันที่ 11 ม.ค. 2562 เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกทำขึ้นเพื่อให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่านายธัญญ์วารินไม่ได้ถือหุ้นในบริษัท เฮด อัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ แล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่นายธัญญ์วาริน สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยที่ไม่ได้มีการประชุมและไม่มีการโอนหุ้นกันจริง
.
- อีกทั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญให้โอกาสนายธัญญ์วาริน จัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในประเด็นรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น รวมถึงการโอนหุ้นในบริษัทฯดังกล่าว แต่นายธัญญ์วารินไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดและไม่มาให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในข้อพิรุธดังกล่าว นายธัญญ์วารินเพียงนำส่งเอกสารหลักฐานสำเนาหนังสือสัญญาโอนหุ้น และสำเนาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นให้ น.ส.นันท์มนัส และนายณัฐวัฒน์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 เท่านั้น
.
- ด้วยพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายธัญญ์วาริน เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท เฮดอัพฯ และบริษัท แอมฟายน์ฯ ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต.
.
- ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธัญญ์วาริน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อ ส.ส. เสนอต่อ กกต.













