หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ไอติม สอน "ม็อบ" ต้องหนักแน่นในจุดยืน และรู้จัก "อ่อนน้อม"

ไอติม สอน "ม็อบ" ต้องหนักแน่นในจุดยืน และรู้จัก "อ่อนน้อม"

"ไอติม" สอน "ม็อบ" ต้องหนักแน่นในจุดยืน และรู้จัก "อ่อนน้อม"

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ "ไอติม" คนรุ่นใหม่ อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

ทางออกของประเทศคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : 3 สิ่งจำเป็น สำหรับ “ข้อเสนอ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ปรากฏการณ์ #เยาวชนปลดแอก เมื่อวานทำให้เห็นได้ชัด ว่าพลังของคนในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง มีอยู่จำนวนไม่น้อย และไม่ลดลงจากช่วงก่อนที่วิกฤตโควิดจะเข้ามา

ถึงแม้ในภาพรวม ประเทศไทยจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถเรียก “ศรัทธา” กลับมาจากประชาชนได้ เนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งในมุมของ “ประสิทธิภาพ” ของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และในมุมของ “ความชอบธรรม” ของการได้มาและการใช้อำนาจรัฐภายใต้กติกาที่ไม่เป็นกลาง

ไม่ว่าจะเป็น ความล่าช้าในการใช้ข้อมูลคัดกรองการเยียวยาประชาชนในเบื้องต้น ข้อครหาเรื่องการทุจริตในการควบคุมการผลิตและจำหน่ายหน้ากากอนามัย การออกแบบมาตรการที่ถูกมองว่าเน้นเรื่องสุขภาพด้านเดียวโดยไม่คำนึงถึงเศรษฐกิจ การนิ่งเฉยต่อกรณีการหายตัวของคุณวันเฉลิม การต่ออายุ พรก. ฉุกเฉิน ที่เกินกว่าที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมโรค หรือ การปล่อยให้วัฒนธรรมสองมาตรฐานนำไปสู่การยกเว้นมาตรการกักตัวสำหรับคณะทูตและทหารจากต่างประเทศ

เป้าหมายที่สำคัญสุดตอนนี้ คือเราจะสามารถแปรพลังและความต้องการการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างไร เพื่อให้นำไปสู่ทางออกของประเทศอย่างแท้จริงโดยไม่มีใครต้องบาดเจ็บล้มตาย

ผมเข้าใจถึงเหตุและผลของทั้ง 3 ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม ( 1. ยุบสภา / 2. หยุดคุกคามประชาชน / 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ) ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน

ส่วนตัว ผมมองเหมือนกับที่เคยกล่าวไว้ก่อนโควิด ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดและต้องทำเป็นลำดับแรกคือการ “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่”

ถ้ามีการยุบสภาก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ เราก็ยังมีระบบและกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิม เราก็ยังมี ส.ว. 250 คนที่จะเข้ามาเลือกนายกฯ และ เผลอๆ พรรคฝั่งรัฐบาลอาจมีความพร้อมมากกว่าในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง (อย่าลืมว่าในการเลือกตั้งครั้งถัดไป กฎหมายกำหนดว่าพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100 คน ในเขตเลือกตั้งหนึ่ง ถึงจะส่งผู้สมัครได้ / ไม่แน่ใจว่าพรรคใหม่ๆที่เพิ่งเกิดขึ้นจะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน)

ส่วนถ้าเรายังไม่แก้รัฐธรรมนูญ กลไลการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการตรวจสอบอำนาจรัฐอาจไม่แข็งแรงเท่าที่ควรจะเป็น

เพราะฉะนั้น ทางออกของประเทศตอนนี้ คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นต้นตอและที่มาของระบอบวิปริตทั้งหมด

ถึงแม้กติกาที่วางไว้จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ยากมาก (ต้องมี ส.ว. 84 คนเห็นด้วยถึงจะแก้ได้) แต่ถ้าประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนและฉันทามติจากประชาชนจำนวนมาก ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้

โจทย์ใหญ่สุดตอนนี้ คือจะทำอย่างไรให้คนเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว รวมถึง 11 ล้านคนที่ลงคะแนนไม่รับร่างในประชามติเมื่อปี 2559 คงไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มเติม

ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากรัฐธรรมนูญบับนี้ (เช่น กลุ่มที่ป่าวประกาศว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อเรา”) คงเปลี่ยนอะไรเขาไม่ได้

แต่กลุ่มที่เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องแลกเปลี่ยนความเห็นและสื่อสารด้วย คือกลุ่มคนที่ยังลังเลและไม่แน่ใจ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นอย่างไร

ผมเลยมองว่า “ข้อเสนอ” เรื่องรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องคำนึงถึง 3 เกณฑ์หลัก:

1. ลงลึก “เนื้อหา” ที่ต้องการแก้ไขอย่างชัดเจน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาหลายส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นกลาง แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนสำหรับคนที่ยังลังเล จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องลงรายละเอียดถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ (มาตรา ต่อ มาตรา) ว่าเราต้องการแก้อะไร ไม่แก้อะไร และถ้าแก้เช่นนั้น จะทำให้แต่ละอย่างดีขึ้นอย่างไร

ข้อเสนอของแต่ละคนไม่จำเป็น (และไม่ควร) ต้องเหมือนกันทั้งหมด แต่การคุยกันถึงเนื้อหาของข้อเสนอแต่ละคน จะเป็นวิธีที่สำคัญในการช่วยให้คนเห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาที่สร้างสรรค์ร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในรัฐธรรมนูญ

ผมเคยเสนอการแก้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด 10 ข้อ ที่ผมเรียกว่า “ 5 ยกเลิก / 5 ยกระดับ ” (https://www.facebook.com/254171817929906/posts/4029566233723760/?d=n) ซึ่งผมหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ได้ เช่น การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเนื้อหาที่ไม่จำเป็น / การหยุดใช้เงื่อนไขด้าน “ความมั่นคง” ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน / การยุบวุฒิสภาให้เป็นระบบสภาเดี่ยว / การกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งที่มีบัตร 2 ใบ / การกำหนดให้กรรมการองค์กรอิสระทุกคนต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้ง ส.ส. รัฐบาลและฝ่ายค้าน / การยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มขยับบทสนทนาเรื่องรัฐธรรมนูญจากการถกเถียงว่าเราควร “แก้ หรือ ไม่แก้” มาเป็นการร่วมกันออกแบบว่าเราควร “แก้ปัญหา/เนื้อหาตรงนี้อย่างไร” เราจะได้ข้อตกลงร่วมกันได้เร็วขึ้น

2. ครอบคลุมทางออกด้าน “เศรษฐกิจ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิดจะทำให้ปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องเผชิญ “หนักหน่วง” กว่าที่ผ่านมา

“หนัก” ในเชิงของรายได้ที่ลดลงและอัตราการว่างงานที่จะสูงขึ้นอย่างมหาศาล

“หน่วง” ในเชิงของความไม่แน่นอนของระยะเวลาที่เราจะต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ เนื่องจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อใหม่ การพัฒนาวัคซีนที่ยังไม่ชัดเจน และการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมท้ายๆที่จะกลับมาฟื้นตัว (ถ้าฟื้นได้)

ข้อเสนอด้านรัฐธรรมนูญ จึงจะมีโอกาสได้รับฟังและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงและแสดงให้เห็นได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีขึ้นอย่างไร

ถึงแม้บางคนจะบอกว่าให้ “แก้ปัญหาปากท้องก่อน” แต่ความจริงแล้วการออกแบบโครงสร้างรัฐมีความสัมพันธ์กันกับประสิทธิภาพของรัฐในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญทางประวัติศาสตร์ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ มักเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้งและการได้มาซึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression 1929) และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

เช่นเดียวกัน วิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-สังคมหลายส่วน ซึ่งอาจต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการผลักดัน เช่น

(i) ความสำคัญในการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” เพื่อเป็น “ตาข่ายรองรับ” คุณภาพชีวิตของประชาชนในยามวิกฤต

- ปัจจุบันมีสวัสดิการหลายด้านที่รัฐมีการจัดสรร แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง (เช่น สิทธิรักษาพยาบาลที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 ระบบ หรือ สิทธิเรียนฟรีในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐานที่ยังคงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆเข้ามาแทรก) และ มีอีกหลายสวัสดิการที่หลายคนเริ่มมองถึงความจำเป็นในการให้รัฐเข้ามาจัดสรร (เช่น สิทธิในอากาศสะอาด สิทธิในการได้รับการคุ้มครองด้านข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในรายได้ขั้นพื้นฐาน หรือ Universal Basic Income)

- ถ้าเรามองว่าภาครัฐยังไม่จัดสรรสวัสดิการใดอย่างทั่วถึง การบรรจุสวัสดิการนั้นให้เป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ จะเป็นก้าวแรกในการรองรับและปกป้องสวัสดิการนั้นให้ประชาชนทุกคน

(ii) ความสำคัญของเทคโนโลยีในการหารายได้ สร้างงาน และเข้าถึงบริการต่างๆที่สำคัญ (เช่น บริการทางการเงิน การเรียนออนไลน์)

- เราสังเกตเห็นในช่วงโควิดว่าใครที่เข้าถึงและใช้เทคโนโลยีเป็นจะได้เปรียบเป็นอย่างมาก

- เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าถึงโลกดิจิทัลที่ไม่เท่ากัน (Digital Divide) การบรรจุ “สิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยี/อินเตอร์เน็ต” ในรัฐธรรมนูญอาจเป็น “สัญลักษณ์” และแรงกระเพรื่อมที่สำคัญในการกระตุ้นให้รัฐเอาจริงเอาจังกับการวางโครงข่ายให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพในราคาต่ำ (ตัวอย่างประเทศที่ใช้วิธีนี้ แต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควร คือประเทศเม็กซิโก)

(iii) ความสำคัญของการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจ

-ในมุมหนึ่ง ความสำเร็จของกลไก อสม. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีคนที่ใกล้ชิดกับพื้นที่ในการออกแบบและขับเคลื่อนมาตรการต่างๆของรัฐ
- แต่ในอีกมุมหนึ่ง การที่รัฐบาลต้องพึ่ง พรก. ฉุกเฉิน ในการควบคุมโรค แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมของระบบราชการปัจจุบันในการจัดการกับปัญหาที่ทับซ้อนความรับผิดชอบของหลายหน่วยหรือกระทรวง

- การออกแบบโครงสร้างรัฐใหม่ในสองประเด็นที่คาบเกี่ยวกันนี้ จะมีความจำเป็นยิ่งขึ้นในอนาคตที่ปัญหาและโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจจะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น (เช่น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) คาบเกี่ยวหลายกระทรวงมากขึ้น (เช่น การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่จะทำให้นิยามเดิมของ “การศึกษา” ใช้ไม่ได้ หรือ ปัญหาสังคมสูงวัยที่สร้างความท้าทายต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุข) และต้องการมาตรการที่อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ (เช่น การรับมือกับวิกฤตสภาพแวดล้อมและการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ)

3. หนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมด้วยท่าที

ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าเนื้อหาของข้อเสนอจะเป็นอย่างไร วิธีการสื่อสารและนำเสนอก็มีความสำคัญเช่นกัน

การใช้ภาษาที่รุนแรงหรือโจมตีตัวบุคคลอาจเป็นวิธีที่ได้ผลในการปลดปล่อยความไม่พึงพอใจ หรือการสร้างอารมณ์ร่วมในกลุ่มคนที่คิดเห็นตรงกัน และการที่คนเลือกจะใช้ภาษาที่รุนแรงก็ไม่ได้ลดสิทธิ์ของเขาในการแสดงความเห็นหรือลดคุณค่าของความเห็นเขา

แต่ถ้าเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ เราจำเป็นต้องสื่อสารและโน้มน้าวคนที่เห็นต่างจากเรา

การใช้ภาษาที่สุภาพและนำเสนอความเห็นด้วยการให้เหตุผลนำอารมณ์ จึงอาจจะได้ผลกว่าในการเชิญชวนให้คนที่ลังเลหรือเห็นต่างกับเรา หันมาเริ่มเปิดใจรับฟังและเปลี่ยนมาเห็นด้วยกับสิ่งที่เรานำเสนอ

เหมือนกับที่เด็กคนหนึ่งคงไม่อยากจะรับฟังคำแนะนำจากผู้ใหญ่คนหนึ่ง (ไม่ว่าคำแนะนำจะดีแค่ไหน) ถ้าผู้ใหญ่เริ่มต้นด้วยการเรียกเขาว่า “เด็กเมื่อวานซืน” ผู้ใหญ่คนหนึ่งก็คงไม่อยากจะรับฟังความเห็นของเด็กคนหนึ่ง (ไม่ว่าความเห็นจะถูกต้องตามหลักการแค่ไหน) ถ้าเด็กเริ่มต้นด้วยการเรียกเขาว่า “ไดโนเสาร์”

ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เพื่อจะบอกว่าเรามีอารมณ์โมโหหรือไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ แต่ผมไม่อยากเห็นคนอื่นมองข้ามความคิดที่ดีของเรา เพียงเพราะเขาตัดสินเราจากคำพูดหรือวิธีการที่เราใช้

การ “หนักแน่นในจุดยืน แต่อ่อนน้อมด้วยท่าที” อาจจะเป็นวิธีสำคัญในการได้ผู้สนับสนุนมาร่วมกับเรามากขึ้น

ถ้าข้อเสนอด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถผ่าน 3 เกณฑ์นี้แล้ว ผมเพียงแต่หวังว่าคนที่ยังลังเลหรือไม่แน่ใจ จะหันมาร่วมกันสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งกติกาที่เป็นกลาง ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และโครงสร้างรัฐที่มีประสิทธิภาพในรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคม

#Ringsideการเมือง

ขอบคุณเนื้อหา และสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/152665702176493/posts/736058353837222/
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
มารคัส's profile


โพสท์โดย: มารคัส
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
25 VOTES (5/5 จาก 5 คน)
VOTED: zerotype, ยิ้มทุกวัน, มีร่า, tommmy, bgs
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ครูหนุ่มชาวจีนโพสต์รูปตัวเอง เปรียบเทียบสมัยก่อนเเละหลังทำงานได้ 6 ปี เปลี่ยนไปจริง ๆ 😌รพ.แม่ลาน แจง! "บังชาติ"หรือ"แม่หญิงลี" ไม่ได้เป็นบุคลากรรพ.แม่ลาน หลังบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด!เปิดบ้านซุปตาร์ "ลิซ่า BLACKPINK" ที่เกาหลีใต้ มูลค่ากว่า 200 ล้าน..ฉลองวันเกิดครบ 27 ปีOK ล็อตเตอรี่ รวมเลขดังไว้ที่นี่ 1 เมษายน 2567"บิ๊กเต่า" รับหลักฐาน "ทนายตั้ม" ลั่น ใหญ่แค่ไหนก็จับ ไม่มีใครใหญ่กว่าประตูห้องขังCIB ร่วม อย. ทลายแก๊ง ขายอาหารเสริม อาหารหลอกรักษาโรคร้าย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาทบ้าไปแล้ว! โพสต์ขายดินสอ 5 ล้าน..อึ้งกว่าคือ มีคนแย่งซื้อถึง 4 คนระทึก! เรือยักษ์บรรทุกสินค้าชนสะพานถล่ม ทำให้มีผู้คนและรถยนต์จำนวนมากตกลงสู่แม่น้ำเบื้องล่าง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ประเทศที่ระบบการศึกษา มีมาตรฐานดีเยี่ยมมากที่สุดในปัจจุบันรพ.แม่ลาน แจง! "บังชาติ"หรือ"แม่หญิงลี" ไม่ได้เป็นบุคลากรรพ.แม่ลาน หลังบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด!
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
CIB ร่วม อย. ทลายแก๊ง ขายอาหารเสริม อาหารหลอกรักษาโรคร้าย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท"บิ๊กเต่า" รับหลักฐาน "ทนายตั้ม" ลั่น ใหญ่แค่ไหนก็จับ ไม่มีใครใหญ่กว่าประตูห้องขังWhoscall เปิดให้เช็กข้อมูลหลุด โดยการกรอกเบอร์มือถือ"ทนายตั้ม" หอบหลักฐาน "บิ๊กตำรวจ" รับส่วยให้ "บิ๊กเต่า" ตรวจสอบแล้ว
ตั้งกระทู้ใหม่