ว่าด้วยเรื่องน่าสนใจ ของลิงกังเก็บมะพร้าวในประเทศไทย
ช่วงนี้มีกระแสดราม่า เกี่ยวกับเรื่องการใช้แรงงานของลิงเก็บมะพร้าว ที่ไทยเราเองนั้นก็มีดราม่าอยู่กับประเทศอังกฤษ และอาจจะลามไปหลายประเทศในอนาคต ถ้าแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลกันได้ไม่ดีเพียงพอ เรื่องดราม่านี้นั้นส่งผลให้เกิดปัญหามากมายทางการค้า ส่งผลกระทบกับเกษตรกรไทย แบบไม่ค่อยจะเป็นธรรมเท่าใดนัก ในความคิดของผู้เขียนเอง แต่เรื่องนี้เองก็มีหลากหลายมุมมอง แม้แต่คนไทยเราบางคนเอง บางคนก็ออกมาสนับสนุนการไม่ใช้แรงงานลิง แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากในปัจจุบันนี้ การใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวนั้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่เดิมมากแล้ว และ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ให้การดูแลลิงเป็นอย่างดี ไม่ได้มีความเป็นอยู่ลำบากแต่อย่างใด ดังนั้นการที่มีคนบางกลุ่ม ทั้งคนไทยเอง และ คนต่างชาติออกมาประท้วงเกี่ยวกับเรื่องการใช้งานลิงกัง ในความคิดของผู้เขียน จึงดูเป็นเรื่องไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าใดนัก แถมข้อมูลของบางคนที่มาแย้งก็เป็นข้อมูลเก่าเก็บ ผสมปนเปกันให้ดูเป็นปัญหามากกว่า จะมาสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งในเรื่องนี้ ก็คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ทำการแก้ไขข่าว และ ประสานงานทำความจริงให้เป็นที่ประจักษ์กันต่อไปครับ ส่วนในบทความนี้ ก็จะนำเสนอเกี่ยวกับ เรื่องราวเกี่ยวกับข้อมูลตามธรรมชาติ ของลิงกังเก็บมะพร้าวของไทยจ้า
ลิงกังถิ่นเหนือ
ลิงกังถิ่นใต้
ลิงกัง (pig-tailed macaque)มีด้วยกันสองชนิด คือ ลิงกังถิ่นเหนือ กับ ลิงกังถิ่นใต้
ลิงกังถิ่นเหนือ(northern pig-tailed macaque) มี ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า macaca leonina พบใน พม่า ลาว เวียดนาม เขมร บังกลาเทศ ลุ่มน้ำพรหมบุตรในอินเดีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนานของจีน และภาคเหนือจนถึงภาคกลางตอนล่างของไทย ส่วนลิงกังถิ่นใต้(southern pig-tailed macaque) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า macaca nemestrina เรียกอีกชื่อว่า ลิงกังซุนดา พบทางภาคใต้ของไทย จนตลอดทั้งแหลมมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว
ลิงกังถิ่นใต้ กำลังปลิดมะพร้าว ด้วยความชำนาญ
โดยที่ลิงกังทั้งสองชนิดนั้นจะมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน โดยมีน้ำหนักราว 5 -15 กิโลกรัม ตัวผู้ยาว 78 เซนติเมตร ตัวเมียยาว 68 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างอ้วนป้อม มีหางที่สั้นเล็กคล้ายกับหางหมู มีขนออกสีน้ำตาลและสีจะอ่อนลงบริเวณส่วนอกและท้อง สำหรับความแตกต่างของลิงกังทั้งสองชนิด นอกจากถิ่นกระจายพันธุ์แล้ว อีกอย่างหนึ่ง คือ สีขน ที่มีความแตกต่างกัน โดยลิงกังถิ่นใต้จะมีขนสีน้ำตาลทอง ส่วนลิงกังถิ่นเหนือจะมีสีน้ำตาลอมเทา ขณะที่ลักษณะอื่นๆนั้นจะคล้ายคลึงกัน
เลี้ยงเอาไว้จับหนูกินบ้างก็ยังได้นะ
ตามธรรมชาตินั้น ลิงกังทั้งสองชนิดชอบอาศัยตามป่าดิบชื้นบนภูเขา ที่ระดับความสูง 2,000 เมตร จะอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆจำนวนมาก กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น ผลไม้ เห็ด เมล็ดพืช ไข่นกและสัตว์เลื้อยคลาน หรือ สัตว์เลือดอุ่นตัวเล็กๆ ชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำ มีศัตรูตามธรรมชาติ คือ เสือดาวและงูใหญ่ ลิงกังจะมีอายุเข้า ช่วงผสมพันธุ์ได้เมื่อ 3 -5 ปี แม่ลิงตั้งท้อง 5-6 เดือนและมีลูกหนึ่งตัวต่อทุกๆสองปี ปัจจุบัน IUCN จัดให้ลิงกังทั้งสองชนิด อยู่ในสถานะชนิดพันธุ์ที่ไม่มั่นคง( Vulnerable)
แม่ลิงกังกำลังเลี้ยงลูกน้อย น่ารักจริงๆหนอ
ในประเทศไทย ลิงกังทั้งสองชนิด โดยเฉพาะลิงกัง ถิ่นใต้ ได้ถูกนำมาฝึกสอน เพื่อใช้เก็บมะพร้าว เป็นเวลายาวนานมากกว่า 400 ปีเลยทีเดียว จึงเรียกได้ว่าการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าวนั้น ได้กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ของพี่น้องชาวเกษตรบ้านเราแล้ว
******************************************************************************************
Referrence : เพจบันทึกธรรมชาติ Nature Diary
*********************************************************
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียนได้เพิ่มที่นี่นะครับ ได้รวบรวมเป็นลิงค์มาให้แล้ว เพื่อความสะดวกครับ
https://page.postjung.com/dukedick
ถ้าพี่ๆน้องๆสนใจบทความ และ หนังสือน้องกุ้งแคระ & กุ้งเครย์ และสัตว์น้ำอื่นๆของผู้เขียน อยากเก็บเอาไว้สะสม สามารถเข้าไปที่นี่ได้เด้อครับ
https://ebooks.in.th/thaiaquaclub
ติดตาม แฟนเพจ Thai Aquatic Pet เพื่อติดตามเรื่องราวน่าสนใจ เกี่ยวกับสัตว์น้ำสวยงาม ได้ที่นี่ครับ
https://www.facebook.com/Thailand-Aquatic-Pets-เพจคนรักสัตว์น้ำ-229670613731393/
**********************************************







