หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

เงือกน้ำ-เงือกงู

ตามแหล่งข้อมูลเท่าที่สามารถตามสืบค้นได้ในขณะนี้ สามารถระบุได้ว่า “เงือกน้ำ” ถูกบันทึกกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว โดยมีการปรากฏตัวอยู่ในวรรณกรรมงานเขียนของสมัยนั้นชื่อเรื่อง โสวัตกลอนสวด แต่ตามปกติในสำนวนวรรณกรรมร้อยกรองมักเรียก เงือกน้ำ ไว้อย่างย่อๆว่า เงือก ด้วยเช่นกัน

เงือกน้ำ-เงือกงู

ภาพจิตรกรรมเรื่อง สุวรรณหงส์ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะโดยทั่วไป

เงือกน้ำนี้มีรูปร่างทุกส่วนสัดเหมือนมนุษย์ทุกประการ ทว่ามีหางเหมือนอย่างปลาเพิ่มเข้ามา โดยอ้างอิงตามข้อมูลจากเรื่อง พระอภัยมณี ได้บรรยายเอาไว้ตอนที่สินสมุทรหนีออกจากถ้ำไปว่ายน้ำเล่นในทะเลแล้วได้พบเงือกน้ำเป็นครั้งแรกว่า

เห็นฝูงเหงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล

คิดว่าคนมีหางเหมือนอย่างปลา

รวมถึงในเหตุการณ์ที่บิดามารดาของนางเงือกยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อช่วยให้บุตรสาวสามารถพาพระอภัยมณีและสินสมุทรไปส่งถึงเกาะแก้วพิสดารได้อย่างปลอดภัยด้ยการเบี่ยงเบนความสนใจนำนางยักษ์ผีเสื้อสมุทรไปผิดทางครั้งแล้วครั้งเล่าจนถูกนางยักษ์จับกินเพราะรู้ทัน ก็ได้มีการย้ำอีกครั้งว่า เงือกน้ำนี้มีขา ดังนี้

แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน

ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่

และเนื่องจากเงือกน้ำมีขา จึงสามารถอยู่บนบกได้ ในเรื่อง ดาราวงศ์ ได้กล่าวถึงนางเงือกที่ช่วยนางประไพสุริยาให้รอดจากการจมน้ำเพราะเรือแตกกลางมหาสมุทรแล้วพามาอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นที่พักของนางเงือกนั้น ซึ่งนางเงือกเองหลังทราบว่านางประไพสุริยาได้พลัดกับพระดาราวงศ์ก็ได้เสนอตัวอาสาเป็นเพื่อนช่วยออกตามหาในป่าด้วย ดังนี้

เจ้าจงอยู่กับพี่ที่คูหา

แล้วจะพาขึ้นไปยังไพรสัณฑ์

เที่ยวค้นดูกว่าจะพบประสบกัน

แต่เดี๋ยวนี้เจ้านั้นไม่สบาย

จากข้อมูลนี้ แสดงให้เห็นว่า เงือกน้ำสามารถเดินทางบนพื้นดินได้ด้วย ทว่าเป็นที่น่าเสียดาย เพราะเรื่องดาราวงศ์แต่งไม่จบ จึงไม่มีโอกาสได้ทราบว่านางเงือกน้ำนี้จะได้ออกผจญภัยบนบกเป็นเพื่อนนางประไพสุริยาด้วยรึไม่

 

ส่วนประเด็นเรื่องลักษณะของหางนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นหางที่มีเกล็ดแบบปลา แต่สมควรเป็นหางแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใช้ชีวิตกันในน้ำอย่าง วาฬ โลมา รึ พะยูน มากกว่า ส่วนเรื่องลายเกล็ดอาจอนุมานได้ว่า เกิดจากการสักลวดลายให้เป็นรูปเกล็ดก็ได้

 

ที่อยู่อาศัย

ข้อมูลจากเรื่อง ดาราวงศ์ ในช่วงเหตุการณ์ก่อนที่นางเงือกน้ำจะได้ช่วยชีวิตนางประไพสุริยา ระบุเอาไว้ว่า

มาจะกล่าวบทไป

ถึงนางเงือกอยู่ในนทีศรี

นั่งอยู่ในถ้ำมณี

ได้ยินเสียงวารีครึกครื้น

จำจะออกไปดูที่นอกถ้ำ

เห็นมืดค่ำหนักหนาไม่ฝ่าฝืน

ผิดระดูก่อนปางใช่กลางคืน

มิใช่คลื่นผิดสังเกตนี่เหตุใด ฯ

คิดแล้วนางเงือกจรลี

ออกจากถ้ำมณีศรีใส

โดดลงในน้ำทันใด

ก็แหวกคงคาไลยขึ้นมา ฯ

จากข้อมูลจุดนี้ ระบุว่า เงือกน้ำใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ และถ้ำเงือกในเรื่องดาราวงศ์นี้น่าจะอยู่บนบก เพราะนางเงือกเดินออกจากถ้ำมาดูเหตุผิดสังเกตด้านนอก และโดดลงในทะเลเพื่อว่ายไปดู ดังนั้นถ้ำเงือกในเรื่องนี้น่าจะตั้งอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทร ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่า พวกเงือกน้ำไม่ได้ใช้ชีวิตกันอยู่ในน้ำเหมือนอย่างปลา แต่มีถ้ำคูหาพื้นที่แห้งเป็นที่อยู่ และในเรื่อง พระอภัยมณี ไดระบุว่า พวกเงือกน้ำใช้ชีวิตอยู่รวมกันเป็นฝูง ด้วยวรรคที่ว่า เห็นฝูงเหงือกเกลือกกลิ้งมากลางชล แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับอุปนิสัยโดยส่วนตัวด้วยเหมือนกัน เพราะนางเงือกในเรื่องดาราวงศ์เองก็อาศัยอยู่ในถ้ำตามลำพัง

 

อนึ่ง เงือกน้ำไม่ได้มีอยู่แค่ในมหาสมุทรซึ่งเป็นน้ำเค็มเท่านั้น แต่ยังสามารถอาศัยอยู่ในน้ำจืดได้ด้วย ดังที่มีปรากฎอยู่ในเรื่อง โสวัตกลอนสวด ที่กล่าวถึงพระโสวัตที่ออกเดินทางไปในป่าจนได้ช่วยชุบชีวิตเงือกนางหนึ่งซึ่งถูกพรานยิงตายอยู่ริมธารกลางป่าและได้นางมาเป็นชายา นางเงือกจึงได้พาพระโสวัตข้ามน้ำไปส่งที่เมืองยักษ์ตามที่พระองค์ต้องการ ดังนั้นจึงพอจะบอกได้ว่า พวกเงือกน้ำไม่ได้มีอยู่แต่ในมหาสมุทร แต่ยังอาศัยอยู่ตามแหล่งต้นน้ำธรรมชาติด้วยเช่นกัน

 

การใช้ชีวิต

ในเรื่อง พระอภัยมณี ระบุว่าพวกเงือกน้ำเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ตามที่บิดาเงือกได้บอกไว้ว่า

ถ้าเสียเรือเหลือคนแล้วนางเงือก

ขึ้นมาเลือกเอาไปชมประสมศรี

เหมือนพวกพ้องของข้ารู้พาที

ด้วยเดิมทีปู่ย่าเป็นมนุษย์

ซึ่งพฤติกรรมการมาเลือกพาตัวผู้ชายเรือแตกไปเป็นสามีค่อนข้างคล้ายคลึงกับพฤติกรรมพวกเงือกไร้ขาของทางฝั่งยุโรปอยู่บ้าง แต่พวกเงือกน้ำจะเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างมนุษย์กับเงือกไร้ขารึไม่นั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยัน เพราะในอดีตทางฝั่งสยามเองก็ยังมีสายพันธุ์เงือกโบราณชนิดอื่นอีก เช่น เงือกงู ที่ยังไม่สามารถระบุรูปลักษณ์ได้อย่างชัดเจน เป็นต้น แต่ถึงกระนั้นพวกเงือกน้ำก็ยังมีอายุขัยที่ยืนยาวมาก ตามที่บิดาของนางเงือกจากเรื่อง พระอภัยมณี เคยบอกไว้ว่า

อายุข้าห้าร้อยแปดสิบเศษ

จึงแจ้งเหตุแถวทางกลางสมุทร

และเนื่องจากเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ จึงทำให้นางเงือกน้ำที่ตั้งครรภ์กับมนุษย์ พวกนางจึงคลอดลูกออกมาเป็นมนุษย์ตามไปด้วย ดังที่มีปรากฏอยู่ในเรื่อง พระอภัยมณี และ สุวรรรหงส์ เป็นต้น แต่หากพวกเงือกน้ำต้องการใช้ชีวิตอยู่บนบกเหมือนมนุษย์ทั่วไป ก็สารมารถทำได้เช่นกัน โดยจะต้องตัดหางทิ้ง เช่น กรณีของ พระนางจันทวดีพันปีหลวงมารดาของสุดสาคร และ มัจฉานุบุตรชายของหนุมาน

 

ส่วนอาหารหลักของพวกเงือกน้ำนั้น มีทั้งพืชและสัตว์ โดยอาศัยหาอาหารตามพื้นดินใต้น้ำเป็นหลักซึ่งก็ไมน่าจะลึกมากนัก โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากเรื่อง พระอภัยมณี ว่า

ฝ่ายเงือกน้ำสำหรับทะเลลึก

ไม่วายนึกถึงองค์พระทรงโฉม

พอแจ่มแจ้งแสงทองผ่องโพยม

ปลอบประโลมลูกเมียเข้าเคลียคลอ

จะไปลอยคอยองค์ทรงสวัสดิ์

ให้สมนัดซึ่งสัญญาเธอมาหนอ

จากข้อมูลนี้ได้ความว่า จุดหากินของเงือกน้ำนั้น ถึงจะอยู่ใต้น้ำแต่ก็ยังสามารถมองเห็นแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ที่ส่องทะลุลงมาได้อยู่เช่นกัน และในเรื่อง พระอภัยมณี ยังมีบันทึกถึงอาหารการกินของนางเงือกน้ำผู้เป็นมารดาของสุดสาครในช่วงที่ถือศีลไว้ว่า

ครั้นรุ่งเช้าเล่าก็ไปกินไคลน้ำ

ต่อเย็นค่ำจึงมาอยู่ในคูหา

ให้กินนมชมลูกทุกเวลา

ตามประสายากจนของชนนี

และ

ฝ่ายมัจฉานารีไปที่อยู่

ในแอ่งคู่ธารท่าชลาไหล

จำเริญศีลเป็นสุขไปทุกข์ภัย

กินแต่ไคลพอเป็นยาในวาริน

จึงพอจะระบุได้ว่า เงือกน้ำนั้นจะออกไปหากินที่นอกถ้ำตั้งแต่เช้าและจะกลับเข้าถ้ำในยามเย็น ส่วน “ไคลน้ำ” นี้น่าจะหมายถึง ต้นไคร้น้ำ(ไคล้น้ำ/ไคร้หิน/ฯลฯ) ซึ่งเป็นสมุนไพรจัดอยู่ในกลุ่มพรรณไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ ๗ เมตร มักขึ้นตามโขดหินริมลำธาร ตามแม่น้ำ หรือบริเวณชายฝั่งทะเลที่น้ำท่วมถึง โดยส่วนที่นิยมกินคือ ยอดอ่อน และส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็น ใบ ลำต้น ยาง ราก ผล ล้วนมีสรรพคุณทางยาโดยขึ้นอยู่กับวิธีนำมาใช้ ซึ่งตรงกับข้อมูลที่แม่ของสุดสาครกินไคลน้ำเป็นยาด้วยอีกเช่นกัน

กิจวัตรของพวกเงือกน้ำฝ่ายหญิงนั้น ถูกระบุไว้ในเนื้อเพลงระบำนางเงือก จากเรื่อง สุวรรณหงส์ ไว้ด้วยว่า

พวกเรา เหล่าเงือกน้ำ

อยู่ประจำท้องนที

เนาในถ้ำมณี

อันโชติช่วงชัชวาล

เสพแต่สันติสุข

นิรทุกข์จากภัยพาล

อายุยาวยืนนาน

โดยบำราศความชรา

ทุกนางสำอางค์พักตร์

ศิริลักษณ์ดั่งเลขา

สวยสดสาวโสภา

อยู่ตลอดนิรันดร์กาล

เวลาคราอรุณ

แสงแดดอุ่นทั่วท้องธาร

บันเทิงเริงสำราญ

สำรวลรื่นชื่นฤทัย

ต่างผุดขึ้นผิวน้ำ

มาคลาคล่ำดำโลดไล่

แหวกว่ายสายน้ำใส

เล่นคว้าไขว่กันไปมา

ลางนางขึ้นหาดทราย

สางสยายเกล้าเกศา

เพ่งมองส่องฉายา

ตะลึงโลมโฉมของตน

ลางนางต่างรำร่าย

กรกรีดกรายสายวังวน

อาบแสงสุริยนต์

สุดเกษมเปรมฤดี

จากกลอนชุดนี้ นอกจากจะกล่าวยืนยันว่า พวกเงือกน้ำมีอายุยืนยาวมากแล้วยังระบุว่าพวกเงือกน้ำจะไม่แก่ชราไปตามวัย และมีรูปร่างหน้าตางดงามอยู่ตลอดกาลจนวันตาย โดยพวกเงือกน้ำจะพักผ่อนอยู่ในถ้ำอย่างปลอดภัยจนกว่าจะรุ่งเช้า เมื่อแสงแดดเริ่มอุ่นพวกนางก็จะออกจากถ้ำมาเล่นน้ำดำผุดดำว่าย เล่นไล่จับกันในน้ำบ้าง ขึ้นมานั่งสางผมส่องกระจกบ้างบนหาดทราย(ริมฝั่ง) บางนางก็ร่ายรำอาบแสงแดด ซึ่งก็คงเป็นกิจวัตรปกติของพวกเงือกน้ำ คือ เช้าออกจากถ้ำมาหากิน พอตกเย็นก็กลับเข้าถ้ำนอน เป็นวงจรซ้ำๆอยู่ประมาณนี้

 

เงือกน้ำ-เงือกงู

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา – ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๑

 

เท่าที่ทางเราค้นพบในตอนนี้ “เงือกน้ำ” ปรากฏตัวในวรรณกรรมงานเขียนตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการปรากฏอยู่ตามผลงานเหล่านี้ คือ

โสวัตกลอนสวด

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา – ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๑

สุวรรณหงส์(สุวรรณหงส์ยนต์)

ดาราวงศ์

พระอภัยมณี

(หากมีการค้นพบเพิ่มเติมจะนำข้อมูลมาเสริมอีกในภายหลัง)

 

เป็นระยะเวลาที่ยาวนานร่วมร้อยปีทีเดียวที่เงือกจากเรื่องนี้และเงือกในมุมมองของไทยถูกออกแบบตามเงือกของฝรั่งไปหมด กว่าที่คนไทยจะได้รู้ว่า จริงๆนั้นไทย(สยาม)นี้ ยังมีเงือกอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีขาอย่างมนุษย์ และสมัยก่อนเขารู้จักเงือกชนิดนี้กันดีและเรียกว่า "เงือกน้ำ"

นับว่าเป็นโชคดีมากๆที่ยังพอหลงเหลือหลักฐานร่องรอยภาพวาดจิตรกรรมโบราณของเงือกน้ำซุกซ่อนอยู่ในแผ่นดิน ชาวไทยจึงได้มีโอกาสรู้จักรูปร่างหน้าตาเงือกน้ำของชาวสยามกันเสียที

 

ข้อมูลของ “เงือกงู”

ลักษณะของเงือกงูที่พอจะรวบรวมได้อย่างลางๆระบุว่า เงือกชนิดนี้น่าจะมีสีขาวไม่ก็สีเขียว ตามที่ระบุไว้ในเรื่อง พระอภัยมณี ว่า

ฝูงเงือกงูดูราวบ้างขาวเขียว
ว่ายตามเกลียววังวนชลสาย

 

พฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างคร่าวๆก็ถูกระบุอยู่ในเรื่องพระอภัยมณีว่า

ฝูงเงือกงูดูงามเลื้อยตามกัน
บ้างดำดั้นผุดพ่นชลธี

แสดงให้เห็นว่า เงือกงูเคลื่อนไหวไปตามละลอกคลื่นในมหาสมุทรด้วยการเลื้อย และใช้หางในการเคลื่อนไหวแหวกว่ายอยู่ในน้ำเป็นหลัก ตามที่เรื่อง พระอภัยมณี บอกไว้ว่า

ตะเพียนทองล่องไล่ในสินธู

ตามเงือกงูเล่นหางกลางทะเล

และ

ฝูงเงือกงูชูหางกลางสมุทร

บ้างดำผุดไล่กันผันผยอง

 

ส่วนในเรื่อง แก้วหน้าม้า ยังได้กล่าวถึงอาหารและการเติบโตของพวกเงือกงูไว้อีกว่า

เงือกงูดูดังนาคราช
วงวาดท่องเที่ยวเลี้ยวไล่
บ้างว่ายแวะแทะหินกินไคล
เติบใหญ่เท่าลำเภตรา

จึงสามารถระบุได้ว่า เงือกงูกินพืช(แต่ก็อาจกินเนื้อด้วย) และสามารถเติบโตได้จนมีขนาดตัวยาวพอๆกับเรือสำเภา

 

นอกจากนี้ ในงานเขียนหลายเรื่อง มักระบุตรงกันว่า เงือกงู มักปรากฏตัวพร้อมๆกับเหล่าสัตว์ดุร้ายในท้องทะเล เช่น ปลาฉลาม กระเบนราหู ปลาฉนาก มังกร(เหรา) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งถ้าว่ากันตามข้อมูลแล้ว หน้าตาของเงือกงูก็ค่อนข้างนากลัวพอสมควร อย่างเช่นที่เรื่อง อุณรุท ได้กล่าวไว้ว่า

ฉนากฉลามราหูงูเงือก

เหลือกตากลอกกลมผมสยาย

 

ในเรื่อง ดาหลัง ก็กล่าวว่า

ลางลำทำรูปงูเงือก

ตากลอกเกลือกกลมผมสยาย

จากข้อมูลเบื้องต้น จึงพอระบุหน้าตาของเงือกงูได้ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีดวงตาเหลือกกลม และกลอกกลิ้งไปมาได้ อีกทั้งยังมีเส้นผมที่ยาวสยาย ทว่านอกจากหน้าตาที่ดูน่ากลัวแล้ว อุปนิสัยของเงือกงูก็ค่อนไปทางดุร้ายอยู่ อย่างที่ในเรื่อง ลิลิตพระลอ ระบุว่า

เงือกเอาคนใต้น้ำ

กล่ำตากระเหลือก

กระเกลือกกลอกตากลม

ผมกระหวัดจำตาย

จากลักษณะที่กล่าวมา เงือกงูนั้นสามารถใช้เส้นผมที่ยาวสยายมัดร่างคนฉุดลงใต้น้ำจนตายได้ด้วยการ และในเรื่อง ลิลิตพระลอ ยังระบุด้วยว่า เงือกงูนั้นอยู่ตามห้วยหนองคลองบึง แสดงให้เห็นว่า เงือกงูสามารถอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มเช่นกัน

 

ข้อมูลสำคัญที่ระบุถึงลักษณะทางกายภาพของเงือกงูอย่างอ้อมๆ ปรากฏอยู่ใน นิราศลอนดอน ซึ่งมีประโยคที่กล่าวถึงเงือกงูไว้ว่า

เขาก่อหินกันดินตามข้างข้าง

มีลำรางร่องน้ำงามหนักหนา

สลักรูปหอยปูเงือกงูปลา

ถัดออกมาทำระเบียงเฉลียงราย

จากประโยควรรคนี้ ได้ให้ข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง คือ หากใช้มุมมองในปัจจุบัน ภาพสลักเงือกงูที่ปรากฏอยู่ตามรางน้ำที่ลอนดอน ก็น่าจะหมายถึงพวกเงือกที่เป็นครึ่งปลาของชาวตะวันตก แต่ถ้าในสายตาของชาวสยามที่ได้ไปเยือนในยุคนั้นเห็นเงือกครึ่งปลาของชาวตะวันตกแล้วเข้าใจว่าเป็นเงือกงูได้ ก็ไม่ได้แปลว่า เงือกของชาวตะวันตกคือเงือกงู แต่ควรจะหมายถึง เงือกของชาวตะวันตกนั้นมีลักษณะคล้ายกับเงือกงูเอามากๆจนชาวสยามเห็นแล้วเข้าใจได้ว่าเงือกที่เห็นในลอนดอนนั้นคือ เงือกงู

เงือกน้ำ-เงือกงู

เงือกงู วัดแสนเมืองมาหลวง(วัดหัวข่วง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อนำข้อมูลด้านรูปลักษณ์ของเงือกงูมาประกอบเข้าด้วยกัน จึงได้ความว่า ศีรษะและลำตัวท่อนบนของเงือกงูคล้ายกับมนุษย์ แต่มีครีบปีกแทนแขนทั้ง๒ข้าง(ที่ดูเหมือนปีกนกนั้น จริงๆแล้วโบราณน่าจะหมายถึง ครีบมือแบบเดียวกับ วาฬ โลมา และ พะยูน) ส่วนลำตัวท่อนล่างตั้งแต่สะโพกลงมาจะมีลักษณะเป็นหางเรียวคล้ายงูดูคล้ายเงือกของชาวตะวันตกดังที่พรรณาไว้ในนิราศลอนดอนนั่นเอง

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
นาคเฝ้าคัมภีร์'s profile


โพสท์โดย: นาคเฝ้าคัมภีร์
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
20 VOTES (5/5 จาก 4 คน)
VOTED: ไปเซเว่นเอาอะไรไหม๊, zerotype, อ้ายเติ่ง, แสร์
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
10 เคล็ดลับในการฮีลใจตัวเอง สามารถทำได้อย่างไรบ้าง มาดูกันจ้า
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
รพ.แม่ลาน แจง! "บังชาติ"หรือ"แม่หญิงลี" ไม่ได้เป็นบุคลากรรพ.แม่ลาน หลังบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด!อ่านนิยายไร้สาระจริงหรือ"ซีอิ๊วแบบเม็ด" ฉีกทุกกฎของซอส..นวัตกรรมใหม่จาก "เด็กสมบูรณ์""บิ๊กเต่า" รับหลักฐาน "ทนายตั้ม" ลั่น ใหญ่แค่ไหนก็จับ ไม่มีใครใหญ่กว่าประตูห้องขัง
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิทานพื้นบ้าน-วรรณคดี
รูปแบบจำลอง งาช้างฉัททันต์พระเจ้าอุเทนถูกจับกินนร ๓ เผ่าพันธุ์จากพระไตรปิฎกรัศมีรอบศีรษะนาค
ตั้งกระทู้ใหม่