แนะนำสายพันธุ์กุ้งเครย์ฟิช : กุ้งเครย์ฟิช Pacifastacus leniusculus หรือ Signal Crayfish
เป็นอีกหนึ่งชนิดพันธุ์กุ้งเครย์ฟิช ที่มีผู้สนใจเลี้ยงกันมาก ทั้งในต่างประเทศ และ ในประเทศไทย ของเราเองที่เริ่มมีการนำเข้ามาเลี้ยงกันบ้างแล้ว สำหรับกุ้งเครย์ฟิชPacifastacusleniusculus (หรือPotamobiusleniusculus )หรือ มีชื่อสามัญนาม ที่นิยมเรียกกัน เพื่อให้เรียกได้ง่ายว่า “ Signal Crayfish “ โดยนอกจากชื่อ Signal crayfish แล้ว ก็ยังมีชื่ออื่นๆอีก อย่าง American signal crayfish , Californian crayfish , Simontorp crayfish เป็นต้นครับ
กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้นั้น มีถิ่นกำเนิดในหลากหลายพื้นที่ในแถบ อเมริกาเหนือ ตั้งแต่ทางตะวันตกของเทือกเขาร็อคกี้ ไปจนถึงบางส่วนของประเทศแคนาดา และ อีกหลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่รัฐวอชิงตัน , ออเรก้อน หรือ รัฐไอดาโฮ เป็นต้น ในธรรมชาติกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ บางทีจะพบว่าไม่ค่อยขุดโพรงอยู่อาศัย เหมือนเพื่อนร่วมตระกูลชนิดอื่น แต่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำล้วน ๆ แต่ก็มีบางพื้นที่เหมือนกัน ที่พบว่ากุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ มีการขุดรูอาศัยอยู่ กุ้งชนิดนี้ในปัจจุบันก็มีการกระจายกันไปในหลายรัฐ เนื่องมาจากการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ และ การนำเข้าไปเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจโดยมนุษย์ สำหรับอย่างหลังนี้ จัดได้ว่า แพร่หลายไปข้ามทวีปกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในประเทศแถบยุโรปหลายประเทศ และ ไปถึงกระทั่งประเทศญี่ปุ่น กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ก็หลุดจากที่เลี้ยง มาเป็นกุ้งที่พบเจอได้ในธรรมชาติ กันได้เลยทีเดียว ด้วยพื้นฐานที่เป็นกุ้งเครย์ฟิช ที่สามารถปรับตัวได้ง่ายในธรรมชาติ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซักพัก กุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้จึงสามารถแพร่พันธุ์ และ ขยายจำนวนประชากรได้เป็นอย่างดี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเขา อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ จัดว่าเป็นนักล่าที่ดุดัน และ มีความเป็นพาหะของโรคในกุ้งเครย์ฟิช ที่รุนแรง ( โรค AphanomycesastaciSchikora ) และส่งผลกระทบโดยตรงกับเครย์ฟิชท้องถิ่น ในทวีปอื่นๆ ของโลก ( เช่นเดียวกันกับกุ้งเครย์ฟิชจากทวีปอเมริกาชนิดอื่นๆ ที่อาจจะเป็นพาหะของโรคได้เช่นกัน ) ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาเอง หรือ ในยุโรป ทำให้เครย์ฟิชพื้นถิ่น ในท้องที่ๆ กุ้งชนิดนี้ ระบาดเพิ่มจำนวนไป เช่น กุ้ง white-clawed crayfish หรือที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Austropotamobiuspallipes มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ได้หมดในเวลาต่อมา ( กุ้งเครย์ฟิชที่ติดเชื้อ จะตายในเวลาไม่นานนัก ) รวมทั้งการที่กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ หากินเก่ง ทำให้กุ้งชนิดนี้ มักจะหากินพวกไข่ของสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ไข่ปลาท้องถิ่น ที่ไม่เคยมีศัตรูมากินไข่ของมัน ตามธรรมชาติแต่เดิมมาก่อน แต่พอเจอกุ้งเครย์ฟิช ชนิดนี้เข้าไป ไข่ปลาที่วางไข่ตามแถวๆพื้นดิน ก็ ไม่เหลือ หรือ หลุดรอดกันมาได้น้อยลงอย่างมากๆ หรือ ในบางพื้นที่ ปลาพื้นถิ่นเหล่านั้น ก็สาบสูญไปเลยเหมือนกันครับ ดังนั้นกุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ จึงจัดเป็น เอเลี่ยน สปีชียส์ในหลากหลายพื้นที่ ๆ ในยุโรป เนื่องจากมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติในแบบต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยมอย่างที่กล่าวมาก่อนหน้านี้นี่เอง เนื่องจากไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำนิ่ง หรือ แหล่งน้ำไหล ห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ สามารถอยู่อาศัยแพร่พันธุ์ได้เป็นอย่างดีทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นในบ้านเรา ก็อาจจะรอดชีวิตไม่ค่อยไหว เพราะแหล่งน้ำหลายแห่ง คุณภาพน้ำแย่เหลือทานทน เลยไม่รู้ว่าจะดีใจ หรือ เสียใจดีมีเหมือนกัน สำหรับเรื่องนี้ (ฮา) ดังนั้น ชาวประมงท้องถิ่นในหลายพื้นที่ในยุโรป จึงมีการประมงจับกุ้งชนิดนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อลดจำนวนประชากรของกุ้งชนิดนี้ลงไปบ้างครับ งานนี้ ทางการในหลายพื้นที่ในยุโรปก็ให้การอนุญาตในการประมงได้เป็นอย่างดี คนจับก็สบายไป ได้ทั้งเงิน ทั้ง กล่องครับ ( ฮา )
กุ้ง Signal Crayfish ขณะกำลังจับคู่กันอยู่ในธรรมชาติ
กุ้ง Signal crayfish เป็นกุ้งที่มีเสน่ห์ตรงขนาดก้ามที่มีใหญ่และสวยงาม ในกุ้งที่มีขนาดใหญ่ ตัวก้ามนั้น จะใหญ่อวบ และ มีปุ่มนูนเรียบสีขาวเล็กๆ กระจายเต็มบริเวณไปหมด กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้นั้น มีอัตราในการเจริญเติบโตที่เร็ว และสามารถเติบใหญ่ได้มากถึงประมาณ 7 นิ้วเลยทีเดียว เท่าที่ได้เคยมีการบันทึกเอาไว้ และสีสันทั่วไป ก็จะเป็นสีออกน้ำตาลแดง – น้ำตาลเทา และ จุดสีขาวที่ข้อหนีบของก้าม เป็นลักษณะคล้ายๆ สัญลักษณ์สีขาว ดูคล้ายๆสัญญาณอะไรซักอย่าง เหมือนตามชื่อ Signal crayfish นั่นแหล่ะครับ โดยถ้าได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องแล้ว ในช่วงปีแรก กุ้งจะสามารถลอกคราบได้ถึง 11 ครั้ง และ ในปีที่สอง จะอยู่ที่ประมาณ 6 ครับ และ ในปีที่ 3 กุ้งก็จะลอกคราบได้ประมาณ 3 ครั้ง และ ในปีที่ 4 ก็จะลอกคราบเหลือแค่ประมาณ 2 ครั้ง และในปีต่อๆไป ก็จะเหลือประมาณ ปีละ 1 ครั้ง ไปจนหมดอายุขัยครับ ส่วนตัวเมียที่มีไข่นั้น ก็จะงดการลอกคราบไป จนกว่าจะปล่อยลูกๆ ออกไปจากท้องหมดแล้วครับ และอุณหภูมิสำหรับการเจริญเติบโตนั้น ถ้าเป็นกุ้ง Signal crayfish นี้นั้น จะมีอุณหภูมิที่เจริญเติบโตได้ดีที่สุดอยู่ที่ประมาณ 21 องศาเซลเซียส และ ถ้าอยู่ที่ประมาณ 22. 8 – 23 องศาเซลเซียสก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน
กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ ตามธรรมชาติ จะเริ่มมีการผสมพันธุ์ ในตัวผู้ และ ตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศแล้ว ในช่วงอุณหภูมิ ที่ต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส และใช้เวลาในการฟักไข่หลายเดือน เช่น ถ้าผสมพันธุ์และวางไข่ในช่วง เดือนกันยายน หรือ ตุลาคม ตัวอ่อนก็จะเริ่มพัฒนาตัวจนออกจากท้องของแม่อีกที ก็ในช่วงประมาณเดือน มีนาคม หรือ เมษายนเลยทีเดียว ตัวเมียเมื่อได้รับการผสมพันธุ์จากตัวผู้แล้ว ก็สามารถจะให้ไข่ได้ถึงประมาณ 200 – 400 ฟองเลยทีเดียวต่อการออกไข่แต่ละครั้ง ( ตามธรรมชาติ จะเป็นในช่วงฤดูที่มีอากาศอบอุ่น และ ตัวอ่อนจะเป็นตัวอีกครั้ง ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงครับ ) และหลังจากนั้น ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่กับแม่ในระยะหนึ่ง จนพอเริ่มโตขึ้น ก็จะแยกย้ายกันไปหากินกันเองต่อไป ตามธรรมชาติครับ และ หลังจากมีอายุถึงประมาณ 2 – 3 ปีแล้ว ก็จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ได้แล้วครับ กุ้งเครย์ฟิชชนิดนี้ ถ้าได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแล้ว สามารถมีอายุยืนได้ถึง 9 – 20 ปีได้เลยทีเดียว ในธรรมชาติกุ้ง signal crayfish สามารถหากินอาหารต่างๆได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่อาหารมีชีวิต ไปจนถึง ใบ และเศษซากใบไม้ต่างๆ ที่หล่นอยู่ในน้ำ และในที่เลี้ยงกุ้งชนิดนี้ สามารถกินอาหารได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือ สัตว์เล็กๆในน้ำ ก็สามารถจะกินได้อย่างสบาย เอาตัวรอดในเรื่องของอาหารได้อย่างไม่มีปัญหาเลยครับ อย่างไรก็ตามมีรายงานศึกษาว่า กุ้งเครย์ฟิชหลากหลายชนิด ต้องการสารอาหารและจุลชีวันเล็กๆจากใบไม้แห้ง หรือ เปลือกไม้ ดังนั้น การเสริมอาหารจำพวกนี้บ้าง ก็จะทำให้กุ้งที่เราเลี้ยงมีสุขภาพดีขึ้นได้ครับ
**************************************************************
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียนได้เพิ่มที่นี่นะครับ ได้รวบรวมเป็นลิงค์มาให้แล้ว เพื่อความสะดวกครับ
https://page.postjung.com/dukedick
ถ้าพี่ๆน้องๆสนใจบทความ และ หนังสือน้องกุ้งแคระ & กุ้งเครย์ อื่นๆ อยากเก็บเอาไว้สะสม สามารถเข้าไปที่นี่ได้เด้อครับ
https://ebooks.in.th/thaiaquaclub
ติดตาม แฟนเพจ Thai Aquatic Pet เพื่อติดตามเรื่องราวน่าสนใจ เกี่ยวกับสัตว์น้ำสวยงาม ได้ที่นี่ครับ
https://www.facebook.com/Thailand-Aquatic-Pets-เพจคนรักสัตว์น้ำ-229670613731393/
***************************************************************
Referrence :
https://www.youtube.com/watch?v=Oh7RRhZqFCc
https://www.youtube.com/watch?v=la9Bqor2n3g
https://www.youtube.com/watch?v=p3qA61AB2nU













