ทำความรู้จักกับ LPG ในประเทศไทย อะไรเป็นสาเหตุให้รัฐต้องลอยตัวราคา?
กระทู้เกี่ยวกับก๊าซ LPG ในประเทศไทยโดยมี ประวัติความเป็นมา, กลไกราคา LPG, นโยบายและสาเหตุที่รัฐต้องลอยตัวราคา LPG
เริ่มต้นกันด้วย
รู้จักกับ LPG
LPG ย่อมาจาก Liquefied Petroleum Gas หรือ แก๊สปิโตรเลียมเหลว เกิดจากแก๊ส 2 ชนิดคือ โพรเพน และบิวเทน โดยได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นหรือการแยกก๊าซในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โดย LPG ในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้มาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
หากพูดถึง LPG ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ LPG สำหรับใช้เป็นพลังงานในการเดินทางขนส่ง และ ที่ใช้ในครัวเรือนซึ่งก็คือ แก๊สหุงต้ม นอกจากนี้ LPG เป็นส่วนสำคัญที่ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทั้งการเกษตร การผลิตปิโตรเคมีต่างๆ รวมถึงทั้งกับโรงไฟฟ้าอีกด้วย
LPG ใช้ทำอะไรบ้าง
ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ LPG ถึง 549,000 ตันต่อเดือน โดยแบ่งเป็นภาคครัวเรือน เช่น แก๊สหุงต้ม, การใช้ในปิโตรเคมี เช่น การผลิตก๊าซไปจนถึงเม็ดพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์, การใช้ในภาคขนส่งการเดินทาง, การใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้าและการที่ผู้ผลิตใช้เป็นเชื้อเพลงในการผลิตเอง
ในปี 2559-2661 ที่ผ่านมาพบว่าการใช้ LPG ในภาคครัวเรือนมีอัตราส่วนสูงที่สุด แต่ปัจจุบันจากข้อมูลเดือนมกราคม ถึง เมษายน 62 ที่ผ่านมาพบว่าการใช้ LPG ในภาคปิโตรเคมีสูงสุด
โดยในปี 2019 มีการใช้จากภาคปิโตรเคมีในอัตรา 41% ภาคครัวเรือนมีการใช้เป็นอัตรา 32% รองลงมาคือขนส่งที่ 26% ภาคอุตสาหกรรม 10% และผู้ผลิตใช้เอง 1%
ประวัติความเป็นมาของ LPG
ตลอดเวลาที่ผ่านภาครัฐได้สนับสนุนให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานมาอย่างต่อเนื่องทั้ง CNG และ LPG ในส่วนของกระทู้นี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง LPG กันเท่านั้นครับ
ในประเทศไทย เริ่มมีใช้ LPG เป็นพลังงานในรถยนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 หรือ 49 ปีมาแล้ว โดยในช่วงแรกได้รับความนิยมในกลุ่มรถสาธารณะ โดยต่อมาช่วงปี 2520-2530 หรือ 30 กว่าปีที่แล้วเริ่มมีการใช้ LPG ที่แพร่หลายกับรถยนต์ส่วนบุคคลเนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำมัน
กระแสการใช้ LPG ในรถยนต์เริ่มบูมมากในช่วงประมาณปี 2550 เนื่องจากผลพวงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นมาก โดยราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นเกือบร้อยดอลล่าห์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนราคาสิงคโปร์แตะทะลุร้อยดอลล่าห์สหรัฐ เกิดวิกฤติทำให้น้ำมันไทยพุ่งสูงโดยดีเซลที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ต้องขึ้นไปสูงกว่า 44 บาท ทำให้คนต้องหันไปใช้พลังงานทางเลือกที่ยังคงถูกลงอย่างแก๊ส มีกระแสผู้ใช้รถยนต์ไปติดตั้งถังแก๊สจำนวนมากโดยกลุ่มคนผู้ใช้รถเริ่มหันมาใช้กันมากขึ้นทั้งรถยนต์ ส่วนบุคคลและแท๊กซี่ มีรายงานว่าในปี 2551 มีรถที่ติดตั้งถังแก๊สรถยนต์กว่า 1.2 ล้านคันทั่วประเทศ แต่ด้วยต้นทุนการติดตั้งที่สูงจากอู่ที่รับติดตั้งมีจำนวนจำกัดและการต้องนำเข้าอะไหล่ ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกได้ลดตัวลงทำให้กระแสการติดตั้งแก๊สรถยนต์เริ่มหายไป แต่ยังคงมีการใช้อยู่จำนวนนึงในปัจจุบันทั้งจากกลุ่มรถยนตร์ส่วนบุคคล รถสาธารณะ และ ภาคการขนส่ง
การใช้ LPG ปัจจุบันส่วนใหญ่จะมาจากภาคครัวเรือน ปิโตรเคมี และการขนส่ง ส่วนช่วงปีหลังๆมานี้รัฐเริ่มเล็งเห็นว่ากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติอาจไม่พอ เนื่องจากการผลิตภายในประเทศที่เริ่มลดลง ประกอบกันการใช้ก๊าซได้เปลี่ยนมือจากแต่ก่อนที่ใช้ในภาคการขนส่งเป็นอันดับหนึ่งปัจจุบันได้แทนที่ด้วยภาคปริโตรเคมีและครัวเรือนที่ใช้ LPG เป็นพลังงานจำนวนมาก รัฐบาลจึงประกาศลอยตัวราคา LPG เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้นและเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับผู้ผลิตรายอื่น การลอยตัวราคามีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 2560 แต่ก็ยังคงมีการตรึงราคาไว้ไม่ให้สูงเกินไปเพื่อไม่ใช่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
นโยบาย LPG จากภาครัฐ และ การลอยตัวราคา
ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมาภาครัฐมีการควมคุมราคา LPG ตลอดทั้งราคาหน้าโรงกลั่นและราคาขายปลีกให้มีราคาถูก จากการนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนราคาอย่างเป็นเวลานาน คิดเป็นเงินรวมกันหลักแสนล้านบาท การทำให้ราคา LPG ถูกกว่าความเป็นจริงเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอีกด้วย ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมผู้ใช้น้ำมันที่จะไม่ต้องแบกภาระการเก็บเงินกองทุนมาหนุนราคา LPG มากจนเกินไป และทำให้เกิดการแข่งขันกันของผู้ค้าเอกชนจากข้อครหาการผูกขาดการค้า LPG ว่าการควบคุมราคาจากภาครัฐทำให้เอกชนรายย่อยแข่งขันกันได้ยาก จนวันที่ 1 สิงหาคม 2560 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีประกาศลอยตัวราคา LPG เฉพาะ LPG ที่มาจากโรงกลั่น ซึ่งเป็น LPG ที่ผลิตจากการกลั่นน้ำมันดิบ ทำให้ต้องจำเป็นต้องราคาตลาดโลก เพื่อไม่ให้บิดเบือนกลไกราคา ส่งผลให้มีการแข่งขันจากภาคเอกชนมากขึ้น แต่ยังมีการอุดหนุนราคาขายจากกองทุนน้ำมันเช่นเดิมเพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน
ปัจจุบันราคา LPG ประเทศไทยถูกว่าเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศ เทียบกับราคาก๊าซหุงต้มในเวียดนาม 59 บาท/กก. ลาว 49 บาท/กก. กัมพูชา 45 บาท/กก. พม่า 34 บาท/กก. มาเลเซีย 20 บาท/กก. อินโดนีเซีย 23 บาท/กก. ขณะที่ประเทศไทยปัจจุบันราคาอยู่ที่ 21 บาท/กก. จึงเกิดปัญหาการลักลอบนำ LPG ส่งออกไปขายบ่อยครั้ง จนภาครัฐต้องกวดขันจับกุมผู้ลักลอบส่งออกตามชายแดน
การส่งออก LPG ราคาถูกไปขายยังเพื่อนบ้านเป็นการนำเงินอุดหนุนราคาจากกองทุน LPG ไปอุดหนุนราคาให้เพื่อนบ้านด้วย ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง!
กลไกราคา LPG
ราคา LPG มีที่มาจาก 2 ส่วน ได้แก่
1. LPG ที่มาจากโรงกลั่นน้ำมัน เป็นส่วนที่รัฐลอยตัวราคา เนื่องจากใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งเราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องให้การอ้างอิงราคาตามตลาดโลก โดยใช้ราคาจากตลาดซาอุดิอาระเบีย
2. LPG จากโรงแยกก๊าซ ที่เป็นของ ปตท. ทางภาครัฐมีนโยบายให้ ปตท. จะต้องชดเชยเงินเข้ากองทุน LPG หากราคาหน้าโรงแยกก๊าซต่ำกว่าราคาตลาดอ้างอิงซาอุฯ แต่ถ้าหากราคาสูงกว่าก็ให้ ปตท. มีหน้าที่อุดหนุนราคาไปก่อนเพื่อไม่ให้สูงเกินไป
เพราะฉะนั้นกลไกการปรับราคาของ LPG จะอ้างอิงราคาตลาดโลก เพื่อให้ผู้ผลิตรายอื่นสามารถเข้ามาแข่งกันกับผู้ผลิตในประเทศได้ แต่ราคาจริงยังคงมีกลไกจากภาครัฐคอยอุดหนุนราคาอยู่เช่นกัน ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จากราคา LPG ที่ไม่สูงเกินไป
โครงสร้างราคา LPG
ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2562) ก๊าซ LPG เก็บเงินเข้ากองทุนอยู่ที่ 1.79 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากราคา LPG ตลาดโลกและหน้าโรงกลั่นลดลงมาอย่างมาก จาก 500 กว่าเหรียญต่อตันเหลือประมาณ 400 เหรียญ โดยราคา LPG หน้าโรงกลั่นปัจจุบันลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจาก 18 บาทกว่าเหลือ 12 บาทกว่า และลดการชดเชยจากกองทุน LPG ไปจากเดิมที่ชดเชย 3.6 บาทในเดือนพฤษภาคม กลับมาเก็บเงินเข้ากองทุน LPG 1.7 บาทชดเชยการขาดทุน
(โครงสร้างราคา LPG ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2019)
กองทุน LPG และการชดเชยราคา
หลังจากที่กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศแยกกองทุนน้ำมันและกองทุน LPG ออกจากกันเมื่อปี 2558 เพื่อไม่ให้มีปัญหาการเอาเงินผู้ใช้น้ำมันไปอุดหนุนราคา LPG โดยในช่วงแรก กองทุน LPG มีเงินสะสม 2,400 ล้านบาท แต่ด้วยราคา LPG หลังลอยตัวทำให้ราคาสูงตามตลาดโลก แต่ทางกระทรวงพลังงานต้องการตรึงราคาไว้ให้อยู่ที่ 363 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ทำให้ต้องนำเงินมาใช้อุดหนุนราคา จนทางเงินสะสมกองทุนหมดจึงได้โยกเงินกองทุนน้ำมันมาช่วยอุดหนุนในช่วงแรกได้โยกเงินจากกองทุนน้ำมันไปวงเงิน 3,000 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นมาเป็น 7,000 ล้านบาทในปัจจุบันจากการขาดทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการชดเชยราคาในช่วงที่ราคาตลาดโลกขึ้นสูง
สถานะกองทุน LPG
จากข้อมูลปัจจุบัน 14 ก.ค. 62 เงินกองทุน LPG หลักๆมาจากการรับโอนจากบัญชีน้ำมันเพื่อชดเชยราคา สถานะกองทุนตอนนี้ขาดทุนอยู่ 6.3 พันล้านบาท จากปัญหาลดภาระกองทุนน้ำมันฯเป็นเวลานาน เมื่อ กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีการวางแผนกำหนดให้กองทุน LPG สามารถติดลบได้ไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ทำให้ต้องมีการปรับการชดเชยราคาและเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อไม่ให้มีการขาดดุลบัญชีกองทุนมากเกินไป
แนวโน้มการปรับราคา LPG ในอนาคต
แนวโน้มการปรับราคา LPG ต่อไปหลักจากการลอยตัวราคาหน้าโรงกลั่นไปแล้วจะขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกที่จะสะท้อนราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันระหว่าเอกชน แต่ภาครัฐก็ยังคงตรึงราคาไว้เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดยยังมีการชดเชยราคาและปรับลดค่าการตลาดเมื่อราคาสูงขึ้น และเก็บเงินเข้ากองทุน LPG เมื่อราคาลดต่ำลง ขณะนี้ราคา LPG ตลาดโลกอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยราคาหน้าโรงแยกอยู่ที่ 12 บาทกว่าๆ ทำให้ทางภาครัฐได้เก็บเงินส่วนต่างราคาที่ลดลงไปเข้ากองทุน LPG ขึ้นเพื่อลดภาระการขาดทุนสะสม ส่วนราคา LPG ที่เหมาะสมขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานได้พยายามตรึงราคาไว้ ณ ปัจจุบัน ประมาณ 21-23 บาท ราคาอาจจะต้องวิ่งอยู่ในช่วงประมาณนี้ไปอีกในระยะยาวถ้าหากราคาในตลาดโลกไม่พุ่งสูงจนทำให้ต้องชดเชยราคามากเกินไป
และนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับ LPG ในประเทศไทยทั้งหมดที่ผมพอจะรวบรวมและสรุปมาในกระทู้นี้ เพื่อต้องการให้ทุกท่านได้เข้าใจถึงที่มาที่ไป เข้าใจโครงสร้างราคา นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับ LPG เหตุที่ต้องมีการลอยตัวราคา LPG
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนถึงตอนสุดท้ายนี้นะครับ
ข้อมูลผิดพลาดประการใดมาแแบ่งปันข้อมูลความรู้กันได้นะครับ










