หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม แต่งรูป คำคม Glitter สเปซ ไดอารี่ เกมถอดรหัสภาพ เกม วิดีโอ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ระเบียบการพิจารณาบาป-บุญของพระยายม

จาก ๖. ทูตสูตร + ทูตสูตร + ๑๐. เทวทูตสูตร (๑๓๐) + อรรถกถาเทวทูตสูตร + อรรถกถานิรยปาลกถา + นีวรณปหานวรรคที่ ๒ + อรรถกถาอัฏฐานบาลี อรรถกถาวรรคที่ ๒ + พหุธาตุกสูตร + ราชสูตรที่ ๑ + อรรถกถาปฐมราชสูตรที่ ๗

ระเบียบการพิจารณาบาป-บุญของพระยายม

แผนผัง “ดอกไม้นรก” สถานที่อยู่อาศัยของเหล่าชาวนรก

 

โครงสร้างหลักๆของดอกไม้นรก จะแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนด้วยกัน โดยลำดับจากชั้นในสุดออกไป ได้แก่

๑.ส่วนช่อดอก หรือส่วนศูนย์กลาง คือ มหานรก มีทั้งหมด ๘ ชั้น

๒.กลีบใน คือ อุสสุทธนรก มีทั้งหมด ๘ ชั้น ชั้นละ ๔ กลีบ กลีบละ ๔ ขุมนรก(มีทั้งหมดรวม ๑๒๘ ขุม)

๓.กลีบนอก คือ ยมโลก มีทั้งหมด ๘ ชั้น ชั้นละ ๔ กลีบ กลีบละ ๑๐ ขุมนรก(มีทั้งหมดรวม ๓๒๐ ขุม)

อนึ่ง คณะนายนิรยบาลนั้นจะมีอยู่ในยมโลกและอุสสุทธนรกเท่านั้น โดยมี พญายมราชเป็นประธานาธิบดีของเหล่านิรยบาล ส่วนในมหานรกนั้นมีเสรีภาพเต็มที่ แบบ อนาคีร์(Anarchy) หมายถึง แนวคิดการเมืองแบบไร้ผู้นำ ไม่มีรัฐบาลนรกคอยกำกับควบคุมดูแล สัตว์ในมหานรกทุกตนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะใดๆ ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มีการแบ่งชายแบ่งหญิง ไม่มีการแบ่งเด็กแบ่งผู้ใหญ่ รวมถึงไม่มีการลำดับอาวุโส เหล่าสัตว์ในมหานรกทุกตนจึงอยู่กันเองโดยไร้ผู้นำ และมีสิทธิในการถูกเผาผลาญโดยไฟนรกอย่างเท่าเทียมกันอยู่ในมหานรกนอกจากต้องอยู่ใช้กรรมจนกว่าจะหมดกรรม(เกษียณอายุ)แล้ว ยังไม่มีสามารถลดโทษด้วย เพราะไม่มีนายนิรยบาลให้ต่อรองหรือเรียกร้องใดๆได้เหมือนในอุสสุทธนรกและยมโลก(มีแต่สัตว์นรกล้วนๆ) ซึ่งในมหานรกอย่าง อเวจี ซึ่งเป็นมหานรกขุมลึกที่สุด ระบุถึงความเป็นอยู่ของเหล่าสัตว์ภายในไว้ดังนี้

ในนรกนั้น มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ สัตว์ยัดเหยียดกันเหมือนแป้งที่เขายัดใส่ไว้ในทะนาน ไม่ควรกล่าวว่า ในที่นี้มีสัตว์ ในที่นี้ไม่มี เพราะสัตว์ทั้งหลายเดินยืนนั่งและนอนไม่มีที่สิ้นสุด สัตว์ทั้งหลายเมื่อเดินยืนนั่งหรือนอน ย่อมไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ชื่อว่าอเวจี เพราะสัตว์ทั้งหลายยัดเหยียดกันอย่างนี้(นอนในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหลับ แต่หมายถึงกิริยาที่เคลื่อนไหวในแนวนอน เพราะมันร้อนจนหยุดนิ่งไม่ได้แต่ก็ยังพอมีพื้นที่ให้เปลี่ยนอิริยาบถได้ตามใจชอบ)

ซึ่งมหานรกอีก ๗ ขุมที่อยู่เหนืออเวจีขึ้นมาก็คาดว่าจะแออัดยัดเยียดเช่นเดียวกับในอเวจีนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องความร้อนในมหานรกนั้น มีข้อมูลระบุอยู่ในประวัติของ ท่านพระมาลกติสสะ โดยมีการระบุ ดังนี้

วันหนึ่ง ท่านพระมาลกติสสะได้ฟังเรื่องราวในเทวทูตสูตรความว่า
ภิกษุทั้งหลาย พวกนายนิรยบาลย่อมใส่สัตว์ตัวผู้เสวยกองทุกข์มีประมาณเท่านี้ เข้าในมหานรกอีก
ท่านพระมาลกติสสะจึงกล่าวว่า
นายนิรบาลใส่สัตว์ผู้เสวยกองทุกข์ มีประมาณเท่านี้แล้วลงในมหานรกอีก โอ มหานรก หนักนะขอรับ
ท่านพระจูฬบิณฑปาติกติสสะตอบว่า
เออ ผู้มีอายุ หนัก
ท่านพระมาลกติสสะจึงถามว่า
ผมอาจจะมองเห็นไหมขอรับ?
ท่านพระจูฬบิณฑปาติกติสสะจึงกล่าวว่า
ท่านไม่อาจมองเห็น แต่เราจักแสดงเหตุอย่างหนึ่งเพื่อจะกระทำให้เหมือนกับที่มองเห็นแล้วได้ เธอจงชักชวนพวกสามเณรทำกองไม้สดไว้บนหลังแผ่นหินสิ
ท่านพระมาลกติสสะได้กระทำตามเหมือนอย่างนั้น
ท่านพระจูฬบิณฑปาติกติสสะนั่งอยู่ตามเดิม สำแดงฤทธิ์นำสะเก็ดไฟประมาณเท่าหิ่งห้อยจากมหานรก ใส่ลงไปที่กองฟืนของท่านพระมาลกติสสะนั้นผู้กำลังดูอยู่
เมื่อสะเก็ดไฟมหานรกขนาดประมาณเท่าหิ่งห้อยตกลงไปในกองฟืนนั้น การที่กองฟืนไหม้เป็นเถ้า ปรากฎไม่ก่อนไม่หลังกันเลย(คือ ไหม้ภายในเวลาไม่ทันกระพริบตา เป็นการลุกไหม้ที่รวดเร็วมากจนไม่อาจแยกแยะได้ว่าส่วนใดเกิดการลุกไหม้ก่อนรึหลัง)

ส่วนในเรื่องความร้อนของไฟในนรกนั้นมีการอุปมาเทียบความร้อนกับไฟในโลกมนุษย์อยู่ในมิลินทปัญหา ดังนี้

ไฟเป็นปรกตินี้ร้อนเป็นประมาณ
ไฟในนรกนี้ร้อนกล้าหาญกว่าไฟในมนุษย์
อนึ่ง มาตรว่าบุคคลเอาก้อนศิลาอันน้อยใหญ่ใส่ลงไปในเพลิงอันเป็นปกตินี้ วันยังค่ำก็มิได้ยับย่อยไป
แต่บุคคลเอาศิลาใหญ่ประมาณเท่ากูฏาคารปราสาทใส่เข้าไปในไฟนรกนั้นไม่ทันถึงวัน แค่ขณะเดียวก็ยับย่อยไป

เรื่องรายละเอียดของนรกแต่ละขุมนั้น ยังไม่ขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ เพราะในที่นี้ จะกล่าวถึงระเบียบการยื่นเรื่องพิจารณาบาป-บุญต่างๆของผู้วายชนม์ โดยมี พระยายม เป็นผู้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบพิจารณาเอกสารต่างๆก่อนทำการพิพากษาต่อไป

แต่ก็มีหลายเคสที่เมื่อสิ้นชีพลงแล้วอำนาจกรรม(การกระทำ)ชักพาไปภพภูมิใหม่ในทันทีโดยไม่ผ่านสำนักงานของพระยายมราชนี้เสียก่อน

บ้างก็ไปเกิดทันทีในที่ตายโดยไม่ผ่านการตรวจสอบของนรกซึ่งส่วนมากจะเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ชดใช้กรรมจนหมดสิ้นแล้วจึงไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง รึอาจสูงกว่านั้นก็มีอยู่หลายเคส(ที่สัตว์เดรัจฉานตายแล้วไม่ต้องผ่านด่านตรวจของพระยายมราชนี้ น่าจะเป็นเพราะ สัตว์เดรัจฉานยังขาดจิตสำนึกพื้นฐานในการระลึกถึงบาป-บุญ ถึงลงมาก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะเดรัจฉานทำตามสัญชาตญาณล้วนๆ แม้จะมีเดรัจฉานบางชนิดที่มีปัญญาโดยสัญชาตญาณสูงมากจนส่งผลให้มีพฤติกรรมชาญฉลาดผิดไปจากสัตว์ทั่วบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาอ้างอิงในพิจารณาได้ แม้ว่าการกระทำบางส่วนนั้นจะเป็นการสะสมผลบุญก็ตาม)และตามบันทึกในพระพุทธศาสนาเองก็มีบุคคลอยู่ไม่น้อยที่ขึ้นสวรรค์ทันทีหลังสิ้นลม(โบราณใช้สำนวนประมาณว่า ดุจบุคคลผู้หลับไปในโลกแล้วตื่นขึ้นในวิมานของตนเอง)

บ้างก็ลงไปยังมหานรกเป็นกรณีพิเศษด้วยการเพิ่มน้ำหนักมวลบาปให้กับตนเองอย่างมหาศาลจนแม้แต่แผ่นดินก็ไม่อาจทานรับน้ำหนักได้ต้องยุบตัวลงเกิดเป็นประตูวิเศษที่เรียกกันว่า“ธรณีสูบ”ซึ่งเป็นทางด่วนพิเศษสายตรงมุ่งสู่มหาอเวจีนรกโดยไม่ต้องผ่านด่านตรวจใดๆทั้งสิ้น

บ้างพอตายแล้วก็ไปเกิดในทันที แต่โดยมากจะไปเกิดเป็นเดรัจฉานเพราะจิตสุดท้ายก่อนตายไปยึดเอาบางสิ่งในทางโลกและขาดผลบุญมาหนุนนำ

ฉะนั้น จึงบอกได้ว่า “ ไม่ใช่ทุกบุคคลที่จะได้เผชิญหน้ากับคณะพิจารณาบาป-บุญของพระยายม ”

จากการสืบค้นข้อมูลในหลายแหล่ง จึงขอลำดับข้อมูลเสียใหม่เป็นหมวดหมู่ ดังนี้

บุคคลที่มีคติที่ไปชัดเจน คือ ผู้มีความพร้อมเพรียง ๕ อย่าง(สมังคี ๕)

๑.ความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยการสั่งสม

คือ ความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงในขณะสั่งสมกุศลกรรมและอกุศลกรรม

๒.ความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยเจตนา

คือ ก็เหมือนกัน ก็สัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตเพียงใด สัตว์แม้ทั้งหลาย ท่านก็เรียกว่าเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยเจตนา เพราะเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยเจตนาที่สะสมเอาไว้ในกาลก่อนเพียงนั้น นี้ชื่อว่าความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยเจตนา

๓.ความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยกรรม

คือ สัตว์แม้ทั้งปวง ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยกรรม เพราะหมายเอากรรมที่ควรแก่วิบากซึ่งได้สะสมเอาไว้ในกาลก่อน

ตราบเท่าที่ยังไม่บรรลุพระอรหัต นี้ชื่อว่าความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยกรรม

๔.ความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยวิบาก

คือ การพึงทราบเฉพาะในขณะแห่งวิบาก(แสดงให้ทราบ?)เท่านั้น

๕.ความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยความปรากฏ(ของนิมิต)

คือ ตราบเท่าที่สัตว์ทั้งหลายยังไม่บรรลุพระอรหัต นิมิตของการเกิดขึ้น ย่อมปรากฏอย่างนี้ เช่น

สำหรับสัตว์ทั้งหลายผู้เคลื่อนจากภพนั้นไปเกิดในนรกก่อน นรกย่อมปรากฏ โดยอาการปรากฏมีเปลวไฟและโลหกุมภี เป็นต้น(โดยรวมอาจหมายถึง นิมิตถึงความทรมานรูปแบบต่างๆ)[มีกรณีตัวอย่าง]

สำหรับเหล่าสัตว์ผู้จะเข้าถึงความเป็น“คัพภเสยยกสัตว์”(สัตว์ผู้เกิดในครรภ์)ครรภ์ของมารดาย่อมปรากฏ(โดยรวมอาจหมายถึง นิมิตถึงคนมีครรภ์ หรือสิ่งมีชีวิตมีครรภ์)

สำหรับสัตว์ผู้จะบังเกิดในเทวโลก เทวโลกย่อมปรากฏ โดยอาการปรากฏแห่งต้นกัลปพฤกษ์และวิมาน เป็นต้น(โดยรวมอาจหมายถึง นิมิตถึงสถานที่งดงามสุขสบายที่ไม่รู้จัก รวมถึงการปรากฏของบุคคลผู้ใกล้ชิดซึ่งล่วงลับไปแล้ว)[มีกรณีตัวอย่าง] ตราบเท่าที่สัตว์เหล่านั้นยังไม่บรรลุพระอรหัต ดังนั้น ความที่สัตว์เหล่านั้นยังไม่พ้นจากความปรากฏแห่งอุปบัตินิมิตนี้ จึงชื่อว่าความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยความปรากฏ

ความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยความปรากฏนั้นไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเมื่อนรกแม้ปรากฏแล้ว เทวโลกก็ย่อมปรากฏได้ เมื่อเทวโลกแม้ปรากฏแล้ว นรกก็ย่อมปรากฏได้ เมื่อมนุษย์โลกแม้ปรากฏแล้ว กำเนิดเดียรัจฉานก็ย่อมปรากฏได้ และเมื่อกำเนิดเดียรัจฉานแม้ปรากฏแล้ว มนุษย์โลกก็ย่อมปรากฏได้เหมือนกัน ส่วนความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงที่เหลืออีก ๔ ประการ)นั้นแน่นอน ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ตัวอย่างนิมิตปรากฏ

ในอเจลวิหาร ใกล้เชิงเขาโสภณ(บางตำราว่าเป็น เขลวิหาร ใกล้เชิงเขาโสณคีรี) มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่งชื่อว่า โสณเถระ อาศัยอยู่ บิดาของท่านเป็นนายพรานสุนัข(ใช้สุนัขล่าเนื้อ) มี(สมญา?)นามว่า สุนขราชิก พระเถระแม้จะห้ามบิดาก็ไม่สามารถจะให้อยู่ในความสังวรได้ จึงคิดว่า คนแก่ผู้ยากไร้(คือ บิดา) อย่าได้ฉิบหายเสียเลย จึงให้โยมบิดาบวชทั้งที่ไม่อยากบวช
ในกาลเป็นคนแก่ เมื่อโยมบิดานอนอยู่บนที่นอนสำหรับคนป่วย (นิมิต)นรกก็ปรากฏขึ้น คือ สุนัขทั้งหลายตัวใหญ่ๆ มาจากเชิงเขาโสณะ รุมล้อมท่านไว้ ทำทีเหมือนจะกัดกิน ท่านกลัวต่อมหามรณภัยจึงกล่าวว่า พ่อโสณะห้ามที พ่อโสณะห้ามที
พระโสณเถระถามว่า อะไรครับหลวงพ่อ?
บิดาท่านจึงกล่าวว่า ท่านไม่เห็นหรือ แล้วจึงบอกเรื่องราวนั้น
พระโสณะเถระคิดว่า บิดาของคนเช่นเราจักเกิดในนรกได้อย่างไรเล่า เราจักช่วยท่าน แม้เราก็จักเป็นที่พึ่งของท่าน แล้วจึงสั่งสามเณรทั้งหลายให้นำดอกไม้นานาชนิดมาให้ จากนั้นจึงตกแต่งทำเครื่องบูชาที่ตั้งกับพื้น(เครื่องลาดพื้นสำหรับบูชา)และเครื่องบูชาบนแท่นสำหรับบูชา(อาสนะสำหรับบูชา) ที่ลานเจดีย์และลานโพธิ์ แล้วให้บิดานั่งบนเตียงแล้วหามเตียงบิดาไปยังลานเจดีย์ แล้วกล่าวว่า หลวงพ่อขอรับ เครื่องบูชานี้จัดไว้ทำเพื่อประโยชน์แก่ท่าน ขอให้หลวงพ่อกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เครื่องบรรณาการของคนยาก(ทุคคตบรรณาการ)นี้เป็นของข้าพระองค์ ดังนี้แล้ว ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทำจิตให้เลื่อมใสเถิด
มหาเถระนั้นเห็นเครื่องบูชาแล้วจึงทำอย่างนั้น ทำจิตให้เลื่อมใสแล้ว ทันใดนั้นเทวโลกปรากฏขึ้นแก่ท่าน สวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัน สวนมิสสกวัน สวนปารุสกวันและวิมานทั้งหลาย และเหล่านางฟ้าฟ้อนรำ ได้เป็นเหมือนประดิษฐานล้อมท่านไว้พระมหาเถระพูดว่า หลีกไป พ่อโสณะ
พระโสณะถามว่า นี้เรื่องอะไรกัน หลวงพ่อ
พระมหาเถระพูดว่า นั่นมารดาของลูกกำลังมา
พระเถระคิดว่าสวรรค์ปรากฏแก่พระมหาเถระแล้ว
พึงทราบว่า ความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยการปรากฏ ย่อมไม่แน่นอนด้วยประการอย่างนี้
ความพร้อมเพรียงแห่งการปรากฏขึ้นย่อมเปลี่ยนไปได้อย่างนี้ ในความเป็นผู้พร้อมเพรียงเหล่านี้ เป็นต้นว่า “ความพร้อมเพรียงแห่งกายทุจริต” ดังนี้ ด้วยอำนาจความพร้อมเพรียงด้วยการสั่งสม(อายูหนสมังคี) เจตนา(เจตนาสมังคี) กรรม(กัมมสมังคี)และด้วยอำนาจความเป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยกายทุจริต

ก็ในเมื่อเป็นไปเช่นนี้ แล้วหน้าที่ของพระยายมและคณะ คืออะไรแน่?

แต่ก่อนที่จะรู้จักถึงหน้าที่ของพระยายมนั้น ก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวพระยายมเสียก่อน ดังนี้

พระยา(พญา)ยม คือใคร?

พระยายม คือ พระราชาเวมานิกเปรต รึก็คือ เวมานิกเปรตที่ยิ่งใหญ่ เป็นราชาของเวมานิกเปรตทั้งหลาย

ในเวลาหนึ่งเสวยต้นกัลปพฤษทิพย์ อุทยานทิพย์ นักฟ้อนรำทิพย์ สมบัติทิพย์ในวิมานทิพย์

ในเวลาหนึ่งเป็นพระราชาผู้ทรงธรรมเสวยผลกรรม(อยู่ในนรก)

เป็นสภาวะสลับกันไปมา ไม่ใช่เวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับเวมานิกเปรตทั่วไป(กลุ่มเวมานิกเปรตที่เป็นพวกวินิบาตจะไม่ใช่สภาวะแบบนี้)

ที่สำคัญ พระยายมนั้นก็มิได้มีอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ว่ามีอยู่ถึง ๔ พระองค์ ที่ ๔ ประตู

และในเมื่อ พระยายม คือ พระราชาเวมานิกเปรต เหล่านายนิรยบาลเองก็ล้วนเป็นเหล่าเวมานิกเปรตด้วยเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ไม่พบว่ามีแหล่งข้อมูลใดระบุว่า มีนางนิรยบาล(นิรยบาลเพศหญิง)มาก่อนแต่อย่างใด

เมื่อทราบลักษณะของพระยายมแล้ว ต่อไปจะขอกล่าวถึงหน้าที่ของพระยายม ดังนี้

พระยายมถามเตือนถึงเทวทูตทั้ง ๕

บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อแตกกายตายไป เขาย่อมถูกเหล่านายนิรยบาลจะจับที่ส่วนต่างๆของแขนไปแสดงแก่พระยายม

ครั้งพระยายมทราบว่า บุคคลผู้นี้ยังกำหนดเนื้อความแห่งภาษิต(คติเตือนใจตนเอง)ไม่ได้ ประสงค์จะให้เขากำหนด พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ จึงสอบสวนซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ ว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ?

หากตอบว่า ไม่พบ พระยายมจะอธิบายเพิ่มเติมว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบ มีมือและเท้าเหมือนพวกท่าน แต่นอนเกลือกกลั้วอยู่ในมูตรคูถของตน ไม่อาจเพื่อจะลุกขึ้นอาบน้ำตามธรรมดาของตนได้ เป็นผู้มีกายสกปรกแล้ว ไม่อาจเพื่อจะบอกให้ผู้อื่นอาบน้ำให้ อยู่ในหมู่มนุษย์บ้างหรือ?

หากตอบว่า ได้พบ พระยายมถามต่อไปว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้เคยมีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ?

หากตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย พระยายมจะกล่าวว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น ท่านจักถูกกระทำจนสาสมกับที่ท่านประมาทแล้วโดยเหล่านายนิรยบาล

เพราะบาปกรรมนี้ ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้

เมื่อพระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กับบุคคลนั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ สอบสวนซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ ว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ?

หากตอบว่า ไม่พบ พระยายมจะอธิบายเพิ่มเติมว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายมีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีก็ดี นับแต่เกิดมา แม้เคยเป็นหนุ่มสมบูรณ์ด้วยกำลังขา กำลังแขนและว่องไวเหมือนท่าน ความถึงพร้อมด้วยกำลังและความว่องไวเหล่านั้นหมดไปเสียแล้ว แม้มือและเท้ามีอยู่ แต่ทำกิจด้วยมือและเท้าไม่ได้ เป็นคนชราแก่เฒ่า ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงผ่านวัยหนุ่มสาวแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ศีรษะล้าน ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์บ้างหรือ?

หากตอบว่า ได้พบ พระยายมถามต่อไปว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้เคยมีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ?

หากตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย พระยายมจะกล่าวว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น ท่านจักถูกกระทำจนสาสมกับที่ท่านประมาทแล้วโดยเหล่านายนิรยบาล

เพราะบาปกรรมนี้ ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้

เมื่อพระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กับบุคคลนั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ สอบสวนซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ?

หากตอบว่า ไม่พบ พระยายมจะอธิบายเพิ่มเติมว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก ผู้เคยเป็นคนไม่มีโรคเหมือนท่าน ถูกความเจ็บไข้ครอบงำนอนเกลือกอยู่ในมูตรและคูถของตน ไม่อาจแม้แต่จะยันกายให้ลุกขึ้น แม้มือและเท้ามีอยู่ แต่ทำกิจด้วยมือและเท้าไม่ได้ ต้องให้คนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ช่วยป้อนอาหาร ในหมู่มนุษย์บ้างหรือ?

หากตอบว่า ได้พบ พระยายมถามต่อไปว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้เคยมีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ?

หากตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย พระยายมจะกล่าวว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น ท่านจักถูกกระทำจนสาสมกับที่ท่านประมาทแล้วโดยเหล่านายนิรยบาล

เพราะบาปกรรมนี้ ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้

เมื่อพระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กับบุคคลนั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ สอบสวนซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ ว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ?

หากตอบว่า ไม่พบ พระยายมจะอธิบายเพิ่มเติมว่า

ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลายในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ? คือ

(๑) โบยด้วยแส้บ้าง
(๒) โบยด้วยหวายบ้าง
(๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
(๔) ตัดมือบ้าง
(๕) ตัดเท้าบ้าง
(๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
(๗) ตัดหูบ้าง
(๘) ตัดจมูกบ้าง
(๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
(๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
(๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
(๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
(๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
(๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
(๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
(๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
(๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
(๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
(๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
(๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
(๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
(๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
(๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
(๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
(๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
(๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบ บ้าง

ฯลฯ เป็นอาทิ ฯ

(ว่าง่ายๆคือ ถามว่า เคยเห็นโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้วถูกลงโทษโดยมาตรากฎหมายชนิดต่างๆที่ระบุไว้ตามระดับความรุนแรงของโทษที่กระทำหรือไม่ นั่นเอง)

หากตอบว่า ได้พบ พระยายมถามต่อไปว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้เคยมีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ?

หากตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย พระยายมจะกล่าวว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น ท่านจักถูกกระทำจนสาสมกับที่ท่านประมาทแล้วโดยเหล่านายนิรยบาล

เพราะบาปกรรมนี้ ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้

เมื่อพระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กับบุคคลนั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ สอบสวนซักไซ้ไล่เลียง ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ?

หากตอบว่า ไม่พบ พระยายมจะอธิบายเพิ่มเติมว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายได้วันหนึ่ง สองวัน หรือ
สามวันก็ดี ขึ้นพอง มีสีเขียวช้ำ ชุ่มด้วยน้ำเหลือง ในหมู่มนุษย์หรือ?

ซากศพชื่อว่า อุทธุมาตกะ เพราะขึ้นพองโดยภาวะที่อืด สูงขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่สิ้นชีวิตไป เหมือนสูบที่เต็มด้วยลมฉะนั้น
ซากศพชื่อว่า วินีลกะ(วินีละ) เพราะมีสีเขียว ขึ้นปริไปทั่ว ซากศพที่เขียวคล้ำนั้น นับว่าน่ารังเกียจเพราะเป็นของน่าเกลียด
ซากศพชื่อว่า วิปุพพกัง เพราะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม ซากศพที่เปรอะเปื้อนไปด้วยน้ำเหลืองที่ไหลออกจากที่ที่แตกปริ

หากตอบว่า ได้พบ พระยายมถามต่อไปว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้เคยมีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ?

หากตอบว่า ไม่อาจที่จะคิดเห็นได้เช่นนั้น เพราะมัวประมาทเสีย พระยายมจะกล่าวว่า

ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น ท่านจักถูกกระทำจนสาสมกับที่ท่านประมาทแล้วโดยเหล่านายนิรยบาล

เพราะบาปกรรมนี้ ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้

พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ แล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่

เหล่านิรยบาลจะนำตัวบุคคลผู้ไม่อาจระลึกถึงการกระทำความดีใดๆของตนเองได้เลยนั้นไปขึ้นทะเบียนเป็นประชากรชาวนรก โดยกระทำเหตุชื่อ การจำ ๕ ประการ คือ

ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือทั้ง ๒

ตรึงตะปูเหล็กแดงที่เท้าทั้ง ๒

และตรึงตะปูเหล็กแดงที่ทรวงอกตรงกลางอีก ๑

สัตว์นรกนั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด

กล่าวโดยสรุปแล้ว คือ บุคคลที่ต้องมาพบกับคณะพิจารณาบาป-บุญของพระยายมเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่อาจระลึกบาป-บุญใดๆในขณะที่มีชีวิตได้เลย

อุปมาเหมือน ราชบุรุษจับโจรได้พร้อมของกลาง ย่อมทำโทษที่ควรทำทันที ไม่ต้องวินิจฉัย
แต่ผู้ที่เขาสงสัย(คือ ผู้ต้องสงสัย) เมื่อถูกจับได้ เขาจะนำไปยังที่สำหรับวินิจฉัย
บุคคลนั้นย่อมได้รับการวินิจฉัยฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็ฉันนั้น เพราะผู้ที่มีบาปกรรมนิดหน่อยระลึกได้ตามธรรมดาของตนเองบ้าง ถูกเตือนให้ระลึกจึงระลึกได้บ้าง

อนึ่ง การโกหกนั้น หาได้ประสบความสำเร็จในกระบวนการถามตอบของคณะพิจารณาบาป-บุญของพระยายมนี้ไม่ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนอันเนื่องมาจากการกระทำ(ของตน)ขณะมีชีวิตนั่นเอง หากผู้ตอบสามารถระลึกได้ในคำถามข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ผลบุญที่เคยกระทำจะแสดงผลทันที ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น

บุคคลผู้ระลึกได้ตามธรรมดาของตน

ทมิฬชื่อ ทีฆชยัน(บางตำราว่า ฑีฆทันตะ) ทมิฬนั้นเอาผ้าสีแดงบูชาอากาศเจดีย์(เจดีย์ระฟ้า)ในสุมนคีริวิหาร ต่อมาตายไป บังเกิดในที่ใกล้อุสสุทนรก ได้ฟังเสียงเปลวไฟ จึงหวนระลึกถึงผ้าแดงที่ตนเอาบูชาอากาสเจดีย์ เขาจึงจุติไปบังเกิดในสวรรค์

มีอีกคนหนึ่งถวายผ้าสาฎกเนื้อหยาบเกลี้ยงแก่ภิกษุหนุ่มผู้เป็นบุตร โดยวางผ้าไว้แทบเท้าพระลูกชาย ก็ถือนิมิตในเสียงแผ่นผ้าที่ตนถวายพระลูกชายว่า ปฏะ ปฏะ ต่อมา บุรุษนั้นก็ตายไปบังเกิดในที่ใกล้อุสสุทนรก ก็หวนระลึกถึงผ้าสาฎกนั้นได้ เพราะ ได้ยินเสียงเปลวไฟว่า ปฏะ ปฏะ เป็นดุจเดียวกับเสียงแผ่นผ้าที่ตนเคยถวาย จึงจุติไปบังเกิดในสวรรค์

เขาระลึกถึงกุศลกรรมตามธรรมดาของตนก่อนอย่างนี้ จึงบังเกิดบนสวรรค์

(ทั้ง ๒ กรณีข้างต้นนี้ คือการระลึกได้ก่อนพระยายมจะเริ่มตั้งคำถาม)

แต่เมื่อยังระลึกตามธรรมดาของตนเองไม่ได้ พระยายมจึงถามถึงเทวทูตทั้ง ๕ ในเทวทูตทั้ง ๕ นั้น บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่หนึ่ง บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่สอง บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่สาม บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่สี่ บางคนระลึกได้ด้วยเทวทูตที่ห้า เป็นต้น

ส่วนผู้ใดย่อมระลึกไม่ได้ด้วยเทวทูตทั้ง ๕ พระยายมย่อมเตือนจะมีการกระตุ้นเตือนเพื่อให้ผู้นั้นระลึกได้เอง เช่น

อำมาตย์คนหนึ่งบูชามหาเจดีย์ด้วยหม้อดอกมะลิ ๑ หม้อ แล้วได้แบ่งส่วนบุญให้แก่พระยายม นายนิรยบาลทั้งหลายนำอำมาตย์นั้นผู้เกิดในนรกเพราะอกุศลกรรมไปหาพระยายม เมื่ออำมาตย์นั้นระลึกถึงกุศลไม่ได้ด้วยเทวทูตทั้ง ๕ พระยายมจึงตรวจดูเอง เมื่อพบแล้วจึงเตือนอำมาตย์นั้นให้ระลึกว่า

ท่านบูชามหาเจดีย์ด้วยหม้อดอกมะลิแล้ว ได้แบ่งส่วนบุญให้เรามิใช่หรือ?

เขาระลึกได้ในเวลานั้นในทันทีจึงจุติไปสู่เทวโลก

ส่วน บุคคลผู้ใดที่พระยายมแม้ตรวจดูกุศลกรรมด้วยพระองค์เองแล้วก็ไม่เห็น ท่านก็จะทรงนิ่งเสีย ด้วยทรงดำริกับตนเองว่า สัตว์ผู้นี้จักเสวยทุกข์มหันต์ จากนั้นเหล่านิรยบาลจะนำตัวบุคคลผู้ไม่อาจระลึกถึงการกระทำความดีใดๆของตนเองได้เลยนั้นไปขึ้นทะเบียนเป็นประชากรชาวนรกต่อไป ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

อนึ่ง การที่พระยายมแสดงตัวว่าเป็นผู้รับส่วนบุญของอำมาตย์นี้ ไม่ได้หมายความว่าอำมาตย์ผู้นี้สินบนพระยายมเพื่อให้ตนเองได้ขึ้นสวรรค์แต่อย่างใด แต่พระยายมได้แสดงตัวในฐานะพยานเอกของการทำบุญของอำมาตย์ต่างหาก

(หากเป็นการเจตนาให้สินบนพระยายายมจริง อำมาตย์เองคงไม่ต้องตอบคำถามเรื่องเทวทูตให้เสียเวลา และที่สำคัญ ในวันหนึ่งๆพระยายมต้องคอยซักคำถามซ้ำๆเรื่องเทวทูตกับมนุษย์ทุกรายที่ได้พบเจอ จึงไม่น่าจะมีเวลาว่างมาจำหน้าคนที่เคยแบ่งส่วนบุญให้ได้แน่นอน)

เพิ่มเติมเกร็ดข้อมูล

ในกรณีที่บุคคลใดไม่อาจระลึกถึงกุศลกรรมใดๆของตนเองได้จนเป็นเหตุให้พระยายมต้องตรวจสอบด้วยตนเองนั้น ในไตรภูมิพระร่วงระบุว่า เป็นบัญชีนันทึกบาป-บุญ ซึ่งมีเทวดา ๔ องค์เป็นผู้ถือรักษาดูแล เมื่อพระยายมมีประสงค์เรียกตรวจสอบดูบาป-บุญของบุคคลซึ่งไม่อาจระลึกได้ถึงกุศลกรรมใดๆของตน เทวดาผู้ดูแลบัญชีจะยื่นส่งให้พระยายมทำการตรวจสอบ โดยบัญชีบาป-บุญทั้ง ๒ ชนิดนี้มีการจำแนกไว้ ดังนี้

บัญชีบาป บันทึกลงในแผ่นหนังสุนัข(น่าจะเกิดจากอำนาจอกุศลกรรมที่บันดาลให้บัญชีกลายเป็นของหยาบดุจหนังสุนัข) เรียกว่า สุวานบัญชี

บัญชีบุญ บันทึกลงในแผ่นทอง(น่าจะเกิดจากอำนาจกุศลกรรมที่บันดาลให้บัญชีกลายเป็นของบริสุทธิ์ดุจแผ่นทอง) เรียกว่า สุวรรณบัญชี

คาดการณ์ว่า สุวรรณบัญชี นี้น่าจะเป็นบันทึกซึ่งอยู่ในระบบการจัดเก็บสำมะโนครัวของท้าวมหาราชทั้ง ๔(คือ ๔ ท้าวจตุโลกบาล) ซึ่งนำไปเก็บรักษาไว้ ณ สุธรรมา(เทว)สภา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยรายละเอียดการจัดเก็บสำมะโนครัวบุญลงในแผ่นทองนี้ มีเรียกว่า เทวดาตรวจดูโลกมนุษย์ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

ทุกวัน ๘ ค่ำ ท้าวสักกเทวราช(ประธานพระอินทร์)จะมีบัญชาถึงท้าวมหาราชทั้ง ๔ ไปยังมนุษย์โลก เพื่อจดเอาชื่อและโคตรของมนุษย์ที่ทำบุญมา ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นก็จะกลับไปบัญชาเหล่าปาริจาริกเทวดา(เทวดาบริวาร)ของตนให้ท่องเที่ยวไปยังมนุษยโลก เขียนชื่อและโคตรและมนุษย์ที่ทำบุญลงในแผ่นทองแล้วนำกลับมา บริวารเหล่านั้นทำตามคำบัญชา

ในวันพระ แรมและขึ้น ๘ ค่ำ(อัฏฐมี) ปาริจาริกเทวดาเหล่านั้นท่องเที่ยวไป เขียนชื่อและโคตรของมนุษย์ผู้ทำบุญลงในแผ่นทอง แล้วนำมาถวายท้าวมหาราชทั้ง ๔

ในวันพระ แรม ๑๔ ค่ำ(เดือนขาด) หรือ แรม ๑๕ ค่ำ พวกบุตรของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถือเอาแผ่นทองนั้นแล้วท่องเที่ยวไป จดชื่อและโคตร เพราะถูกท้าวมหาราชทั้ง ๔ ส่งไปเช่นเดียวกับเหล่าปาริจาริกเทวดา

ในวันพระ อุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ(เพ็ญของทุกเดือน) ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ย่อมเที่ยวตรวจดูโลกด้วยตนเอง

ระบบการจัดเก็บรายชื่อกุศลกรรม มีดังนี้

บริษัทอำมาตย์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้าไปยังคาม นิคมและราชธานีทั้งหลาย เมื่อเทวดาที่อาศัยอยู่ตามคาม นิคมและราชธานีเหล่านั้นๆ(ภุมมเทวดา-พระภูมิเจ้าที่) ทราบว่า อำมาตย์ของท้าวมหาราชทั้งหลายมาทำการตรวจสอบสำมะโนครัวในพื้นที่ของตน ก็พากันถือเครื่องบรรณาการไปยังสำนักของเทวดาเหล่านั้น

เทวดาอำมาตย์เหล่านั้นรับเครื่องบรรณาการแล้ว ก็ถามถึงการทำบุญของมนุษย์ทั้งหลาย ตามหน้าที่ของตน เมื่อเทวดาประจำคาม นิคมและราชธานี รายงานว่า ในหมู่บ้านนี้ คนโน้นและคนโน้นยังทำบุญอยู่ เทวดาอำมาตย์เหล่านั้นก็จดชื่อและโคตรของมนุษย์เหล่านั้นไว้แล้วไปในที่อื่น

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นทราบว่า เวลาใดมีมนุษย์น้อย เวลาใดมีมนุษย์มาก จากจำนวนแผ่นทองที่ได้บันทึกไว้นั้นเอง

เมื่อรวบรวมรายชื่อได้ครบแล้วในวันขึ้น ๑๕ ค่ำของทุกเดือน ท้าวจาตุมหาราช(ท้าวโลกบาลทั้ง ๔)จะนำรายชื่อไปแจ้งแก่เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกันอยู่ ณ สุธรรมาสภา

หากการแจ้งรายชื่อในแผ่นทองนั้นนั้น ระบุว่ามีมนุษย์ผู้ทำบุญมีน้อย พวกเทวดาในที่ประชุมย่อมพากันเสียใจว่า

ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย เทพบุตรใหม่ๆจักไม่ปรากฏ หมู่เทวดาก็จักเสื่อมสิ้นไป เทวนครกว้างยาวประมาณหนึ่งหมื่นโยชน์ อันน่ารื่นรมย์ก็จักว่างเปล่าเสื่อมสูญ อบาย ๔ จักเต็มแน่นบริบูรณ์

หากการแจ้งรายชื่อในแผ่นทองนั้น ระบุว่ามีมนุษย์ผู้ทำบุญมีมาก พวกเทวดาในที่ประชุมย่อมพากันดีใจว่า

ดูก่อนผู้เจริญทั้งหลาย เทพบุตรใหม่ๆจักปรากฏ หมู่เทวดาก็จักเพิ่มขึ้น เทวนครกว้างยาวประมาณหนึ่งหมื่นโยชน์ อันน่ารื่นรมย์ก็จักเต็มแน่นบริบูรณ์ อบาย ๔ จักว่างเปล่าเสื่อมสูญ

จากข้อมูล ทำให้สรุปได้อย่างคร่าวๆว่า เมื่อบุคคลใดต้องเข้าสู่กระบวนการตอบคำถามของพระยายม บัญชีบุญนี้จะถูกนำไปเตรียมสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินที่พระยายมจำต้องเรียกตรวจสอบกุศลกรรมของบุคคลนั้นๆ และมีเทวดาซึ่งรักษาบัญชีบาปและบัญชีบุญซึ่งน่าจะเป็นเหล่าพระภูมิที่อยู่ประจำบ้านนิคมของบุคคลนั้นๆมาร่วมเป็นพยานและส่งมอบบัญชีให้พระยายมทำการตรวจสอบ

สรุประเบียบการ

๑. เมื่อบุคคลใดไม่มีคติที่ไปเนื่องด้วยไม่อาจระลึกถึงการกระทำของตนได้ นิรยบาลจะนำตัวไปแสดงต่อหน้าพระยายม หากระหว่างรอการเข้าพบเกิดระลึกถึงผลบุญกุศลกรรมของตนได้ก็จะไปสู่ภูมิสวรรค์ทันที

๒. หากไม่สามารถระลึกถึงผลบุญกุศลกรรมของตนได้ พระยายมจะเริ่มการสอบถามถึง เทวทูตทั้ง ๕ หากสามารถระลึกถึงผลบุญกุศลกรรมของตนได้ในเทวทูตข้อใดข้อหนึ่งจะไปสู่ภูมิสวรรค์ทันที

(บรรยากาศการพบพระยายมในข้อ๑ และ ๒ น่าจะคล้ายๆการตอบคำถามเวลาสอบสัมภาษณ์งานและการตอบคำถามจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอยู่กลายๆ)

๓. หากไม่สามารถระลึกถึงผลบุญกุศลกรรมของตนได้จากการสอบถามเรื่อง เทวทูตทั้ง ๕ พระยายมจะทำการตรวจสอบจากบัญชีบาป-บุญด้วยตนเอง หากพบว่ายังมีผลบุญกุศลกรรมที่เคยทำมาอยู่ พระยายมจะเตือนให้ระลึกได้เพื่อไปสู่ภูมิสวรรค์ทันที แต่หากตรวจดูบัญชีอย่างละเอียดแล้วไม่พบผลบุญกุศลกรรม พระยายมจะหยุดนิ่งยืนสงบนิ่ง(ดุษณี)ไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เหล่านิรยบาลจะนำตัวไปขึ้นทะเบียนเป็นชาวนรกต่อไป [เป็นไปได้ว่า ตาไฟที่บรรดาพระยายมมีติดตัว(ตามตำแหน่ง)อาจมีไว้เพื่อเปิดขุมนรกให้เหล่านิรยบาลนำตัวผู้ไม่ผ่านไปจองจำก็ได้ (ประมาณว่าเพ่งมองพื้นจนหลอมทะลุเปลวไฟลุกขึ้นมาหอบร่างคนสอบไม่ผ่านลงไปก็ได้) ]

 

สรุปหน้าที่หลักของพระยายม

หน้าที่หลักของพระยายมในยมโลก คือ เป็นจิตแพทย์คอยกระตุ้นความทรงจำให้พวกที่ระลึกอะไรก่อนตายเองไม่ได้เลย

ดังนั้น แค่เพียงนึกถึงตอนต้องเวียนกลับมาเข้างานแต่ละกะพระยายมแต่ละองค์ก็คงล้าแล้ว เพราะเหมือนการที่ต้องมาคอยนั่งซักประวัติคนไข้ทุกๆรายด้วยคำถามเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ความทุกข์ของพญาเวมานิกเปรตที่เป็นพระยายมจึงน่าจะเป็นเรื่องของการคอยกระตุ้นเตือนความจำให้ผู้อื่น และการเฝ้าดูผู้ที่ไม่อาจระลึกถึงผลบุญใดๆได้เลยถูกลากไปทรมานในนรก ซึ่งเป็นวัฏจักรหมุนเวียนซ้ำๆซากๆไม่รู้จบจนกว่าจะหมดกรรม

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
นาคเฝ้าคัมภีร์'s profile


โพสท์โดย: นาคเฝ้าคัมภีร์
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เลขมงคลเลขวันเกิดพระราชวงศ์ เลขเด็ด 1 เมษายน 2567
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
รพ.แม่ลาน แจง! "บังชาติ"หรือ"แม่หญิงลี" ไม่ได้เป็นบุคลากรรพ.แม่ลาน หลังบุคคลดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด!อ่านนิยายไร้สาระจริงหรือ"ซีอิ๊วแบบเม็ด" ฉีกทุกกฎของซอส..นวัตกรรมใหม่จาก "เด็กสมบูรณ์""บิ๊กเต่า" รับหลักฐาน "ทนายตั้ม" ลั่น ใหญ่แค่ไหนก็จับ ไม่มีใครใหญ่กว่าประตูห้องขัง
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิทานพื้นบ้าน-วรรณคดี
รูปแบบจำลอง งาช้างฉัททันต์พระเจ้าอุเทนถูกจับกินนร ๓ เผ่าพันธุ์จากพระไตรปิฎกรัศมีรอบศีรษะนาค
ตั้งกระทู้ใหม่