รัฐเป็นห่วงสุขภาพ!!! จ่อรีดภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ภาษีของเค็มและไขมันทรานส์
กรมสรรพสามิตเตรียมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ พิจารณาเก็บภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอลเพิ่ม หวั่นเยาวชนนำไปทดลองดื่ม พร้อมเตรียมเก็บภาษีความเค็มในขนมขบเคี้ยว ชี้เป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่อเด็กและเยาวชน
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่ใช้ไขมันทรานส์และสินค้าที่มีความเค็ม ยืนยันว่า ความจำเป็นที่ต้องมีการเก็บภาษี เพราะต้องการดูแลสุขภาพของคนในประเทศ ตามนโยบายรัฐบาลที่ช่วยส่งเสริมนวัตกรรม อุตสาหกรรมใหม่ (New S Curve) และมุ่งเน้นเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาล ขอยืนยันว่าการเก็บภาษีไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลถังแตกต้องการหารายได้เพิ่ม
“ไม่เกี่ยวว่ารัฐบาลถังแตก ภาษีสินค้าที่มีความเค็มและใช้ไขมันที่ไม่ดี เป็นเรื่องนโยบายที่จะช่วยดูแลเรื่องสุขภาพของคนในชาติ กินเค็มมากไปก็เป็นโรคไต ส่วนไขมันทรานส์แม้จะห้ามมีการนำเข้าแต่กระบวนการผลิตก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะต้องไม่ให้มีอยู่ในอาหาร กรมต้องการเปลี่ยนบทบาทที่ถูกมองว่า เป็นกรมที่จัดเก็บภาษีบาป ซึ่งหมายความว่ายิ่งเก็บภาษีได้มาก ผลเสียกับประชาชนก็มาก มาเป็นกรมภาษีที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย” นายพชร กล่าว
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การเก็บภาษีของเค็มและไขมันทรานส์จะไม่กระทบกับผู้บริโภค เพราะเป็นการเก็บภาษีต้นทางกับผู้ประกอบการ เช่นเดียวกันกับภาษีสินค้าที่มีความหวาน โดยจะจัดเก็บกับกลุ่มสินค้า ที่มีลักษณะเป็นแพ็คเกจ มีการระบุตัวเลขปริมาณโซเดียมที่ชัดเจน ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวต่างๆ แต่ไม่รวมอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เพราะจะไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ โดยหลักการสินค้าที่สามารถลดความเค็มหรือไม่มีไขมันทรานส์ ควรจะมีราคาขายที่ต่ำกว่า แต่ปัจจุบันของยิ่งเค็มมากกลับขายถูกกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก
กรณีที่จะมีการจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ยืนยันว่ากรมพร้อมเก็บภาษี เพราะมีอัตราภาษีอยู่ในพิกัดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ แต่การตัดสินใจว่าจะเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ ที่น่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงความจำเป็นการจัดเก็บภาษีมากกว่า และที่ผ่านมาที่ไม่เก็บภาษี เพราะสาธารณสุขเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ โดยที่ผ่านมา 3 เดือน กรมดำเนินการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ขายผ่านทางออนไลน์ มีการฟ้องร้องไปแล้วกว่า 80 คดี คิดเป็นค่าปรับ 5 ล้านบาท