เลขาฯ สพฐ. ร้องขอภาคเอกชน ช่วยบริจาคหน้ากากอนามัยให้นักเรียน หลังไม่มีงบเพียงพอซื้อแจกโรงเรียนในสังกัดแต่อีกด้านมีเม็ดเงินมหาศาลไปซื้อรถถัง
ภายหลังการประชุม ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) พื้นที่กรุงเทพมหานครและในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ได้มอบให้แต่ละโรงเรียนไปสำรวจยานพาหนะที่ผู้ปกครองใช้ส่งนักเรียนว่ามีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร และเก็บข้อมูลค่ามลพิษในจุดที่โรงเรียนตั้งใน 4 ช่วงเวลา คือ เช้า สาย บ่าย และเย็น เพื่อดูว่าช่วงเวลาใดที่ค่ามลพิษเพิ่มขึ้น หรือ ลดลงเพื่อนำข้อมูลมาหารือร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง กำหนดมาตรการแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือเพราะ สพฐ.ไม่มีอำนาจไปสั่งการได้ ให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวัฒนธรรมการดูคุณภาพชีวิต และสภาแวดล้อมใหม่อย่างยั่งยืน เพราะการประกาศปิดเรียนเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่จำเป็นต้องหามาตรการระยะยาวเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว เช่น รณรงค์ปลูกต้นไม้ ลดใช้ยานพาหนะ ดูแลยานพาหนะ สำหรับโรงเรียนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้เจรจาขอหยุดการก่อสร้าง หากไม่สามารถหยุดได้ ให้ขอความร่วมมือผู้รับเหมาล้างฝุ่นทุกวัน
ขณะเดียวกัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายให้โรงเรียนสำรวจและเก็บข้อมูลเด็กที่มีภาวะเสี่ยง หรือมีโรคประจำตัวแพ้ฝุ่นได้ง่าย ซึ่งอาจต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยให้ปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมอุปกรณ์ช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน เช่น ออกซิเจน ซึ่ง สพฐ.อาจจะสนับสนุนอุปกรณ์บางอย่างให้โรงเรียนที่ขาดแคลน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งขอให้ใช้ภาวะผู้นำอย่างมั่นใจ ในการสั่งการปิดเรียนได้ทันที หากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง โดยมีอำนาจสั่งปิดได้ 7 วัน และช่วงปิดเรียนสามารถจัดสอน หรือให้เด็กเรียนรู้เพิ่มเติมจากหลายช่องทาง ทั้ง DLTV หรือติวฟรีดอทคอม