วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม
วันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑
บทความนี้ เขียนขึ้นเนื่องในวัน รัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ เป็นบทความสำหรับเพิ่มพูน ความรู้ ความเข้าใจ หรือทำให้เกิดความเข้าใจ สำหรับประชาชนทั่วไป หลากหลายอาชีพ รวมไปถึงบรรดา นักวิชาการ ครู อาจารย์ บางคน บางกลุ่ม บางสถาบัน และ เหล่าบรรดานักการเมือง หรือ พรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
บทความนี้ ไม่มุ่งเน้นที่จะ โต้แย้ง ถกเถียง หรือ กล่าวโทษผู้ใดผู้หนึ่ง แต่มุ่งเน้น ให้ท่านทั้งหลายได้เกิดความเข้าใจใน รัฐธรรมนูญ ของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อท่านทั้งหลายได้อ่านแล้ว ควรได้คิดพิจารณา ให้เกิดความเห็น ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อมิให้เกิดปัญหา เกิดการใส่ร้าย หรือกล่าวโทษ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรือเอารัฐธรรมนูญ มาเป็นข้ออ้าง มาเป็นข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยความไม่รู้ หรือ รู้เพียงผิวเผินแต่คิดว่าประชาชนไม่รู้ และเพื่อให้เกิด ความปรองดองจะได้ไม่ต้องไปกล่าวโทษ คณะผู้เขียนรัฐธรรมนูญ หรือผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ทั้งหมู่ทั้งมวล
ท่านทั้งหลายที่เคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ คงมีความรู้ ความเข้าใจในบางส่วนแล้วว่า “รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ” แต่ท่านทั้งหลายต้องทำความเข้าใจต่อไปว่า “รัฐธรรมนูญ เป็น แม่บทของกฎหมายในการปกครองประเทศ” อันนี้ท่านทั้งหลายคงต้องทำความเข้าใจเอาเองว่า คำว่า “แม่บทของกฎหมาย” หมายถึงอะไร เป็นอย่างไร
ดังนั้น รัฐธรรมนูญ จะเขียนเอาไว้อย่างไร ก็ล้วนเป็นแม่บทของกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะต้องไปกล่าวอ้าง หรือเอามาเป็นข้ออ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้น ฉบับนี้ เป็น ประชาธิปไตย หรือ เป็นเผด็จการ เพราะ รัฐธรรมนูญ จะเขียนไว้อย่างไร ท่านทั้งหลายที่เป็นนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ย่อมสามารถปฏิบัติตามได้ นับตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้ง การเลือก สว. ซึ่งถ้าหากนักการเมือง หรือพรรคการเมือง หรือบุคคลใดใด เป็นนักการเมือง เป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ เว้นแต่พวกเขาเหล่านั้น ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถไม่มาก จึงมองเห็นเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องขัดผลประโยชน์ อีกทั้งพรรคการเมือง หรือนักการเมือง ย่อมสามารถ ที่จะสร้างนโยบาย หรือมีนโยบาย ที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และสามารถ ทำให้มันเกิดความเป็นประชาธิปไตยได้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับสมองสติปัญญาของแต่ละพรรคการเมือง หรือของแต่ละบุคคล
โครงการหรือนโยบาย หรือยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใดใดที่มีอยู่ พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมสามารถสานต่อยึดเอาเป็นนโยบายของรัฐบาลสืบต่อไปได้ และหากพรรคการเมืองมีแนวคิด มีนโยบายที่ไม่เอื้อประโยชน์หรือเพี่อหวังผลประโยชน์ให้ฝ่ายตนและพวกพ้อง ก็ย่อมสามารถสร้างนโยบายใหม่ขึ้นมาได้โดยไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเพียง “แม่บทของกฎหมายในการปกครองประเทศ”
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑ นี้ ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่อท่านทั้งหลายได้อ่าน ได้คิดพิจารณา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ หรือฉบับไหนๆ ก็ย่อมจะคงอยู่ยั่งยืน ไปตลอด เพราะรัฐธรรมนูญของไทย เปลี่ยนหรือถูกยกเลิกมามากมายหลายฉบับ นั่นก็เป็นเพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ของเหล่าบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ
ขอความสงบสุข สามัคคีปรองดองจงเกิดมีในประเทศไทย อย่าได้มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะความโลภ ความหลง ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อันหวังเพียงผลประโยชน์ของฝ่ายตนเอง มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเอา รัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้าง กันอีกเลย สวัสดี
เทวฤทธิ์ ทูลพันธ์ (ผู้เขียน)