การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี NUCLEIC ACID TESTING (NAT)
การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี Nucleic acid testing (NAT)
สำหรับการตรวจ HIV RNA หรือ proviral DNA มีการใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามปริมาณไวรัส (viral load) ก่อนหรือหลังการรักษา วิธี NAT ไม่นิยมนำมาตรวจคัดกรองสำหรับการวินิจฉัยในรายบุคคลทั่วไป เพราะการตรวจหาแอนติบอดีสะดวกและเป็นการทดสอบที่ง่ายกว่า ยกเว้นการวินิจฉัยในทารกแรกคลอดและการตรวจเพื่อความปลอดภัยในเลือดผู้บริจาค
เทคนิคทางอณูที่ใช้ตรวจวินิจฉัยและตรวจวัดเชิงปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัสเอชไอวีในพลาสมา เริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990s และเรียกกันทั่วไปว่าวิธี HIV NAT วิธีนี้มุ่งเน้นตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในพลาสมา โดยมีการพัฒนาวิธีตรวจทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ จึงใช้เป็นวิธีตรวจคัดกรองและการตรวจเสริม ในระยะแรกวิธี NAT ได้ถูกนำมาใช้ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี (เช่นการติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลัน ซึ่งให้ผลลบของแอนติบอดี และการตรวจวินิจฉัยทารกแรกเกิดที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งไม่สามารถใช้แอนติบอดีแปลผล เพราะมีแอนติบอดีผ่านมาจากแม่) วิธี NAT ที่ใช้ตรวจหาไวรัสในเชิงปริมาณ (viral load assays) เพื่อตรวจติดตามประเมินผลการรักษา แต่ไม่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี
ปัจจุบันชุดตรวจ RNA NAT ในเชิงคุณภาพมีเพียง 1 ชนิดที่ได้รับอนุญาตใช้ทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ตรวจวินิจฉัยและตรวจยืนยันในผู้ติดเชื้อเอชไอวี วิธี HIV NAT ได้นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองเลือด/พลาสมา และเนื้อเยื่อได้ด้วย วิธี NAT ได้นำมาใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี เช่น วินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีในระยะเฉียบพลันและในทารกแรกคลอดที่เกิดจากแม่ติดเชื้อเอชไอวี ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุทางการแพทย์
โดยทั่วไปวิธี NAT จะช่วยวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีระยะแรก แต่วิธี NAT สำหรับการตรวจหาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีก็ไม่ได้มีความไวร้อยละ 100 เพราะวิธี NAT ยังให้ผลลบในช่วง 5-10 วันได้ หลังการติดเชื้อเอชไอวี ในผู้ติดเชื้อเอชไอวีบางรายที่ไม่ได้รักษาอาจให้ผลลบด้วย NAT แต่พบการติดเชื้อได้โดยวิธีตรวจหาแอนติบอดี ในกรณีนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การกดการแบ่งตัวของไวรัสตามธรรมชาติของร่างกายผู้ติดเชื้อ หรือจากการรักษาพบว่าเป็นสาเหตุหลักของการเกิดผลลบปลอมของวิธี NAT นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ เช่น การเก็บตัวอย่างส่งตรวจไม่เหมาะสม การแยกตัวอย่างไม่เหมาะสม การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม การมีสารยับยั้งในตัวอย่างตรวจ และวิธี NAT จะให้ผลลบในช่วง 5-10 วันหลังการติดเชื้อเอชไอวี
ความจำเพาะของชุดตรวจด้วยวิธี NAT อยู่ระหว่างร้อยละ 97.6 – 100 เมื่อตรวจจากตัวอย่างผู้ที่ไม่ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าวิธี NAT ให้ผลบวกปลอมที่มีค่าต่ำๆ ได้เมื่อค่าระดับปริมาณไวรัสใกล้กับค่าจำกัดของการตรวจวัด (LoD) ในทางกลับกันถ้าระดับปริมาณไวรัสมีค่าต่ำในช่วงที่ทำการตรวจ วิธี NAT ก็อาจให้ผลลบได้เช่นกัน การปนเปื้อนของตัวอย่างตรวจ และปัญหาทางเทคนิคอื่นๆ เช่น ตัวอย่างควบคุมภายในหรือตัวอย่างปรับเทียบค่ามาตรฐานไม่ดีเพียงพอ ทำให้ค่าที่ใช้ตัดสินไม่ถูกต้องและเกิดผลบวกปลอมได้
ขอบคุณที่มา : คู่มือการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี สำหรับเทคนิคการแพทย์












