“หมอธีระวัฒน์” จวกรัฐปิดความจริง เปิดโปงสารตกค้างใน “ผักผลไม้” 60% ล้างไม่ออก แฉแล็บรัฐตรวจได้แค่ 10% จากสารเคมี 280 ชนิด
“หมอธีระวัฒน์” จวกรัฐปิดความจริง เปิดโปงสารตกค้างใน “ผักผลไม้” 60% ล้างไม่ออก แฉแล็บรัฐตรวจได้แค่ 10% จากสารเคมี 280 ชนิด
เผยแพร่: 1 ต.ค. 2561 14:21 ปรับปรุง: 1 ต.ค. 2561 15:35 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
“หมอธีระวัฒน์” เปิดโปงอีก จวก ก.เกษตรฯ พูดไม่หมดสารตกค้าง “ผักผลไม้” 60% ล้างไม่ออก ห้องแล็บตรวจสารเคมีได้แค่ 10% จากสารที่มีกว่า 280 ตัว รับไม่ได้บอกตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ประเมินความเสี่ยงแล้วปลอดภัย ห่วง สธ.ถูกลากเข้าเกม ก.เกษตรฯ คุมอาหารปลอดภัยแทน อย.
ความคืบหน้ากรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาตอบโต้ว่า การล้างผักผลไม้ก่อนกิน ไม่ได้ทำให้ปลอดภัยจากสารเคมีและยาฆ่าแมลงอย่างแท้จริง เพราะหากถูกดูดซึมเข้าเนื้อในแล้ว ก็ยังได้รับสารพิษอยู่ดี และหากสะสมไปเรื่อยๆ ย่อมกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นความจริงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้บอกในการรณรงค์ให้ประชาชนกินผักผลไม้สดมากขึ้น
วันนี้ (1 ต.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thiravat Hemachudha” อีกว่า ต้องช่วยกันกระจายให้ทราบกันทั่วประเทศ ต้องลากให้อธิบาย และเปิดโปงให้หมด รู้เท่าทันสารพิษ รู้เท่าทันหน่วยงานรัฐ
สิ่งที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้บอกประชาชนกรณีการสุ่มตรวจผักและผลไม้ 1. ไม่บอกว่าสารที่ตกค้างส่วนใหญ่ ประมาณ 60% ล้างไม่ออก 2. ไม่บอกว่า ห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์นั้น วิเคราะห์สารพิษกำจัดศัตรูพืชได้กี่ชนิด เพราะความครอบคลุมในการวิเคราะห์จะให้ผล % การตกค้างแตกต่างกัน สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมีประมาณ 280 ชนิด แต่ส่วนใหญ่การสุ่มตรวจที่ผ่านมาของหน่วยงานราชการตรวจได้เพียง 10% ของจำนวนสารที่มีการใช้ในประเทศเท่านั้น ส่วนห้องปฏิบัติการที่ไทยแพนใช้ตรวจสอบสารได้มากกว่า 400 ชนิด (แต่ครอบคลุมชนิดสารที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 45%)
สิ่งที่หน่วยงานราชการแถลงต่อประชาชนเรื่องความปลอดภัยของผักและผลไม้จึงเต็มไปด้วยมายาคติหลายชั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง 3. การกำหนดค่า MRL ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการร่วมกันกำหนดระหว่างหน่วยงานราชการ และ 2 สมาคมค้าสารพิษ และ 4. การอ้างว่าแม้ตกค้างเกินมาตรฐาน แต่เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้วพบว่า ปลอดภัย เป็นสิ่งที่รับไม่ได้
เมื่อใดก็ตามที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ผักผลไม้และอาหารนั้น ก็เป็นอาหารพิษต้องเรียกร้องให้หน่วยงานราชการแถลงข้อมูลทั้งหมดในข้อ 1 ถึงข้อ 4 ต่อประชาชน การแถลงร่วมอำมหิต อัปยศของกระทรวงเกษตรฯ กับกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขถูกลากเข้าไปอยู่ในเกมของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อโน้มน้าวให้เห็นว่าผักและผลไม้ ไม่มีการตกค้างมาก และปลอดภัย นี่คือเหตุผลที่ มกอช.ต้องการดึงเรื่องการคุมอาหารปลอดภัยจาก อย.ไปอยู่ในมือกระทรวงเกษตรฯ การล้างผักที่บอกกันก็ไม่ได้ใช้ความรู้ ดังที่เราทราบว่าสารพิษที่ตกค้างส่วนใหญ่เป็นสารดูดซึม และอีกอย่างคือวิธีการล้างผักแต่ละวิธีล้างออกได้ไม่เท่ากัน











