“อาบัติ”...ผิดศีล ธรรมดาสมมติสงฆ์
“อาบัติ” คือ บทลงโทษพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาที่ได้กระทำผิดล่วงละเมิดสิขาบทหรือข้อห้ามตามพุทธบัญญัติ เรียกประสาชาวบ้านก็คือ “ผิดศีล”
พระภิกษุถือศีล 227 ข้อ...สามเณรถือศีล 10 ข้อ...แม่ชีถือศีล 8 ข้อ อาบัติที่เบาเรียกว่าลหุกาบัติ เช่น อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ อย่างเช่น...พระภิกษุฉันอาหารช่วงเวลาหลังเที่ยงวันไปจนถึงเช้าของ
วันใหม่ไม่ได้ หรือดื่มสุราของมึนเมา หรือเล่นการพนัน เป็นต้น
ถ้าเป็นพระภิกษุประพฤติผิดจะต้องแสดงอาบัติต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ไม่ผิดอาบัติ เช่นเดียวกันในช่วงก่อนทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น หรือก่อนลงอุโบสถ เรียกว่า “ปลงอาบัติ”...โทษนั้นก็จะตกไป
แต่ถ้าเป็นสามเณรหรือแม่ชีก็ต้องขอศีลใหม่จากพระภิกษุ เรียกว่าต่อศีลในช่วงกรณีดังกล่าว...ทุกอย่างจึงจะเหมือนเดิมคือมีศีลครบถ้วน แต่จะอย่างไรก็ตาม...เมื่อผิดพลาดแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมไม่เหมือนเดิมอยู่ดี แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย...หรือไม่สำนึกผิดอะไรเลย
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก เลขานุการมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ ธนบุรี กทม. บอกว่า “อาบัติ”...ที่นักบวชล่วงละเมิดไปแล้ว จะต้องอยู่ปริวาสกรรมนานหลายวันหลายคืนต้องแสดงตนต่อหน้าคณะสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย เป็นโทษสถานกลางเรียกว่ามัชฌิมโทษ ได้แก่อาบัติสังฆาทิเสสของพระภิกษุที่มีอยู่ 13 ข้อ
หรือชาวบ้านเรียกว่า “อยู่กรรม” ซึ่งหลายวัดได้จัดกิจกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องทุกปี
เมื่อพระภิกษุได้อยู่ปริวาสกรรมอย่างครบถ้วนอย่างเช่นเคยต้องโทษแตะต้องร่างกายสตรีเพศหรือเรียกว่า “สีกา”...อาบัตินี้หรือโทษนี้ก็จะตกไป และ อาบัติที่หนักที่สุดเรียกว่าครุกาบัติ เมื่อพระภิกษุต้องอาบัตินี้แล้วจะต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาทันที ถึงแม้ว่าจะไม่มีคนอื่นรู้เห็นก็ตาม
นับตั้งแต่...เสพเมถุน ฆ่ามนุษย์ ลักขโมยและอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตัวตน นี่เป็นมหันตโทษของพระภิกษุที่ไม่สามารถผ่อนปรนหรืออนุโลมได้เลย เรียกว่าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว
“ถ้ายังครองเพศนักบวชอยู่ก็มิใช่พระภิกษุ แต่เป็นเพียงผ้าเหลืองห่มคนเท่านั้น ชาวบ้านสามารถแจ้งคดีความเอาผิดได้เลยเพราะถือว่าแต่งกายเลียนแบบสงฆ์หรือหลอกลวงชาวบ้าน ชาวพุทธ”
ดังนั้น...การต้องโทษของนักบวชในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระภิกษุจึงมี 3 ขั้นตอนคือ โทษเบา โทษปานกลาง และ โทษหนัก ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยให้มากขึ้น เพื่อจะได้ธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา จะได้ดูแลคุ้มครองพระภิกษุรูปที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้ท่านได้มีโอกาสประพฤติธรรมจนกลายเป็น “เนื้อนาบุญ”
และ...จะได้กำจัดนักบวชบางรูปที่ไม่ยึดหลักพระธรรมวินัย ไม่อยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีให้หมดไปจากวงการพระพุทธศาสนา...ในขณะนี้พระภิกษุสามเณรและนักบวชในพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมีอยู่เพียงสามแสนกว่ารูปเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมด
“พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมก็อยู่ที่พุทธบริษัท...ถ้าเราเข้มแข็งภายในเสียแล้ว ภัยภายนอกจะย่างกรายเข้ามาเช่นใดหรือรูปแบบใดก็ไม่สามารถทำลายศาสนาของเราได้”
ภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ข่าวใหญ่ก่อนจะออกพรรษาไม่กี่วัน พระมหาสมัย บอกว่า เป็นประเด็นที่สำคัญที่ต้องกล่าวถึงโดยเฉพาะเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม นับตั้งแต่...สามเณรซึ่งถือว่าเป็นหน่ออ่อนของพระพุทธศาสนาเสพของมึนเมา เกี่ยวข้องกับสตรีเพศในเชิงชู้สาวหรือกาม... มีพฤติกรรมที่รุนแรง
รวมถึงเป็นการหมิ่นพระพุทธองค์ซึ่งเป็นศาสดาของศาสนาพุทธอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการชี้นำให้เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว...เสนอให้เห็นผลของกรรมอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ต้องใคร่ครวญไตร่ตรองให้ถ้วนถี่
กระบวนการตรวจสอบพระภิกษุมีตาข่ายครอบคลุมอยู่ 4 ขั้นตอนด้วยกัน...หนึ่งคือพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติขึ้นมา...
สองคือกฎหมายของบ้านเมือง ที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้...สามคือกฎกติกาทางสังคม และ ขั้นตอนที่สี่คือประเพณีและวัฒนธรรม
“พระภิกษุที่เข้าไปจำวัดในพื้นที่นั้นๆ จะต้องเรียนรู้เข้าใจในประเพณี...วัฒนธรรมของท้องถิ่น เราจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะเป็นวิถีชีวิต...ความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้าน”
ส่วนความเชื่อและความศรัทธาใดที่เป็นเดรัจฉานวิชาแล้วเมื่อเราได้สร้างความศรัทธาและความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับชาวบ้านอย่างแท้จริงแล้ว จึงค่อยๆนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เข้าไปแทรกวันละเล็กวันละน้อยให้กับชาวบ้าน...ชาวชุมชน อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า
“พระสงฆ์” ก็มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือ “อริยสงฆ์”...พระสงฆ์ที่หมดกิเลสแล้ว สามารถบรรลุธรรมขั้นมรรคผลไปจนถึงนิพพาน จึงเรียกว่าพระสงฆ์ผู้ประเสริฐ
อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “สมมติสงฆ์” พระสงฆ์โดยสมมติหมายถึงลูกหลานชาวบ้านที่บรรพชา...อุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าสามเณรบ้าง พระภิกษุบ้าง บุคคลเหล่านี้ยังไม่สิ้นกิเลส ยังมีโลภ โกรธ หลงอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้ามาสู่เพศนักบวชก็เริ่มรักษาศีล ปฏิบัติธรรมมากขึ้นกว่าการเป็นฆราวาส เพื่อกำจัดกิเลสตัณหา...ให้หมดสิ้นไป
“สมมติสงฆ์อาจจะมีข้อวัตรปฏิบัติที่บกพร่องไปอยู่บ้าง บางกรณีก็เป็นเรื่องเล็กน้อยที่พอสามารถอนุโลมกันได้ บางกรณีเป็นเรื่องที่จะสร้างความเสื่อมเสียก็ต้องมีการตักเตือน คาดโทษกันบ้าง แต่บางกรณีเป็นเรื่องที่หนักหน่วงที่สุดจึงจำเป็นต้องให้ลาสิกขาหรือให้สึกออกไป...ถ้าไม่ยอมต้องบังคับให้สึก”
พระมหาสมัย ย้ำว่า พระภิกษุหรือนักบวชในพระพุทธศาสนามิใช่จะแตะต้องไม่ได้ ทุกรูปล้วนมาจากลูกหลานชาวบ้าน...มิใช่เทวดามาเกิด สามารถทักท้วง ตักเตือน สามารถตรวจสอบได้ ดังจะเห็นได้จากหลายกรณีที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์และผ่านสื่อมวลชนอยู่เรื่อยมา
คนเราก็มีความแปลกประหลาดอยู่ว่า อะไรที่ถูกห้าม แล้วผู้คนก็ยิ่งอยากจะรู้กัน ยิ่งปกปิดก็ยิ่งต้องการให้เปิดเผยกัน...คำว่า “อาบัติ” จึงควรเป็นเรื่องของพระสงฆ์ใช้กันในทางพระธรรมวินัยเพียงเท่านั้น ชาวบ้านไม่ควรนำมาเป็นประเด็นทางสังคมหรือล้อเลียนกันให้สนุกปาก
“ผู้ผลิตสื่อให้ผู้คนในสังคมได้บริโภค โดยเฉพาะด้านศาสนาแล้วก็ควรให้ผู้บริโภคหรือผู้เสพแล้วนั้นเกิดอาการตื่น เกิดอาการเบิกบาน เกิดความรู้ตามหลักธรรมคำสอนของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม...สอนผู้คนให้รู้ดีรู้ชั่ว ให้ตื่นตัวจากความงมงาย ตื่นจากความเข้าใจผิดหรือหลงผิด...”
ผู้ได้ชมแล้วรู้สึกสดชื่น เบิกบานใจ เอิบอิ่มใจ มีความสุขใจ...ศรัทธาในศาสนามากขึ้น แต่มิใช่ชมแล้วเกิดความหดหู่ใจ เอือมระอาใจ เกลียดพระสงฆ์มากขึ้น ใส่ร้ายพระสงฆ์มากขึ้น...ทำลายศรัทธามากขึ้น ไม่ก่อให้เกิดสติและปัญญาที่สร้างสรรค์...สิ่งนั้นก็ไม่ควรทำ
คำถามสำคัญมีว่า...ภาพยนตร์หรือสื่อใดสร้างหรือสนับสนุนพระพุทธศาสนา?...เชิดชูพระพุทธองค์ สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ รวมถึงหมู่ชาวพุทธด้วยกันหรือไม่? หรือได้ทำลายพระสงฆ์โดยตรงหรือไม่เพียงใด?...ได้ทำลายศรัทธาชาวพุทธเพียงใด?...
ขอจงได้ไตร่ตรองด้วย “สติ” และ “ปัญญา” ของผู้คนในสังคมก็แล้วกัน
“พระพุทธศาสนา”...จะเจริญหรือจะเสื่อมก็อยู่ที่ “ชาวพุทธ” เป็นผู้กำหนดทั้งสิ้น.