พระธาตุอิงฮังประเทศลาว
พระธาตุอิงฮัง
แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พระธาตุอิงฮัง(ในประเทศลาว) เป็นพระธาตุคู่แฝดของพระธาตุพนม (ในประเทศไทย) สูง 25 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงสายที่ 13 ประมาณ 13 กิโลเมตร เลียบถนนไปบ้านโพนสิม แขวงสะหวันนะเขต มีภาพสลักนูนสูงออกแนวฮินดูประดับประดารอบพระธาตุ น่าจะเป็นศิลปะเขมร รอบผนังกำแพงพระธาตุด้านในเป็นศาลาวนรอบ มีพระพุทธรูปวางเรียงเป็นแถวยาวตลอดทั้งสี่ด้าน เห็นว่าเป็นการหล่อโดยพุทธศาสนิกชนทั้งชาวลาวและชาวไทยร่วมกัน มีซุ้มประตูทางเข้า 4 ด้าน ได้สืบทราบมาว่าทุกปีจะมีการจัดงานยิ่งใหญ่นมัสการพระธาตุอิงฮัง โดยจะมีขบวนแห่เทียน และฟ้อนรำถวายองค์พระธาตุ ในช่วงเดือนธันวาคม
คำว่า "อิงฮัง" เป็นคำในภาษาลาว หมายถึง "พิงรัง" หรือ "พิงต้นรัง" ในภาษาไทย
(ต้นรัง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นสาละ ซึ่งเป็นต้นไม้สำคัญในตำนานแห่งพระพุทธประวัติ)
ประวัติความเป็นมา ของพระธาตุอิงฮัง
แปลจากโบรชัวร์ภาษาลาวที่วางขายอยู่ด้านหน้าทางเข้าวัด ทราบว่าพระธาตุอิงฮัง สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบอง หรือ โคตรบูรณ์ ประมาณพ.ศ.400 อยู่ในสมัยพระเจ้าสุมิตธรรมวงศา พระองค์สร้างขึ้นตามคำแนะนำของสมณทูตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในสุวรรณภูมิครั้งแรกได้สร้างเป็นธาตุกู่ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกสันหลังพระพุทธเจ้าที่อัญเชิญมาจากกรุงราชคฤก มาประดิษฐานไว้ภายในกู่ธาตุ เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนสถานที่ปรินิพพานที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในป่าฮัง
ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จเปิดโลกและรับอาราธนามาฉันภัตตาหารที่บริเวณนี้ ต่อมาพระเจ้าพระเจ้าสุมิตธรรมวงศา กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรศรีโคตรบอง ได้สร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้นพร้อมตั้งชื่อว่าพระธาตุอิงฮัง เมื่อถึงศตวรรษที่ 9 อาณาจักรศรีโคตรบอง เริ่มเสื่อมอ่อนแอลงชนชาติขอมได้รุกเข้ามามีอำนาจแทน พระธาตุอิงฮัง จึงถูกดัดแปลงเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ ภายใต้การนำของพระเจ้าสุมนธาธิราชราชา ได้มีการสร้างต่อเติมองค์พระธาตุ ตกแต่งลวดลาย ประติมากรรมเป็นเรื่องเมถุนสังวาส และรามายนะ นับแต่นั้นมาลักษณะศิลปกรรมของพระธาตุอิงฮัง จึงเป็นศิลปะแบบขอมโบราณ พร้อมกับเรียกชื่อว่า อินทรปราสาท
จนถึงศตวรรษที่ 14 ชนชาติลาวได้เข้ามามีอำนาจแทนขอม สมัยพระโพธิสารราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเลื่อมใสพุทธศาสนาได้นำพุทธศาสนิกชนบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม พระธาตุอิงฮัง พระธาตุโพนคึมใหญ่ จนถึงสมัยพระเจ้าไซยะเสดถาธิราช ได้ต่อเติมศิลปะล้านช้างเข้าไปในองค์พระธาตุอิงฮัง และเสริมยอดดวงปี ดัดแปลงให้เป็นพระธาตุทางพระพุทธศาสนา โดยฐานพระธาตุแต่ละด้านกว้าง 9 เมตร สูง 25 เมตร ปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนั้น ยังมีตำนานความเชื่อของชุมชนบ้านธาตุอิงฮัง เกี่ยวกับการที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยภัตตาหารบริเวณนี้ และเสวยภัตตาหารที่ทำจากหมู จึงเกิดอาหารเป็นพิษ ชุมชนบ้านธาตุอิงฮัง จึงไม่มีใครเลี้ยงหมูจนถึงปัจจุบัน นี่คือความเชื่อพุทธของชาวบ้าน ที่มีระบบความเชื่อความศรัทธาปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเคร่งครัดจวบจนปัจจุบัน
ถ่ายในโบสถ์บริเวณพระธาตุอิงฮัง
ถ่ายในโบสถ์บริเวณพระธาตุอิงฮัง
จากประสบการส่วนตัวที่ได้เดินทางไปเที่ยวช่วงเดือนมกราคม เป็นช่วงหนาหนาวอากาศดีมากเย็นสบาย วิวสวยการเดินทางสะดวกเข้าทางมุกดาหาร มีโอกาสแวะไปเที่ยวกันนะ บ้านพี่เมืองน้อง