ผู้หญิงญี่ปุ่น ไม่ควรเป็นหมอ ?
เฟซบุ๊กแฟนเพจญี่ปุ่นโดยสังเขป : Japan in a Nutshellเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. มีข่าวว่า มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งโตเกียว (東京医学科大学) กีดกันไม่ให้นักเรียนหญิงเข้าเรียนแพทย์ ด้วยการหักคะแนนสอบ entrance ของนักเรียนหญิง และจำกัดสัดส่วนนักเรียนแพทย์หญิงไม่ให้เกิน 30% ใกล้เคียงกับสัดส่วนของแพทย์หญิงญี่ปุ่นในปัจจุบัน (~ 20%)
แหล่งข่าวบอกว่า มหาวิทยาลัยฯ ทำเช่นนี้มาตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 2010 ไม่มีใครจับได้ ไม่มีใครคัดค้านกระบวนการดังกล่าว
ผมอ่านข่าวนี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ครับ เพราะเดิมคิดว่านักเรียน ม.ปลาย ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ที่เห็นว่ามีนักเรียนหญิงน้อยกว่าชายมาก ก็เพราะผู้หญิงญี่ปุ่นไม่ค่อยเรียนต่อหลังจบ ม.ปลาย ทำให้มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นกลายเป็นโรงเรียนชายล้วนไป
แต่ถึงอย่างนั้น ข่าวนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจมากนัก เมื่อคำนึงถึงจารีตในสังคมญี่ปุ่นที่แบ่งภาระงานระหว่างเพศชายและหญิงชัดเจน ดังที่ผมเล่าไว้หลายครั้งในเพจนี้
เหตุผลสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องการจำกัดจำนวนนักเรียนหญิงเข้าเรียนแพทย์ ก็เพราะมองเห็นว่า แพทย์หญิงส่วนใหญ่เมื่อแต่งงานไปแล้วก็มักจะลาออกเป็นแม่บ้านเต็มตัว ผู้หญิงที่เรียนแพทย์จึงถูกมองว่าเป็นการเสียเวลา เสียทรัพยากร อุตส่าห์ร่ำเรียนมาตั้ง 6 ปี สุดท้ายกลับได้ใช้ความรู้ดูแลสามีและลูกเท่านั้น
มีตัวอย่างใกล้ตัวของผมเอง รุ่นพี่ท่านหนึ่งที่ทำงานในแผนกเดียวกันกับผม มีภรรยาจบแพทย์จาก ม.โตเกียว เมื่อแต่งงานแล้ว ภรรยาก็ลาออกจากการเป็นแพทย์ มาเป็นแม่บ้าน fulltime ดูแลปรนนิบัติสามีและลูกเล็กอีก 2 คน
อาจารย์แพทย์ญี่ปุ่นหลายท่านเมื่อมาเยือนคณะแพทย์ในไทย ต่างก็แปลกใจที่พบว่าแพทย์หญิงในไทยเยอะมาก แพทย์หญิงบางท่านเป็นหัวหน้าภาควิชา เป็นคณบดี เป็นประธานราชวิทยาแพทย์สาขาต่างๆ ฯลฯ ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ “คิดไม่ได้ - คิดไม่ถึง” ในสังคมชายเป็นใหญ่แบบญี่ปุ่น
ในมุมมองของคนไทยและประเทศอื่นๆ การกีดกันทางเพศเป็นเรื่องใหญ่ครับ แต่ในมุมมองของผู้ชายญี่ปุ่นกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา แล้วบังเอิญว่าคนกลุ่มนี้มักเป็นผู้ชี้นำสังคม กำหนดนโยบายบริหารงาน
เมื่อแพทย์หญิงไม่ได้ทำงานอย่างที่เรียนมา จึงเป็นข้ออ้างได้ว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องเรียนตั้งแต่ต้นเลยแล้วกัน เสียเวลาโดยใช่เหตุ ถ้ายังอยากมีส่วนร่วมในสังคมแพทย์ ก็มองหาสามีที่เป็นแพทย์แทนแล้วกัน ..”
เรื่องแบบนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะคณะแพทย์หรอกครับ ในคณะอื่นก็คงคล้ายๆ กัน จนถึงมีคนกล่าวกันว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นเรียนให้สูงเพื่อให้เจอผู้ชายดีๆ - อย่างในกรณีของรุ่นพี่ที่ผมกล่าวถึง ถ้าทั้งสองคนไม่ได้เรียน ม.โตเกียว ด้วยกัน ก็คงไม่ได้เจอกัน
ญี่ปุ่นเป็นสังคม embeded sexism ที่ผู้ชายเป็นใหญ่ โดยที่ผู้หญิงก็ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนครับ เพราะวัฒนธรรมสั่งสมและสั่งสอนกันมาอย่างนั้น เกิดเป็นผู้หญิงได้แต่งงานกับผู้ชายที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ ชีวิตนี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องลำบากออกไปหางาน fulltime อื่นๆ ทำให้วุ่นวาย
ผลประเมินความเท่าเทียมทางเพศ ปี ค.ศ. 2017 ระบุว่า ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 114 จากการสำรวจ 144 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 4 จากท้ายตารางในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ดีกว่าประเทศเกาหลีใต้อยู่นิดหน่อยเท่านั้น
รัฐบาลนายกอาเบะพยายามผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น แต่ยังไม่สำเร็จ เชื่อว่าคงต้องใช้เวลาอีกเนิ่นนานพอสมควร กว่าจะเปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมญี่ปุ่นได้ครับ
รัตนาดิศร
3 สิงหาคม 2561
โอซะกะฟุ ฮันไดเบียวอิน
.
หมายเหตุ - กรณีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งโตเกียว ผู้บริหารได้ลาออกไปแล้วครับ คงจะมีการสืบสวนในประเด็นนี้ต่อไป
https://www.facebook.com/JapanNutshell/photos/a.514361938718018.1073741828.514237958730416/1112258575595015/?type=3&theater