ริชาร์ด เกียร์ Richard Gear ดาราดังฮอลลีวูด"บนวิถีแห่ง โพธิสัตว์
Richard Gear บนวิถีแห่ง โพธิสัตว์ "พระพุทธศาสนา" เปลี่ยนชีวิต!!!
อ่านแล้วจะทึ่งในความเป็นพุทธะของเขาจากผู้ชายที่ชื่อ "ริชาร์ด เกียร์"บนวิถีแห่ง โพธิสัตว์
เกียร์ทำสมาธิเป็นประจำทุกวัน “เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมเกิดแรงจูงใจในแต่ละวัน” เขาบอกว่า การทำสมาธิของเขา คือ “#การทลายกำแพงของอัตตาลง
เกือบ 30 ปีแล้วที่ดาราดังของฮอลลีวูด
“ริชาร์ด เกียร์” #เข้ามาสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระเอกหนุ่มย้ำว่าเป็นหลักการที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน เพราะเขาได้พิสูจน์ด้วยการศึกษาและปฏิบัติอย่างจริงจังตลอดเวลาที่ผ่านมา
“ศาสนาพุทธ #เป็นแนวทางที่ผมค้นพบว่าเชื่อถือได้อย่างเต็มที่ เป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ"
เขาได้พบวิธีสร้างสมดุลระหว่าง “ชีวิตที่เป็นเปลือกนอก” คืองานการแสดง และ “ชีวิตที่เป็นแก่นใน” นั่นคือ #การพัฒนาจิตวิญญาณและความต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
เกียร์ยังเสริมด้วยว่า “ในมุมมองทางศาสนาพุทธ ความเขลาที่สุดก็คือ ความเชื่อว่าโลกเป็นดังที่เราเห็นอยู่ จากจุดนี้จึงเกิดความคิดในเรื่อง “ตัวฉัน และของฉัน” ซึ่งเป็นที่มาของสิ่งชั่วร้ายทั้งหลาย ตามหลักศาสนาพุทธ ทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่จริง และมีความสัมพันธ์กัน มนุษย์ทุกคนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผมขอภาวนาให้สรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องร่วมโลกในทิเบต รักษาศีลธรรมความดีงาม เพื่อจะได้ประสบความสุขโดยเร็วในปัจจุบันและอนาคต”
• สู่การเป็นพุทธศาสนิกชน
ริชาร์ด เกียร์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้มารู้จักพุทธศาสนา และกลายมาเป็นพุทธศาสนิกชน ว่า
“มีอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อได้อ่านธรรมะ และครั้งที่ 2 เมื่อได้เจอพระอาจารย์ แต่ก่อนหน้านั้น ผมเคยศึกษาปรัชญาในมหาวิทยาลัยมาก่อน ผมรู้จักธรรมะของศาสนา พุทธเป็นครั้งแรกตอนอายุ 20 กว่าๆ ตอนนั้นผมก็เหมือน กับคนหนุ่มทั่วไป ที่ไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต ผมไม่รู้ว่ามันเป็นความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายหรือเปล่า แต่มันขาดความสุขจริงๆ และมักมีคำถามทำนองว่า “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นด้วย” เกิดขึ้นเสมอ บางครั้งดึกแล้วผมยังออกไปตามร้านหนังสือ อ่านเกือบทุกประเภท และหนังสือที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุดคือ หนังสือพุทธศาสนาแบบ ทิเบต ของอีแวนส์-เวนทซ์ (Evans-Wentz)
ในหนังสือพูดถึงเรื่องความว่างเปล่า ครั้งแรกผมศึกษา เรื่องเซน ผมจำได้ว่าเดินทางไปแอลเอ เพื่อเข้าโปรแกรมทำสมาธิแบบเซน เป็นเวลา 3 วัน ผมเตรียมตัวก่อนไปเป็นเดือน ฝึกยืดขา เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการทำสมาธิ ครูคนแรกของผมคือ ซาซากิ โรชิ ซึ่งทั้งดุและใจดีในเวลาเดียวกัน ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มหัดใหม่ ไม่รู้อะไรเลย ผมรู้สึกไม่แน่ใจ แต่ในส่วนลึก ก็ต้องการเรียนรู้จริงๆ ครั้งนั้นผมรู้สึกมีประสบการณ์ที่ดีและถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับผม ในการเดินเข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา”
• ฝึกฝนปฏิบัติธรรม เพื่อสร้างโพธิจิต
พระเอกหนุ่มมักหาโอกาสปลีกวิเวกและศึกษาธรรมที่ทิเบตเป็นระยะๆ เขามีความสุขกับการใช้ชีวิตที่นั่น ซึ่งแตกต่างจากชีวิตในฮอลลีวูดโดยสิ้นเชิง เขาเล่าว่ามีเพียงห้องนอนเรียบง่าย และใช้ห้องน้ำรวม น้ำใช้มีจำกัด ไม่มีโทรทัศน์ หรือเครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ เกียร์บอกว่าเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการทรมานตัวเอง แต่เป็นเวลาที่เขาจะได้ผ่อนคลาย ได้ทำสมาธิ ได้ปลดปล่อย
“พระอาจารย์ของผมส่วนมากมาจากโรงเรียนเกลุกปะ ของพุทธทิเบต ซึ่งท่านได้สอนในเรื่องความรู้สึกนึกคิด สติปัญญา และการค้นหาความจริง โดยใช้ภาษาง่ายๆ ใช้หลักเหตุและผล และเทคนิคต่างๆในการทำสมาธิ มันจะค่อยๆทำให้ใจของเราเริ่มคุ้นเคยกับการมองสิ่งต่างๆในอีกรูปแบบหนึ่ง
ผมรู้สึกอยู่เสมอว่า "#การปฏิบัติธรรมคือการใช้ชีวิตจริง ผมจำได้ว่า เมื่อผมเริ่มทำสมาธิตอนอายุ 24 ปี เพื่อแสวงหาคำตอบให้ชีวิต ครั้งหนึ่งผมซุกตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆเป็นเดือนๆ พยายามฝึกไทชิและนั่งสมาธิ ผมมีความรู้สึกแน่ใจว่า ผมอยู่ในสมาธิตลอดเวลา ไม่เคยหลุดออกมา แม้เวลาจะผ่านมานาน แต่ผมก็ยังมีความรู้สึกเช่นนั้นอยู่ มาถึงตอนนี้ผมสามารถนำมันมาใช้กับโลกภายนอกได้ โดยการฝึกมากขึ้น เฝ้ามองใจของ ตัวเอง พยายามสร้างโพธิจิต(จิตรู้แจ้ง)ให้เกิดขึ้นในใจ”
ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 45 นั้น เกียร์ให้สัมภาษณ์ว่ากำลังศึกษา และปฏิบัติธรรมอยู่ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ เขาได้ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า
“เราต้องคิดว่า บรรดาผู้ก่อการร้ายนั้นได้ก่อความเลวร้ายให้กับชีวิตภายหน้าของพวกเขาไว้แล้ว เรียกว่าสร้างกรรมชั่ว และเราจะต้องมองให้กว้างไกลว่า เราทุกคนต่าง เกี่ยวโยงกับการกระทำครั้งนี้เช่นกัน” และยังย้ำว่า “เราต้องให้ความรักและเมตตากับทุกคน ไม่เว้นแม้พวกที่ก่อการร้าย ถ้าเราทั้งหลายสามารถที่จะมองพวกผู้ก่อการร้าย ด้วยความคิดว่า เขาเหล่านั้นคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ยาที่จะรักษาพวกเขาได้ก็คือ ความรักและเมตตานั้นเองไม่มีอะไรจะดีกว่านั้นอีกแล้ว"
เกียร์ทำสมาธิเป็นประจำทุกวัน “เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผมเกิดแรงจูงใจในแต่ละวัน” เขาพูด และบอกต่อไปว่าการทำสมาธิของเขา คือ “#การทลายกำแพงของอัตตาลง ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนตัวตนของคุณให้เป็นอีกคนหนึ่ง และเมื่อคุณได้เรียนรู้การเข้าถึงธรรมชาติของตัวตน คุณจะเริ่มเข้าใจว่าแบบแผนชีวิตของคุณเป็นอย่างไร และอะไรทำให้คุณตกอยู่ในสภาวะสับสน ผิดหวัง ไม่เป็นสุข ดังนั้น คุณก็จะรู้ว่า ทำไมมันถึงเกิดขึ้น และจะหา ทางหลุดจากตรงนั้นได้อย่างไร เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป”
ดาราดังย้ำถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำสมาธิว่า “เพื่อที่เราจะได้มีความสุขมากขึ้น คือช่วยทำให้สภาพทางอารมณ์และจิตใจดีขึ้น มันเป็นแนวทางปฏิบัติที่จะพาพวกเราผ่านพ้นความทุกข์ มุ่งหน้าสู่ความสุข แต่เป็นเพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ชีวิตจึงดูวุ่นวายสับสนทุกครั้งไป การอ่านใจตนเอง ก็คือ มองที่ตัวเราเองและเข้าใจจิตวิญญาณ ความเกลียดจะกลายเป็นความรักและนั่นเป็นหนทางที่ผมกำลังปฏิบัติอยู่”
• ก้าวเป็นศิษย์เอก ‘ทะไล ลามะ’
เกียร์เล่าว่าเขาเป็นสานุศิษย์ขององค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต มาตั้งแต่ปี 1982 และเขามักจะเดินทางไปที่ธรรมศาลา ในอินเดีย ซึ่งเป็นตั้งของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น เพื่อพบกับองค์ทะไล ลามะ การพบกันในครั้งแรกที่ธรรมศาลานั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเขาอย่างสมบูรณ์
“มันเหมือนรักแรกพบฉันใดฉันนั้น ผมรู้สึกได้ถึงความเชื่อมั่นและความสงบในทันที มันยากมากที่คุณจะพบคนคนหนึ่งที่มีความต้องการเพียงสิ่งเดียว คือ ให้คุณมีความสุข และท่านรู้หนทางนำไปสู่สุข เมื่อคุณปฏิบัติตามด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว คุณจะพบความสุขในที่สุด คุณอาจต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายครั้งเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดนั้น แต่รับรองว่าคุณจะพบความสุขได้แน่
เมื่อเจอกันครั้งแรก เราคุยกัน และท่านก็พูดขึ้นว่า “โอ.. คุณเป็นนักแสดงหรือ” ท่านหยุดคิดพักหนึ่งและพูด ต่อไปว่า “เมื่อคุณแสดงบทโกรธ คุณต้องรู้สึกโกรธจริงๆหรือเปล่า และถ้าเล่นบทเศร้า ต้องรู้สึกเศร้าจริงๆมั้ย เมื่อร้องไห้ ต้องร้องจริงๆหรือเปล่า” ผมตอบท่านว่า นักแสดง ต้องอยู่ในอารมณ์นั้นจริงๆ จึงจะแสดงได้สมบทบาทองค์ทะไล ลามะจ้องตาผมและหัวเราะ แท้จริงแล้ว ท่านหัวเราะความคิดที่ผมเชื่อว่าอารมณ์เป็นเรื่องจริง และผมต้องพยายามเชื่อว่ามีอารมณ์โกรธ เกลียด เศร้า เจ็บปวด และทุกข์
ปัจจุบันผมมาหาท่านที่นี่บ่อยมาก และยังรู้สึกเหมือน ครั้งแรกที่ได้พบท่าน ยังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เจอ ผมมีเรื่อง ราวมากมายที่จะบอกท่าน และถึงตอนนี้ ท่านเริ่มชินแล้ว ท่านเป็นคนที่จับจุดเก่ง และจะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี เพราะทุกคนที่มาหาท่าน เพราะต้องการหาทางคลายทุกข์
ผมคิดว่า เมื่อคุณได้สัมผัสท่าน จะมีผลต่อตัวตนของคุณเกือบทุกด้าน ความรู้สึกนึกคิดของคุณจะเปลี่ยนแปลงไป”
• บนวิถีแห่ง “โพธิสัตว์”
ในโลกมายา เกียร์ได้ชื่อว่าเป็นดาราเจ้าบทบาท เป็นพระเอกโรแมนติกแห่งฮอลลีวูด เป็น 1 ใน 50 บุคคลหน้าตาดีที่สุดในโลก และเป็นผู้ชายเซ็กซี่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ ของนิตยสาร People ฯลฯ
แต่ในเส้นทางธรรม นักแสดงหนุ่มใหญ่วัย 60 ปีเศษคนนี้ ได้รับการเรียกขานเป็น “อเมริกัน โพธิสัตว์” อันเนื่อง มาจากการทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพราะในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น สอนให้ทุกคนบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ (หมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) เพื่อช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของสัตว์โลก เพื่อให้เข้าถึงความเป็นพุทธะ เพราะทุกคนสามารถบรรลุโพธิภาวะได้ เนื่องจากมี “#โพธิจิต” คือจิตที่จะบรรลุโพธิได้อยู่ในตัวเอง
เกียร์เล่าว่า ในปี 1978 เขาได้ค้นพบเส้นทางที่นำไปสู่การทำงานช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อย่างจริงจัง
“หลังเสร็จสิ้นภารกิจจากงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ผมได้เดินทางไปที่อินเดียและเนปาล ขณะที่ผมอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัย นอกเมืองโพคารา ผมเดินไปเจอหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แถวนั้นไม่มีรถสักคัน ผมเห็นป้ายเขียนด้วยลายมือว่า “ผู้อพยพชาวทิเบต” ผมจึงเดินตามไปเรื่อยๆ และเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในอีกโลกหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นดินแดนหลังเส้นขอบฟ้าก็ได้ คนที่นี่มีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างจากคนทั่วไปที่ผมเคยพบปะ เวลาพวกเขาคิดและพูดจะเป็นในนามของส่วนรวม ไม่ใช่เฉพาะตน เมื่อพวกเขาพูดถึงเรื่องความรู้สึกนึกคิดของเขา ก็จะชี้นิ้วมาที่หัวใจของตัวเอง”
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับพระเอกหนุ่มในตอนนั้นก็คือ “มีหลายครั้งที่เมื่อคุณเดินผ่านเข้าประตูหรือเข้าไปในหุบเขา หรือเมื่อคุณเจอหน้าภรรยา และคุณก็คิดในใจว่า “ผมกลับถึงบ้านแล้ว” นี่แหละเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวผม”
ประสบการณ์ดังกล่าว เป็นแรงจูงใจให้เขาหันมาเป็นผู้สนับสนุนในนามของผู้ลี้ภัยชาวทิเบต และอีก 2 ปีต่อมา คือปี 1980 เขาเริ่มคิดว่าต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ
• จากความคิดสู่การปฏิบัติ
ดังนั้น ต่อมาเกียร์จึงได้เป็นประธานก่อตั้ง “Tibet House” ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นองค์กร NGO ที่ปกป้องคุ้มครองวัฒนธรรมทิเบต เขาได้สนับสนุน “Survival International” องค์กรสากลที่ให้ความช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
นอกจากนี้ยังสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนในอเมริกา กลางและในโคโซโว จัดตั้งมูลนิธิเกียร์ ในปี 1991 ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และมูลนิธิ Healing the Divide ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ช่วยเหลือชุมชนทั้งในและนอกประเทศ เกี่ยวกับปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การรณรงค์เรื่อง HIV/AIDS โดยเขาได้บริจาคเงินนับล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังช่วยรณรงค์หาเงินบริจาคเข้าองค์กรเหล่านี้อีกมากมาย
พระเอกหนุ่มใหญ่บอกว่า“ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีที่ดินอาศัยทำมาหากิน พวกเขาก็จะไม่เหลืออะไรเลย เมื่อคุณสูญเสียแผ่นดินเกิด ก็เท่ากับคุณสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม นั่นคือ คุณสูญเสียความเป็นตัวตนของคุณเอง มันเป็นหน้าที่ของประเทศร่ำรวย ที่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โลกใบนี้จะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ศาสนาใด ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับคน 1 คน จะแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆทั่วโลก”
แต่จริงๆแล้ว เกียร์บอกว่า เมื่อปี 2005 บิดาของเขาได้นำบทความที่เขาเคยเขียนไว้เมื่อตอนอายุ 18 ปี เกี่ยวกับการไม่ใช้ความรุนแรง ให้เขาอ่าน เขาจึงแน่ใจว่า เมล็ดพันธุ์ด้านมนุษยธรรม ถูกปลูกฝังในตัวเขา ก่อนที่จะเดินทางไปเนปาลเสียอีก
•ได้รับยกย่องจากเพื่อนๆและผู้คนในวงการบันเทิง
เกียร์ทำงานด้านมนุษยธรรมมาถึงปัจจุบันก็ 29 ปีแล้ว เขาได้พบวิธีสร้างสมดุลระหว่าง “ชีวิตที่เป็นเปลือกนอก” คืองานการแสดง และ “ชีวิตที่เป็นแก่นใน” นั่นคือการพัฒนาจิตวิญญาณและความต้องการช่วยเหลือเพื่อน มนุษย์
ด้วยการรณรงค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในเรื่องสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปเรือนจำ การให้ความรู้เรื่อง HIV/AIDS และการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้อพยพชาวทิเบต ทำให้เกียร์ได้รับรางวัล “Marian Anderson Award” (Marian Anderson นักร้องชื่อดังของอเมริกา เป็นผู้ก่อตั้งรางวัลนี้ โดยใช้ความมีชื่อเสียงของเธอช่วยเหลือสังคม) ประจำปีที่ 9 ในปี 2007 และได้รับการสดุดียกย่องจากเพื่อนฝูงและผู้คนในวงการบันเทิง
ไดแอน เลน นักแสดงหญิงที่เล่นหนังคู่กับเกียร์หลายเรื่องกล่าวว่า “สิ่งที่ฉันรักมากที่สุดในตัวริชาร์ดก็คือ เขาเป็นคนที่รักษาคำพูด"
-----------------------------------------------------
http://budhismusaroundtheworld.blogspot.com/2016/08/blog-post_3.html
https://www.youtube.com/watch?v=CqJZOV8cgmc