สาวป่วยโรคซึมเศร้า แชร์ประสบการณ์เคยฆ่าตัวตาย 3ครั้ง เผยคำพูดหนึ่งคำมันฆ่าคนให้ตายได้นะ
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนหนึ่ง ได้แชร์ประสบการณ์ที่ต้องเผชิญซึมเศร้าจนเคยฆ่าตัวตายมาแล้วถึง 3 ครั้ง ละเผยว่าจะพยายามเข็มแข็ง และจะไม่ทำแบบนี้อีก แต่สุดท้ายเธอก็ตกลงไปสู่ห้วงแห่งความเศร้าและได้ทำร้ายตัวเองอีกครั้ง และอยากฝากบอกด้วยว่าคำพูดหนึ่งคำมันฆ่าคนให้ตายได้เลย ซึ่งเธอได้แชร์เรื่องของตัวเอง เพื่ออยากให้สังคมและคนรอบข้างเข้าใจกับคนที่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอยากฝากเรื่องราวของตัวเองให้เป็นอุทาหรณ์ และใครก็ตามที่มีคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า "คำพูดและกำลังใจสำคัญมาก "
โดยเธอได้โพสท์ภาพ ที่เต็มไปด้วยเลือดนองพื้น จากการทำร้ายตัวเอง เนื่องจากการของโรคซึมเศร้าได้เข้ามากัดกินจิตใจ และได้หยุดยาเองไปประมาณ 1ปี และย้ำว่า"กินยาให้ตลอดอย่าหยุดยาเองเหมือนเรา มันจะยิ่งแย่กว่าเดิม"
โดยได้โพสท์ข้อความระบุว่า จากคนซึมเศร้าคนนึงเราอยากจะบอกให้ทุกคนเข้าใจ หลายๆคนบอกว่าเราเรียกร้องความสนใจ เป็นคนประสาทเป็นบ้าจะมาอยู่กับใครได้ ถ้อยคำพูดเพียงเล็กน้อยมันทำให้คนอย่างเราดาวน์ถึงที่สุด
เราเคยฆ่าตัวตายมาแล้ว3ครั้ง และคิดว่าจะไม่ทำอีก จนวันนี้ไม่รู้เราหยุดยาเองหายไป1ปี เปลี่ยนหมอรักษาใหม่ผลข้างเคียงยาเราเบลลอยเหมือนไม่มีสติ เราเครียดหลายเรื่อง เราอยากได้คนรับฟังไม่ได้อยากได้ข้อเสนอ เจ็บที่สุดคือคนใกล้ตัวไม่เข้าใจหาว่าเรา เรียกร้องความสนใจ มีช่วงนึงๆไม่อยากออกไปไหนไม่อยากเรียนหาแต่เพื่อนอยากหัวเราะกลับมาเศร้านั่งเงียบอารมณ์รุนแรงจนเป็นไบโพล่าร์ไปเลย
เราพยามทำให้ทุกคนมีความสุข หัวเราะจะได้มีความสุข ไม่ต้อง เหมือนกับ เรา เราเก็บทุกคำพูดมาคิดเล็กๆน้อยในใจจนมันระเบิดออกมาแล้วเรื่องทุกเรื่องที่เราะสมในใจมันทำให้เรากลายเป็นคนก้าวร้าวอารมณ์รุนแรงเหมือนคน2บุคลิก
สุดท้ายนี้ใครมีเพื่อนเป็น โรคซึมเศร้า โปรดจำไว้ "คนใกล้ตัว สำคัญมาก คำพูด กำลังใจ" คำพูดหนึ่งคำมันฆ่าคนได้เลยนะ
**กินยาให้ตลอดอย่าหยุดยาเองเหมือนเรา มันจะยิ่งแย่กว่าเดิม**
ขอบคุณเจมส์,ฟลุ๊คธีร์,รูทบียร์,ทาม,เว่น เราจะ เข้มแข็ง กว่านี้ สัญญา❤
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้เปิดเผยว่าปัจจุบัน (1-7 พฤศิจกายน 2560) มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน (อาจไม่รวมสำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่รู้ตัวหรือไม่รับการรักษา)
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่พบเพียง 1.1 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกพบว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคน ปีนี้
นายนววิช นวชีวินมัย อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม กล่าวถึง ภาวะซึมเศร้าว่า เป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของการหลั่งสารสื่อประสาทในร่างกายของคน ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือมีฐานะทางสังคมอย่างไร
“ในร่างกายของเราจะมีสารเคมีที่ทำงานส่งผลต่อสมองไปสู่อารมณ์ของคน และพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ ผู้ที่มีสารเหล่านี้ไม่ปกติ ทำให้เกิดอารมณ์เศร้า เป็นอาการเศร้าติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน หรืออีกสาเหตุนึงคือการได้รับวิกฤตในชีวิต ซึ่งกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง” นายนววิชเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์
นายนววิชระบุว่า ความน่ากลัวของภาวะซึมเศร้า คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักมาก อาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เช่น ในกรณีของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำของวงดนตรีอเมริกัน “ลินกินพาร์ค” ซึ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา
“อาการซึมเศร้าอาจเกิดร่วมกับ อาการหลงผิด เช่น คิดว่าคนทั่วไปบนท้องถนน หรือในสังคมกำลังนินทา หรือตำหนิเราอยู่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น สถานการณ์ลักษณะนี้อาจจะบีบคั้นให้เขารู้สึกอยากหนีออกไปจากตรงนั้น หรือรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลย การรับรู้ที่ผิดพลาด ทำให้เกิดอารมณ์เศร้าได้ เมื่อความเศร้ามันวิกฤตจริงๆ ภาวะซึมเศร้ายังส่งผลให้สารบางอย่างในร่างกายทำงานผิด เช่น นอนไม่หลับ ยิ่งนอนไม่หลับก็ยิ่งเครียดหรือเศร้าเพิ่ม” นายนววิชกล่าวเพิ่มเติม
บุคคลรอบข้างถือเป็นกำลังใจสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยต่อสู้และผ่านภาวะนี้ไปได้ การช่วยเยียวยาทำได้ดังนี้
- ให้กำลังใจ ความเข้าใจ และอดทนต่อผู้ป่วย
- คอยพูดคุยและรับฟังพวกเขา หลีกเลี่ยงคำพูดให้กำลังใจ แต่ไม่เกิดประโยชน์ต่าง ๆ เช่น “สู้ ๆ” “ทำไมแค่นี้ทำไม่ได้” “แค่นี้ยอมแพ้แล้วหรือ” “แย่จัง” ผู้ป่วยต้องการหาคนรับฟัง มากกว่าพูดหรือสอนธรรมะ
- พยายามให้พวกเขาเห็นถึงความเป็นจริงและมีความหวัง ย้ำให้มั่นใจว่าเวลาและการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยได้แน่นอน
- ชวนผู้ป่วยไปทำกิจกรรมที่ชอบ ไปเดินเล่น แต่หากผู้ป่วยไม่อยากไป ก็ไม่ควรไปกดดันหรือฝืนใจ
- ให้การช่วยเหลือในการนัดหมายแพทย์ให้
- อย่าเพิกเฉยหากผู้ป่วยกล่าวเรื่องการฆ่าตัวตาย ควรรีบแจ้งกับนักบำบัดหรือแพทย์ทันที
สำหรับผู้ที่มีความซึมเศร้านานเกิน 2สัปดาห์และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ หรือลองเข้าไปสอบถามได้ที่ เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย หรือ สายด่วนสุขภาพจิต1323