เหตุผลของนักลงทุนหุ้นที่เก่งและรวยมากๆ ใช้ชีวิตแบบสมถะ
เคยสังเกตมั้ยครับ ทั้ง วอร์เร็น บัฟเฟต และ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และนักลงทุน Value Investor คนอื่นๆ (ที่จริงแม้แต่ Trader ที่เก่งๆ ก็เหมือนกัน) สามารถทำเงินจากตลาดหุ้นได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังใช้ชีวิตแบบคนทั่วๆ ไป ที่มีรายได้ต่างจากพวกเขาราวฟ้ากับเหว คือ กินร้านอาหารข้างทางธรรมดา ขับรถคอมแพ็คคาร์ธรรมดา อยู่บ้านหลังเล็กๆ กับครอบครัวแบบธรรมดา และใช้ชีวิตแบบธรรมดา ...
คำตอบคือ เพราะของที่หรูหรามากเกินไปกว่านั้นเค้าจัดว่าเป็น “ของแพง” ยังไงล่ะครับ
อ้าว ไหงพูดยังงั้น ... งง ใช่มั้ยล่ะ
คนที่มีรายได้ระดับนั้น แค่บ้านหรูๆ รถหรู แม้กระทั่งเครื่องบินส่วนตัว ก็ใช้เพียงแค่ "เศษสตางค์เล็กๆ น้อยๆ" ของเค้าก็สามารถซื้อได้แล้ว แล้วจะมาบอกว่ามันแพงได้อย่างไรกัน
นี่ไงครับ
คำตอบคือ เพราะว่าการมองอะไรว่า ถูก-แพง ของเรากับเค้ามันต่างกัน
สมมุติว่า นาฬิกาข้อมือเรือนนึง ราคา 50,000 บาท คุณว่ามันถูกหรือแพงมั้ยครับ?
ถ้าคุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท คุณจะบอกว่า นาฬิกาอะไรฟะ แพงชิบหาย ... แต่ถ้าคุณเกิดมีรายได้เดือนละ 4-5 แสน ขึ้นมา คุณอาจจะบอกว่า เห้ย! มันเหมาะกับกรู ก็ไม่แพงเท่าไหร่นี่ ซื้อได้ๆ แค่นี้ขนหน้าแข้งไม่ร่วง
นาฬิการาคา 50,000 เท่าเดิม ทำไมบางทีเรารู้สึกว่ามันแพงและบางทีเราก็รู้สึกว่ามันไม่แพง?
ปิ๊งป่อง! ... คนทั่วไปจะรู้สึกว่าของถูกหรือแพงโดยเทียบกับกำลังทรัพย์ที่เค้ามี แต่นักลงทุน VI จะเปรียบเทียบความถูกแพงกับมูลค่าของของชิ้นนั้นไงครับ
เช่น ถ้านักลงทุน VI เจอนาฬิกาที่ราคา 50,000 บาท (หรือหุ้นที่ราคา 5 บาท) เค้าจะคิดว่า นาฬิกาเรือนนั้น (หรือหุ้นตัวนั้น) ควรจะมีราคาเท่านั้นจริงๆ หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ (ก็แค่สแตนเลสแปะโลโก้ชื่อดัง) ยังไงก็ไม่ซื้อเพราะว่า "ราคามันแพงกว่ามูลค่าของมัน” แต่ถ้า มันตรงกันข้ามคือ ราคาต่ำกว่ามูลค่า (เช่นนาฬิกาเรือนนั้นทำจากทองคำ 24k หนัก 5 บาท หวานเลย กำไรเห็นๆ เป็นต้น) หรือแม้แต่ราคาเหมาะสมกับมูลค่า ก็อาจตัดสินใจซื้อ
และเพราะการที่เค้าเป็นคนมองเรื่องราคากับมูลค่าแบบนี้ เค้าเลยแทบไม่มีโอกาสได้ซื้อของแพง หรือซื้อหุ้นแพงเลย เว้นแต่ว่าบางทีก็อาจจะประเมินมูลค่าผิดไป
นี่คือเหตุผลของ Value Investor ไงครับ
ผู้เขียน / waysahrat
(ภาพประกอบ : บ้านและรถยนต์ ราคาชิ้นละประมาณ $30,000 ของ Warren Buffet นักลงทุนที่รวยที่สุดในโลก)