เพศไม่ได้ตัดสินกันที่อวัยวะเพศ ผู้ชายข้ามเพศก็คือผู้ชาย
“ตั้งแต่รู้ว่าตัวเองชื่อโตโต้ ผมก็เดินไปบอกแม่ว่า ‘โตโต้เป็นผู้ชาย’ ครั้งนั้นแม่ไม่ได้ตอบอะไร พอขึ้นอนุบาลต้องใส่กระโปรง ก็บอกแม่ว่า ‘ไม่ใส่ โตโต้เป็นผู้ชาย’ ป้าก็แซว ‘จะเป็นผู้ชายได้ยังไง โตโต้ไม่มีจู๋’ ตอนนั้นบอกไปว่า ‘ไม่เป็นไร เดี๋ยวมันจะงอกมาเอง’ เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชายเหมือนกับน้อง เลยอึดอัดกับการปฏิบัติที่ต่างกัน แต่ด้วยความที่พ่อแม่เป็นครูน้อยในต่างจังหวัด ต้องดิ้นรนหาเงิน เลยไม่ได้มีเวลามาก บรรยากาศในบ้านมีความกดดัน ผมไม่อยากเป็นปัญหาของครอบครัว เลยปิดตัวเอง แล้วพยายามตั้งใจเรียน พอขึ้น ม.ปลาย มาเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา เริ่มมีความรักกับผู้หญิงเป็นครั้งแรก แต่ไม่บอกใครว่าเป็นแฟนนะ เวลาผ่านไปยิ่งชัดเจนว่าตัวเองชอบผู้หญิง แต่ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชายไม่ชัด ไม่เห็นความเป็นไปได้ เต็มที่คงเป็นทอม แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ทอม
“พอเข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่แต่งตัวยังไงก็ได้ เราเลยเจอคนที่เพศหลากหลาย ด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือ เลยเจอคำว่า LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) ตอนนั้นไม่ค่อยมีข้อมูลเป็นภาษาไทย ต้องหาจากหนังสือและเว็บไซต์ต่างประเทศ จนกระทั่งปี 4 มาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ เลยได้รู้จักคำว่าเพศวิถีเป็นครั้งแรก สมัยนั้นบ้านเรามี นก-ยลลดา เขาเรียกตัวเองว่าผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender woman) เลยไปหาว่ามีผู้ชายข้ามเพศไหม ถึงได้เจอยูทูปเบอร์คนนึงทำคลิปตั้งแต่เป็นผู้หญิง แล้วค่อยเทคฮอร์โมนและผ่าตัดหน้าอก ที่ผ่านมาผมรู้ว่าตัวเองไม่ใช่อะไร แต่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นอะไรมาก่อน นั่นคือครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเองเป็นแบบไหน ผมไม่ใช่ทอม ไม่ใช่เลสเบี้ยน แต่คือผู้ชายข้ามเพศ (Transgender men)
“ถึงจะรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายแบบนั้น พอเรียนจบ ผมเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ตอนนั้นยังใส่กระโปรงไปทำงานอยู่เลย หลังจากนั้นสักพักมาทำงานธนาคาร การต้องแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผู้หญิงเป็นความอึดอัด เหมือนเราต้องหลบๆ ซ่อนๆ ตลอด ผ่านไปปีกว่าเกิดความรู้สึกว่า อยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว เลยลาออกจากงาน แล้วตัดผมสั้น ซื้อเสื้อผ้าแบบผู้ชายมาใส่ แล้วเริ่มเข้าสู่แวดวงกิจกรรมเกี่ยวกับ LGBT ตอนนั้นยังรับตัวเองได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในใจติดตรงที่พ่อแม่ยังไม่ยอมรับ เลยตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ ปรากฏว่าไม่มีใครเข้าใจเรื่องเพศเลย จนเจอหมอคนนึงพูดว่า ‘คุณจะเป็นอะไรก็ช่าง เรื่องนี้เป็นสิทธิมนุษยชน’ เลยยอมรับการรักษา กินยาและทำตามที่บอก หมอให้เขียนไดอารี่ก็มีแต่เรื่องแม่ เราแคร์แม่มาก วันนึงแม่พูดขึ้นว่า 'โตโต้คิดว่าตัวเองเป็นผู้ชายแล้วพ่อแม่จะไม่รักเหรอ เข้าใจผิดนะ แม่รักลูกมากกว่าชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอะไร อยากให้ลูกมีความสุข' คำพูดนั้นมาปลดล็อค บวกกับการเป็นอาสาสมัครต่างๆ ทั้งในประเด็น LGBT และครูอาสา ทำให้ Self esteem ค่อยๆ กลับมา ผมกล้าบอกใครต่อใครว่า ‘ผมเป็นทรานส์เมน’
“พอมีความมั่นใจก็กลับมาทำงานตามปกติ และตัดสินใจเทคฮอร์โมน เดินออกจากคลินิก อยากตะโกนดังๆ ว่า ‘กูเป็นอิสระแล้วโว้ย!’ อิสระจากร่างกายที่เป็นกรงขัง เราเหมือนเล่นละครอยู่ตลอดเวลา หลังจากนั้น หน้าเริ่มมัน เสียงเริ่มแหบ ผ่านไปปีกว่าเริ่มมีหนวดและมีขนตามตัว ขั้นตอนต่อไปคือผ่าหน้าอก ในใจพร้อมแล้วล่ะ แต่อยากเก็บเงินไปเรียนต่อต่างประเทศก่อน จากที่เคยสูญเสียความมั่นใจ การค่อยๆ ยอมรับตัวเองช่วยให้ชัดเจนว่าคือใคร แน่นอนอยู่แล้ว ต้องมีคนไม่ยอมรับ ต้องมีคนตั้งคำถาม และต้องมีคนล้อเลียน คุณเจออยู่แล้ว แต่สำหรับผม การที่เราชัดเจนในตัวเอง คนใกล้ตัวยอมรับ นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”
“ผมเคยแจ้งความเรื่องเอกสารหายที่สถานีตำรวจ พอยื่นบัตรประชาชนให้ เจ้าหน้าที่ถามว่า ‘ทำไมบัตรเป็นนางสาวล่ะ ไปทำอะไรมา’ พอบอกไปว่า ‘บัตรประชาชนถูกต้องแล้ว ผมข้ามเพศมา’ เขาถามต่ออีกว่า ‘ทำอะไร ทำยังไง’ ซึ่งเราไม่ได้สะดวกใจจะอธิบาย หรือที่คนรอบๆ ตัวเจอกัน เช่น ตำรวจตั้งด่านตรวจ พอเห็นบัตรประชาชนก็หาว่าเอาของคนอื่นมาใช้ หรือไปโรงพยาบาล พอพยาบาลซักประวัติแล้วรู้ว่าข้ามเพศก็ไปเรียกคนอื่นมามุง เกิดการซักไซ้เกินกว่าเหตุ นั่นเป็นตัวอย่างเหตุการณ์ที่คนข้ามเพศเจออยู่เสมอ กลายเป็นความอึดอัดและต้องคิดหลายรอบเวลาต้องทำอะไรที่ใช้บัตรประชาชน คำถามเหล่านั้นเป็นความเจ็บปวดที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ บางคนเลือกที่จะอดทน ขณะที่บางคนเลือกต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง
“เคยมีคนเปรียบเทียบคนข้ามเพศไว้ว่า เราเหมือนอยู่ในสังคมที่ต้องโดนเข็มทิ่มทุกวัน แล้วไม่รู้ว่าจะโดนตอนไหนด้วย มันเป็นความจริง ที่คนอื่นจะสงสัย ตั้งคำถาม ไม่ยอมรับ ล้อเลียน ทั้งหมดนั้นเป็นความจริงที่ต้องเจอ พวกเราเลี่ยงไม่ได้หรอก ขณะที่ความจริงเป็นแบบนี้ ผมจะไม่ทำตัวเองเป็นลูกโป่งที่พร้อมจะแตกได้ตลอดเวลา บางพื้นที่ผมไม่ยอม ก็จะยืนยันไปว่า 'ผมเป็นผู้ชาย' (เน้นเสียง) แต่บางพื้นที่ที่เสียงอันตราย ผมก็ระมัดระวังตัวเอง ประนีประนอม เพราะสุดท้ายเราต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสังคม”