7 พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่ต้องรู้ เปลี่ยนตบยุงเป็นนิ้วล็อค
เนื่องจากยุคนี้นั้นเป็นยุคของการตลาดออนไลน์ที่มาแรง และปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็เกิดขึ้นมากมาย และเมื่อมีคนขายเยอะ ความต้องการของคนซื้อก็หลากหลายตามมา ถ้าตั้งหน้าตั้งตาขายอย่างเดียวโดยไม่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ซื้อหรือลูกค้าเลย สิ่งที่อยากได้ เช่น การค้าขายดีมีกำไร อาจเป็นค้าขายหงอยเหงาขาดทุนก็ได้ ดังนั้นเราก็ต้องมาวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของลูกค้าออนไลน์เพื่อให้เข้าใจลูกค้าแล้วสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุดตรงใจเพื่อให้ยอดขายเกินเป็นอย่างที่เราตั้งใจไว้
นักช้อปปิ้งในไทยส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนในการเข้ามาค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคามากที่สุด รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และแท็บเล็ต ซึ่งนับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการที่จะใช้โมบายล์แอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจที่มีฐานลูกค้าประจำที่ต้องเน้นการสื่อสารเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น
2. ผู้บริโภคไทยชอบมองแบบผ่านๆ
ผู้เข้าชมเว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านเนื้อหาทั้งหมดแบบละเอียด พวกเขามักกวาดสายตาดูแบบผ่าน ๆ เพื่อหาข้อมูลที่ตนต้องการ หากคุณจัดวางหน้าเว็บไซต์ไม่ดี ก็จะทำให้พวกเขาไม่พบข้อมูลที่ต้องการได้แน่นอนดังนั้น คุณจึงต้องจัดวางเนื้อหาให้อ่านง่าย เน้นหัวข้อให้โดน และจัดวางเนื้อหาเป็นย่อหน้าสั้น ๆ ให้อ่านง่าย และนำเสนอข้อมูลไม่ว่าจะเป็นบทความหรือภาพประกอบที่สามารถสื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายในเวลาสั้น ๆ ถ้าพวกเขาสนใจต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม พวกเขาก็สามารถคลิกดูรายละเอียดเองได้ต่อไป
3. ผู้บริโภคไทยเป็นคนขี้เบื่อ
แทบทุกคนบนโลกออนไลน์มักมีอาการขี้เบื่อ หากเว็บไซต์หรือร้านค้าไหนไม่ค่อยอัพเดทข้อมูล หรือไม่มีจุดเด่นอะไรเลย โอกาสที่พวกเขาจะกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณก็น้อยลง ดังนั้นการสร้างความแตกต่างคือทางอยู่รอดของคุณ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความแปลกใหม่ทางด้านประสบการณ์มากขึ้น เช่น ประสบการณ์ในการเป็นคนแรกที่ได้สัมผัสหรือเป็นเจ้าของสินค้า ประสบการณ์การรับรู้ทางด้านอารมณ์หรือความรู้สึกที่มีต่อสินค้า เป็นต้น
4. ผู้บริโภคไทยขี้ระแวง
เนื่องจากข่าวการถูกหลอกขายสินค้าบนโลกออนไลน์มีให้เห็นกันบ่อย ๆ ได้สินค้าไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองคิดบ้าง สินค้าคุณภาพไม่ดีบ้าง ทำให้เกิดการระแวงไว้ก่อนและยังไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่คุณนำเสนอดังนั้น คุณต้องเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ของธุรกิจ แสดงแบนเนอร์การจดทะเบียนพาณิชย์ฯ เป็นต้น
5. ผู้บริโภคไทยชอบจ่ายเงินผ่านทางธนาคารและเคาน์เตอร์เซอร์วิส
ช่องทางการชำระค่าสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในประเทศไทยได้แก่บัตรเครดิตและโอนเงินผ่านธนาคาร โดย 90% ของร้านค้า e-Commerce ในประเทศไทยให้บริการชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตและ 81% มีช่องทางการชำระค่าสินค้าผ่านธนาคาร และอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยคือเคาน์เตอร์เซอร์วิสในประเทศไทยที่มีมากกว่าในประเทศอื่นๆ ดังนั้นการจ่ายค่าสินค้าโดยมีคนกลางในระบบจะช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้น[/caption]
6. สาวไทยคือผู้ทรงอิทธิพลในการจ่ายเงิน
สำหรับประเทศไทย ในครัวเรือนต่างๆ อำนาจทางการเงินส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ “ผู้หญิง” หรือแม้แต่สาวโสดเองก็ตามที่ยุคนี้พวกเขามีกำลังซื้อมากขึ้นและพร้อมจะปรนเปรอทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุด นอกจากนี้สาวๆ ในยุคนี้ยังมีความมั่นใจในตัวเอง พร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าที่ทำให้พวกเขาดูดี มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยในโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
7. ผู้บริโภคไทยจะรักในแบรนด์มากขึ้น
สำหรับผู้บริโภคชาวไทยมักจะมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์มากกว่าผู้บริโภคประเทศอื่นๆ พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายมากกว่าถ้าหากว่าแบรนด์ดีจริง โดย 75% ของผู้บริโภคไทยเห็นตรงกันว่า “เวลาที่ได้เห็นแบรนด์ในดวงใจออกสินค้าใหม่หรือมีอะไรน่าซื้อ ฉันก็พร้อมจะจ่ายเงิน” นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยจะยังคงมีความรู้สึกจงรักภักดีกับแบรนด์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจต่างๆ คงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง