“เสน่ห์นางงิ้ว” ละครไทยยุคดิจิทัลสำหรับทุกคนในครอบครัว แฝงข้อคิดสะกิดใจคนรุ่นใหม่
ละครเรื่อง “เสน่ห์นางงิ้ว” เป็นละครโทรทัศน์ แนวพีเรียด-ดราม่า-โรแมนติก-คอมเมดี้ จากบทประพันธ์ของภราดร ศักดา บทโทรทัศน์โดยยิ่งยศ ปัญญา และกาญจนา โตะยู ออกอากาศทางช่อง3 ในวันพุธ และวันพฤหัสบดี ถือเป็นละครที่รีเมค (Remake) ที่สวนกระแสท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของวงการทีวีดิจิทัล โดยมีเนื้อหาละครสะท้อนความแตกต่างทางสังคมของชาวจีนที่อาศัยในประเทศไทยผ่านครอบครัวเกียรติกำจรผู้เป็นเจ้าของกิจการโรงน้ำปลา และครอบครัวแซ่โง้วเจ้าของคณะงิ้วไซป้อ การดำเนินเรื่องของละครเรื่องนี้แม้ดูไม่แตกต่างจากพล้อต(Plot)ละครไทยในหลายทศวรรษ หากแต่ความรัก ความแค้น ความริษยา การเอาชนะและบทพิสูจน์ของความดีที่ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม รวมถึงบทละครที่ไม่รีรอที่จะสอนผู้ชมในทุกบทตอนต่างหากที่สร้างความแตกต่างให้ละครเรื่อง “เสน่ห์นางงิ้ว” ยุค2018 ให้ทั้งสาระ และแง่คิดดีดีสอนใจผู้ชมได้อย่างไม่ยัดเยียดในทุกตอนที่ละครออกอากาศ
- แง่คิดเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน
อาเจียงเจ้าของคณะงิ้วไซป้อเป็นต้นแบบของความอ่อนน้อมถ่อมตนที่หาได้ยากยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน อาเจียงมีความอ่อนน้อมและให้เกียรติลูกค้าผู้มาว่าจ้างคณะงิ้วให้ไปแสดงเสมอแม้ว่าจะถูกโกงค่าแสดง ถูกยกเลิกงานอย่างกระทันหันก็ตาม อาเจียงอ่อนน้อมต่อนักแสดงงิ้วแม้ว่าทุกคนจะคือลูกน้อง “ไม่มีพวกเค้า เราก็อยู่ไม่ได้” กลายเป็นคำพูดติดปากที่อาเจียงมักจะสอนคนอื่นๆเสมอ
อาบัวนางเอกคณะงิ้วและนางเอกของเรื่อง เด็กกำพร้าที่อาเจียงเก็บมาเลี้ยง อาบัวเป็นผู้ที่ยืนยันจะสืบสานต่อศิลปะการแสดงงิ้วให้สืบต่อไปจนสู่รุ่นลูกหลาน แม้จะรู้ดีว่ายากยิ่งในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่หันไปสนใจความบันเทิงรูปแบบใหม่ก็ตาม ชะตาชีวิตทำให้อาบัวต้องแต่งงานกับชยุติและเข้าไปอยู่ในครอบครัวเกียรติกำจร ท่ามกลางความเกลียดชังของทุกคนหากแต่อาบัวก็ยังคงแสดงความอ่อนน้อมต่อทุกคนในฐานะผู้มาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวลีแม่ของสามีที่ทั้งกลั่นแกล้งและแสดงความเกลียดชังลูกสะใภ้ออกมาอย่างชัดเจน
- แง่คิดเรื่องความรักเป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้
แง่มุมความรักของละครเรื่องนี้ครบรสตามสไตล์ละครไทย คือความรักของแม่กับลูกและความรักระหว่างชายหญิง เริ่มต้นด้วยความสุดโต่งในความรักและความหวังดีของวลีผู้เป็นแม่ที่มีให้ลูกชายชยุติและลูกสาวกนกวิภา กลายเป็นสิ่งที่ลูกทั้งสองคนปฏิเสธและกลายเป็นต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมด จากความรักวลีแปรเปลี่ยนเป็นการเอาชนะจนไม่ลืมหูลืมตาจนทำให้คุณค่าความรักของวลีด้อยค่าในสายตาลูกและนั่นยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ชยุติ และกนกวิภาพิสูจน์รักแท้ตามแนวทางที่ตนเลือกเอง กว่าวลีจะยอมรับความรักและคนรักของลูกทั้งสองก็เกือบทำให้ความรักระหว่างแม่ลูกร้าวฉานเสียแล้ว
สำหรับความรักระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว เริ่มต้นที่ความรักระหว่างอาบัวกับชยุติ ที่ต่างเป็นรักแรกของกันและกันท่ามกลางอุปสรรคทั้งทางฐานะอาชีพ และความรู้การศึกษา ที่อาบัวถูกตั้งข้อรังเกียจว่าไม่อาจส่งเสริมทางครอบครัวฝ่ายชายได้เลย แต่ด้วยความรักและความจริงใจของชยุติและความอดทนของอาบัว จึงทำให้ทั้งสองผ่านพ้นอุปสรรคและครองรักกันได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามกับคู่ความรักของดำเกิงและกนกวิภาที่เริ่มต้นด้วยความเกลียดชัง และการดูถูกดูแคลนที่กนกวิภามีต่อดำเกิง จากคู่กัดกลายเป็นคู่รักเมื่อดำเกิงค่อยๆดัดนิสัยกนกวิภาจากคุณหนูไฮโซให้รู้จักและเข้าใจแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ที่กนกวิภาไม่เคยสัมผัสมาก่อน กนกวิภาจึงยอมรับกับความรักที่เกิดขึ้น ถึงขนาดยอมขัดใจวลีผู้เป็นแม่ ทั้งที่ในตอนแรกกนกวิภาเองก็ตั้งแง่รังเกียจครอบครัวคณะงิ้วมาโดยตลอด
- แง่คิดเรื่องความซื่อสัตย์ต่อตนเอง และวิชาชีพ
การแสดง “งิ้ว” และการยกย่องว่า “งิ้ว” คือศิลปะการแสดงชั้นสูงของชาวจีนเด่นชัดมากในละครเรื่องนี้ ประกอบกับบทละครโทรทัศน์ที่ออกแบบให้อาเจียงเจ้าของคณะงิ้วต้องอดทน ฝ่าฟัน ประคับประคองให้คณะงิ้วมีงานและมีเงินเลี้ยงชาวคณะต่อไปได้ อาเจียงให้ความสำคัญกับการจัดการแสดงทุกครั้งที่ถูกว่าจ้าง โดยย้ำกับทุกคนในคณะให้แสดงสุดความสามารถอย่างดีที่สุด และอาเจียงถึงกับโมโหสุดขีดเมื่อรู้ว่าดำเกิง นักแสดงตลกประจำคณะผู้เป็นบุตรชาย แต่งหน้าแต่งตาและใส่ชุดงิ้วไปขายบะหมี่เพื่อเรียกลูกค้า เพราะอาเจียงถือว่าเป็นการลดคุณค่าของการแสดงงิ้วซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูง แม้สิ่งที่ดำเกิงทำก็ด้วยหวังว่าจะหาเงินมาช่วยบรรเทาความฝืดเคืองของคณะงิ้วก็ตาม
อาบัวผู้ยืนยันว่าจะสานต่อให้การแสดงงิ้วให้ได้รับการสืบทอดต่อไป จนถึงขนาดยอมแลกกับการไม่ไปสอบในวิชาสุดท้ายเพื่อมาแสดงเป็นนางเอกงิ้วตามที่บิดาได้รับปากเจ้าของงานไว้ น้ำตาของอาเจียงเมื่อทราบภายหลังว่าลูกสาวไม่อาจจบการศึกษาเพราะไม่ต้องการปฏิเสธรับงานแสดงงิ้ว สร้างความสะเทือนใจและสะท้อนสปีริตอันแรงกล้าของอาบัวในแง่การเสียสละประโยชน์และความสำเร็จส่วนตัว เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมของชาวคณะงิ้วได้อย่างน่าประทับใจ
- แง่คิดเรื่องความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ
อาบัวเป็นหนึ่งในเด็กกำพร้าที่เจียงเก็บมาเลี้ยง แต่ความกตัญญูที่อาบัวมีต่ออาเจียงมากมายเกินกว่าลูกคนอื่น ด้วยรู้ว่าตนคือความหวังของอาเจียง อาบัวจึงทำทุกอย่างเพื่อให้อาเจียงมีความสุข ตั้งแต่การยืนยันรับปากจะสานต่อคณะงิ้วเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกชั้นสูงทางศิลปะการแสดงนี้ แม้จะรู้ว่าความนิยมในศิลปะแขนงดังกล่าวลดน้อยถอยลงทุกที รวมถึงความพยายามที่จะตั้งใจเล่าเรียนให้สำเร็จการศึกษา แม้ว่าที่สุดอาบัวจะไม่สามารถทำได้ก็ตาม ความรักความผูกพันระหว่างอาเจียงและอาบัวสะท้อนผ่านคำสอนของอาเจียงให้ผู้ชมได้ซาบซึ่งใจได้ในแทบทุกตอน
- แง่คิดเรื่องสำนึกผิด ชอบ ชั่ว ดี
อาม่ามาลัย หญิงสูงวัยที่ในอดีตมีเพียงเสื่อผืนหมอนใบจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาพำนักในประเทศไทยพร้อมกับสามี ความลำบากยากจนจากการเริ่มต้นปลูกผักขายและความรักของสามีที่หล่อเลี้ยงหัวใจเป็นความประทับใจที่หญิงชราอดไม่ได้ที่จะเล่าให้ลูกหลานฟัง แม้ปัจจุบันที่สามีเสียชีวิตและตนเองกลายเป็นอาม่าประจำตระกูลเกียรติกำจรผู้มั่งคั่งทั้งทรัพย์สินและเงินทอง แต่หัวใจก็ยังคงโหยหาความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น และความสุขสงบในครอบครัว สำหรับหญิงชราการได้เข้าไปชมการแสดงงิ้วจึงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมอดีตกับปัจจุบันให้ยังเป็นสุขได้ อาม่ามาลัยเป็นตัวละครที่ถูกออกแบบให้แยกแยะความถูก ผิด ดี ชั่วได้โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือด หลายครั้งที่ตัวละครอาม่ามาลัยต้องเอ่ยปากขอโทษอาเจียง แทนวลีลูกสาวที่จงใจโกงค่าจ้างแสดงงิ้วพร้อมกับเสนอจะชดใช้เงินค่าจ้างให้ รวมถึงการเอ่ยตำหนิตัวเองว่าผิดที่เลี้ยงลูกไม่ดี และการออกปากปกป้องอาบัวเมื่อคราวถูกใส่ร้ายรังแก คำสั่งสอนของอาม่ามาลัยที่พูดกับชยุติว่า “เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้” หรือ “บ้านหลังนี้มันใหญ่เกินไป” แสดงถึงความว้าเหว่และความเข้าใจโลกของหญิงชราที่เห็นคุณค่าของความรักและความถูกต้อง มากกว่าวัตถุและความสัมพันธ์ทางสายเลือด
- แง่คิดเรื่องเวลาพิสูจน์คน
ความยาวของละครน้ำดี “เสน่ห์นางงิ้ว” ปรับลดจำนวนตอนลงเหลือเพียง 11 ตอนในการรีเมครอบที่3 ต่างจากเดิมที่เคยผลิตยาวถึง 15 ตอนเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อในยุคดิจิทัล แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ทำให้เนื้อหาสาระบันเทิงหดหายไปกลับเพิ่มความเข้มข้นให้ทุกฉากตอน เต็มเปี่ยมอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่ชวนติดตาม และเช่นกันในสาระของเวลาพิสูจน์คน ก็จะเป็นบทสรุปสุดท้ายของทุกตัวละครที่จะได้บทเรียนจากการกระทำของตน วลีหลังจากถูกทอดทิ้งจากทุกคนในครอบครัวที่สุดก็สำนึกต่อการกระทำของตนที่ผ่านมา ความรักของอาบัวและชยุติสุขสมหวังหลังการผ่านการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆร่วมกัน เช่นกันกับความรักของดำเกิงและกนกวิภาที่ผ่านบทพิสูจน์ว่าคุณค่าของความรักสำคัญกว่าความแตกต่างทางฐานะอาชีพ ในขณะที่ครอบครัวตัวร้ายของล้วน แสงเดือน และยิ่งจันทร์(นางร้ายของเรื่อง) ก็ได้รับผลของการกระทำคดโกง โกหกหลอกลวงผู้อื่น อย่างสาสม
ละครเรื่อง “เสน่ห์นางงิ้ว” ถือเป็นละครน้ำดียุค2018 ที่เหมาะกับทุกคนในครอบครัวได้สะท้อนภาพศิลปะการแสดงงิ้วหรืออุปรากรจีน (Chinese Opera) ได้อย่างงดงามทั้งเสื้อผ้า และท่ารำ มีการคัดเลือกนักแสดงที่เหมาะสมบทบาท และมากฝีมือ ประกอบกับบทละครโทรทัศน์ที่บอกสอนให้ผู้ชมรู้คุณค่าของศิลปะวัฒนธรรม คุณค่าความรัก ความดีงาม ยกย่องให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่เลือกความรวย ความจน ขณะนี้ออกอากาศมากว่าครึ่งหนึ่งด้วยผลการสำรวจความนิยมในการรับชม(Rating) เฉลี่ยเพียง 1.77 ด้วยอาจเป็นเพราะงิ้วเป็นศิลปะการแสดงที่ห่างหายไปไม่เป็นที่รู้จักของคนในปัจจุบัน เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และมีความบันเทิงในรูปแบบอื่นจากวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความชิ้นนี้จะเปิดทางการเรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลได้เปิดใจศึกษา “งิ้ว” ศิลปะการแสดงในราชสำนักของจีนที่มีแง่มุมในการศึกษามากมาย ทั้งเรื่องเหตุการณ์ในพงศาวดารจีน และประวัติศาสตร์จีน การผสมผสานความเชื่อ ประเพณี และศาสนาผ่านการร้อง ร่ายรำ แสดงลีลาท่าทางประกอบ การต่อสู้ การแต่งกาย และรวมถึงการแต่งหน้าของตัวละครซึ่งเป็นมาตรฐานจารีตประเพณีดั้งเดิมที่งดงามเป็นเอกลักษณ์สืบไป
(เรื่อง : รองศาสตราจารย์เอกธิดา เสริมทอง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม/ภาพ : ช่อง 3)