รื้อรูปหล่อหลวงพ่อแช่มผิดส่วน วัดพระนางสร้าง จ.ภูเก็ต
ทุบแล้วรูปหล่อหลวงพ่อแช่ม เกจิดังภูเก็ต สูง 30 เมตร ในวัดพระนางสร้าง หลังถูกโซเชียลถล่มหนัก มีขนาดไม่สมส่วนผิดเพี้ยน แต่กว่าจะรื้อถอนสำเร็จ ทำเอาเหงื่อตก เจอทั้งฝน สายสลิงขาดถึง 2 ครั้ง...
จากกรณีโซเชียลมีเดียร้องเรียน รูปหล่อหลวงพ่อแช่ม ความสูง 30 เมตร เกจิดังของจ.ภูเก็ต ภายในวัดพระนางสร้าง ถ.เทพกระษัตรี ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีขนาดไม่สมส่วน และเป็นสิ่งก่อสร้าง 1 ใน 17 รายการ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาวัดพระนางสร้าง มีมติให้ทุบทำลาย-รื้อถอนและเคลื่อนย้ายไปยังจุดเหมาะสม ก่อนที่จะมีการปรับภูมิทัศน์พื้นที่รอบวัด โดยล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 ม.ค. พระเถระชั้นผู้ใหญ่ใน จ.ภูเก็ต นำโดยพระราชสิริมุนี เจ้าคณะจังหวัด พระครูเมตตาภิรม เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต พระครูพรหมประภัสสร เจ้าคณะอำเภอถลาง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระนางสร้าง พร้อมนายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา จ.ภูเก็ต และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมสังเกตการณ์และวางแนวทางการรื้อถอนรูปหล่อหลวงพ่อแช่ม
นอกจากนี้ยังประกอบพิธีบวงสรวงตามหลักศาสนาและความเชื่อ ทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก่อนทำการปรับภูมิทัศน์และปรับทัศนียภาพ รวมทั้งรื้อถอนและทุบทิ้ง โดยก่อนหน้านี้ได้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบางรายการ บริเวณรอบฐานองค์หลวงพ่อแช่มไปแล้ว เช่น อาคารเก๋งจีน รูปปั้นเซียน รูปปั้น รูปปั้นพระพิฆเนศ เป็นต้น โดยในครั้งนี้ได้มีการนำเครื่องจักรหนัก เช่น รถแบ็คโฮ เป็นต้น และคนงาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลเทพกระษัตรีและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันวางแผนการรื้อถอนรูปหล่อองค์หลวงพ่อแช่ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากเป็นรูปหล่อที่มีขนาดใหญ่และมีความสูงถึง 30 เมตร
ทั้งนี้ได้เริ่มจากการใช้ลวดสลิงรัดบริเวณมือซ้าย ซึ่งถือไม้เท้าให้หักลงมา จากนั้นได้ใช้สายสลิงรัดในส่วนลำตัวท่อนบน เพื่อดึงให้ร่วงหล่นลงมา แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากสายสลิงมีขนาดเล็ก และระหว่างนั้นได้มีฝนตกลงมาราว 15 นาที จากนั้นได้เปลี่ยนแผนเป็นการนำสายสลิงรัดบริเวณมือขวา ซึ่งถือพัดยศให้ร่วงลงมา โดยครั้งแรกไม่สำเร็จเนื่องจากสายสลิงขาด แต่สุดท้ายสามารถดำเนินการจนสำเร็จ ต่อจากนั้นได้วางแผนว่าจะใช้วิธีเดียวกัน เพื่อดึงในส่วนของเศียรลงมา แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เพราะสายสลิงขาดถึง 2 ครั้ง
ต่อมาจึงได้มีการวางแผนกันใหม่ โดยใช้รถแบ็คโฮกะเทาะส่วนของนิลและปูนที่เคลือบองค์พระออก และเจาะเสาค้ำ ซึ่งห่อไว้ด้วยเหล็กเส้นเพื่อยึดองค์พระไว้ออก จากนั้นใช้รถแบ็คโฮกะเทาะพนักเก้าอี้ก่อนที่องค์พระจะพังลงมาทั้งองค์ โดยมีประชาชนมาคอยเฝ้าสังเกตการณ์และติดตามการรื้อถอนเป็นจำนวนมาก.