หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ถ่ายทอดมลพิษทางอากาศผ่านงานศิลปะ โดย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

โพสท์โดย greenpeaceth

บทความ โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ยากแก่การมองเห็น แต่ศิลปินคนหนึ่งกำลังทำให้เรามองเห็นผ่านงานศิลปะ

มลพิษทางอากาศกำลังเป็นปัญหาที่น่ากังวลในประเทศไทย โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งเป็นฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กเพียงครึ่งหนึ่งของเม็ดเลือด แน่นอนว่ามลพิษทางอากาศ PM2.5 นั้นหากไม่ถึงขั้นวิกฤตจนกระทั่งกลายเป็นปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดนอย่างกรณีทางภาคเหนือตอนบนและอินโดนีเซียดังเช่นที่เกิดขึ้นมาหลายปี ก็ยากที่จะมองเห็นได้

ไม่ใช่เพียงแค่ยากแก่การมองเห็นเท่านั้น แต่มลพิษทางอากาศกำลังเป็นปัญหาที่ผู้กำหนดนโยบายต่างเพิกเฉย

“สิ่งที่ยากที่สุด คือทำให้คนรู้สึกว่า อากาศที่คนหายใจมีอย่างอื่นอยู่ มีสิ่งที่อันตรายอยู่” นี่คือจุดเริ่มต้นของของ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ศิลปินหัวใจสิงแวดล้อม กับการสร้างสรรค์งานศิลปะจากสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างมลพิษทางอากาศ ให้มาเป็นสิ่งที่จับต้องได้เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านทางนิทรรศการ Right to Clean Air - The Art Exhibition ที่กรีนพีซต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงประเด็นอันเร่งด่วนของมลพิษทางอากาศ และเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อปกป้องชีวิตประชาชนโดยเร็วที่สุด

ทำไมถึงเล็งเห็นว่ามลพิษทางอากาศเป็นประเด็นที่เราต้องสนใจ

ผมเป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก  ต้องรับการฉีดตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผมแพ้ฝุ่น ขนแมว และไรฝุ่น แต่พอเริ่มทำงานศิลปะที่มีการอ้างอิงเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมตระหนักได้ว่า จริง ๆ แล้วร่างกายของเราไม่ได้อ่อนแอ แต่อาจจะมาจากสิ่งแวดล้อมที่มีพิษ พอผมได้รับรู้เกี่ยวกับฝุ่น จึงเห็นภาพชัดขึ้น และเป็นสิ่งที่คนทั่วไปยังไม่รับรู้เพราะเรายังมองไม่เห็น แล้วในอากาศเมื่อเรามองไม่เห็นว่ามีสารพิษ เราจะรับมือได้อย่างไร

แนวคิดของผลงานชิ้นที่จัดแสดงนี้คืออะไร

“งานชุดนี้ มีอยู่สองชิ้น ชิ้นแรก คือ กลุ่มประติมากรรม ชื่อ Memory พูดถึงคนที่ต้องรับผลกระทบ เป็นรูปร่างของมนุษย์สี่คน เด็ก ผู้ใหญ่ แม่ และทารก เป็นตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษแหล่งต่างๆ สร้างขึ้นด้วยวิธี  เปเปอร์มาเช่ (Paper Mache) แล้วจึงเคลือบด้วยฝุ่นที่เก็บมาจากที่นั้นๆ มีขนาดเท่าคนจริง แขวนในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้เชื่อมโยงกัน คล้ายกับโลกที่ล่องลอย สะท้อนถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ในโลกนี้ หรือผ่านไปแล้ว ความรู้สึกอย่างนี้คล้ายกับผู้ที่สูญเสีย เป็นสภาพที่ไร้กาลเวลา ระบุไม่ได้ว่าจะเริ่มหรือจะจบเมื่อไหร่ เหมือนกับปัญหาที่บ้านเรายังแก้ไม่ได้

ชิ้นที่สอง ชื่อ Monolith Souvenir เป็นชิ้นงานที่รวบรวมใบไม้ที่ของต้นไม้ที่เก็บมาจากพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศ แน่นอนว่าบางใบเห็นฝุ่นได้ยาก แต่บางพื้นที่ที่เก็บมานี่ ผมไม่แน่ใจว่าคนที่นั่นอยู่ได้อย่างไร

ใบไม้เคลื่อนย้ายออกไปไม่ได้ ต้องทนจำอยู่ที่นั่น และรับผลกระทบอย่างเต็ม ๆ ชื่อของผลงานนี้ “ของที่ระลึก” จึงเป็นภาพย้อนแย้งด้วยตัวมันเอง  เมื่อเราไปเยือนเมืองต่างจังหวัด เรามักนึกถึงของดี ของที่ระลึก แต่ถ้าในมุมหนึ่งคนในจังหวัดนั้นยังเจ็บป่วย ทนทุกข์ เรายังจะรับรู้เรื่องนี้ ปล่อยผ่าน และรับรู้เฉพาะส่วนที่ดีได้หรือ ผมจึงพยายามเชื่อมโยงสองอย่าง เอาใบไม้มาอยู่ในสภาพที่หยุดนิ่ง เพื่อให้คนเห็นว่า สภาพที่คุณได้เห็น ยังไม่ใช่ของจริงทั้งหมด ยังมีเรื่องอื่นอีกมาก”

ข้อความที่อยากให้งานศิลปะตะโกนออกไปคืออะไร

“เรายอมไม่ได้ ขณะนี้เรายอมไม่ได้อีกต่อไป เราจะไม่ทนกับสิ่งเหล่านี้อีกต่อไป” ผมหวังว่างานศิลปะจะสร้างแรงกระเพื่อมได้ เปล่งเสียงตะโกนได้ดังมากพอ และไปถึงกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวด้านนี้ได้ต่อ”

สร้างสรรค์งานศิลปะจากมลพิษทางอากาศขึ้นมาได้อย่างไร

“สิ่งที่ยากที่สุด คือทำให้คนรู้สึกว่า อากาศที่คนหายใจมีอย่างอื่นอยู่ มีสิ่งที่อันตรายอยู่ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่สามารถแสดงเป็นรูปธรรมได้ แต่สิ่งที่ลอยอยู่ยังไงก็ตามต้องตกลงพื้น ผมจึงเลือกฝุ่น จากที่เคยเห็นจากข่าวในสมัยเด็กเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศในบางเมืองบางพื้นที่ จนกระทั่งได้พบว่าปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไข แล้วคนที่อยู่ที่นั่นล่ะ

ในการเก็บฝุ่นบางครั้งน่าตกใจมาก บางครั้งอากาศใส ๆ แต่เครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า PM2.5 แสดงค่าสูงมาก”

เล่าให้ฟังหน่อยว่าการเดินทางไปเก็บมลพิษทางอากาศเพื่อมาทำงานศิลปะนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

“มีหลายประเด็นที่ผมไม่คาดคิดมาก่อน อาจเตรียมใจไม่ทัน สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเบ็ดเสร็จของเครือโรงงานอุตสาหกรรม ที่สามารถจัดการให้สิ่งต่างๆ ดูดีได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เราเห็นบางพื้นที่ต้องอพยพประชากรออกไป แต่บางพื้นที่คนไม่มีสิทธิเสียงในการพูดถึงผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง ถ้าเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องเราเองได้ แล้วจะมีอะไรอีกในประเทศนี้ที่สามารถทำได้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่ไม่มีเสียงของตนเอง แล้วพวกพี่น้องที่เขาต่อสู้มาโดยตลอด เขาจะสื่อสารออกมาให้คนทั่วไป และคนที่มีอำนาจรับรู้ได้อย่างไร เราไม่สามารถจะปล่อยผ่านกลับบ้านนอนอย่างเป็นสุขได้ คนกรุงเทพฯ ไปที่ห้างแอร์เย็น แต่คุณตระหนักไหมว่าคุณใช้ทรัพยากรอื่นมาจากอะไร พืชอาหารมาจากที่ไหนบ้าง คุณอาจจะจินตนาการไม่ออก แต่มันทำให้ผมนอนไม่หลับ”

ทำไมจึงเลือกที่จะเป็นศิลปินแนวสิ่งแวดล้อม อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่หันมาทำด้านนี้

“ศิลปะที่เราเข้าใจกันจะมีนิยามของคำว่าความงามอยู่ เป็น First Impression แต่ศิลปะที่ไม่งามก็มีอยู่เยอะ ซึ่งทำให้เกิดการจดจำได้ ศิลปะหลายชิ้นมีความเศร้าปนอยู่ด้วย เพราะความเศร้ากระตุ้นความรู้สึกของคนที่ไม่พอใจในชีวิต ไม่เติมเต็ม ไม่มีใครหรอกที่จะสมบูรณ์แบบไปซะทุกๆอย่าง และมีความสุขได้เต็มที่ ผมเลยสนใจศิลปะ และรอยต่อเหล่านี้ที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม เกี่ยวข้องกับอะไรหลายอย่าง

ผมสนใจด้านสิ่งแวดล้อมเพราะมีประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ระบบที่เป็นอยู่คือไม่สามารถจัดการทรัพยากรได้ดีอย่างที่ภาครัฐกล่าวอ้าง

บทบาทของศิลปิน ทำให้ผมอยู่ในสถานการณ์ที่บอกไม่ถูก ผมสนใจวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดมีคนที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมมองว่าการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ สำคัญมากกว่า เลยเริ่มทดลองทำงานนี้ขึ้น ผมเห็นว่าศิลปะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในบ้านเราค่อนข้างน้อยมาก ประกอบกับการที่ผมได้ไปโชว์ผลงานที่เบลเยี่ยมในปี 2549 โดยนำเอากระดูกสุนัขที่ตายจากการวางยาเบื่อและโดนรถชนไปแสดง ที่นั่นมีศิลปินที่ผสมผสานเยอะมาก มีนักวิจัยมาเป็นศิลปิน ศิลปินไปร่วมงานกับนาซ่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำไมสิ่งนั้นเกิดได้น้อยที่บ้านเรา ที่บ้านเราอาจจะมีการแบ่งค่ายแบ่งพวกกันเกินไป แต่ศิลปะควรมีพื้นที่อิสระมากขึ้น ควรเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างงานรูปแบบใหม่ๆ พัฒนาขึ้นมา เป็นก้าวที่น่าสนใจที่ตัวผมอยากผันออกมาจากสายศิลปะแท้ๆ”

ในความคิดของคุณเรืองศักดิ์ ศิลปินควรมีส่วนช่วยในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

“ศิลปินมีหน้าที่ในการนำเสนอ แต่เราต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าเรานำเสนอเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และผลกระทบของมัน เราควรทำให้เต็มที่มากที่สุดเท่าที่ทำได้  เราควรนำเสนอภาพคนป่วย ภาพผลกระทบ ให้คนที่ปฏิเสธมันรับรู้ให้ได้ เป็นสื่ออีกสื่อซึ่งแตกต่าง และผมเชื่อว่าในความพร้อมเพรียงของการทำสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ศิลปิน เมื่อแสดงออกมาพร้อมกัน จะทำให้ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เสียงที่ดังมากพอจะต้องมาจากพวกเราทุกคนที่มาจากหลายสาขา”

ผลงานศิลปะชิ้นนี้จะช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องมลพิษทางอากาศได้อย่างไร

“ผมย้ำเรื่องความเป็นจริงของสถานการณ์ ลงพื้นที่จริง เก็บฝุ่นจริง เจอคนที่ประสบในพื้นที่นั้นจริง แน่นอนว่าตัวชิ้นงานเองสื่อไม่ได้หมด ตราบใดที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ลงไปสัมผัสรับรู้เอง แต่การทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ว่าปัญหาที่บอกว่าได้รับการแก้ไขแล้วนั้นไม่จริง เป็นการเปิดทางให้คนหลายฝ่ายมาสนใจ มาคิด วิเคราะห์ ตระหนัก ว่าบ้านเมืองเราที่แท้จริงเป็นอย่างไร เรามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ใช้พลังงานสะอาดได้แล้ว แต่สาเหตุที่ไม่ทำคืออะไร หรือทำน้อยกว่าคืออะไร

หวังว่าตัวงานชิ้นนี้จะมีความจริงจัง รูปลักษณ์ และมีความจริงใจจากพื้นที่มากพอในเรื่องนี้ เมื่อคนทั่วไปตระหนักได้ เขาจะได้รับรู้ว่าเรื่องจากสื่อจะมีการคัดกรอง อะไรที่เป็นจริง และอะไรที่ควรตามหาความจริง”

คิดว่าขณะนี้ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยรุนแรงแค่ไหน และทำไมคนไทยต้องหันมาใส่ใจ

“ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าการจัดการของภาครัฐ คือ ความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยเลวร้ายมาก

คนทั่วไปละเลย ผู้มีอำนาจละเลย แม้ว่าเราปัญหามลพิษทางอากาศของเรายังไม่เลวร้ายถึงขั้นประเทศจีน หรืออินเดีย แต่อนาคตไม่ไกลแน่ ก่อนที่จะแย่ไปมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะถึงจุดที่แก้ไขไม่ได้ ตอนนี้เราทำได้เราควรทำเลย  ผมไม่สามารถเปรียบเทียบแต่ละจังหวัดว่าอะไรแย่กว่ากันบ้าง เพราะแต่ละประเด็นแตกต่างกัน แต่ตราบใดที่ปัญหาต่างๆ ยังคงถูกแก้ไขด้วยการตัดตอน โยกย้ายถ่ายเท ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง ปัญหาก็ยังคงอยู่ ผู้ที่ก่อมลพิษต้องกล้าพิสูจน์ตัวเอง ไม่ซ่อนข้อมูล กล้าเผชิญหน้า

ที่ผ่านมา ผมจะพูดถึงหน่วยงานของรัฐ หรือกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ผมเชื่อว่า เราเอง คนทั่วไปเอง ก็มีส่วนที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นด้วย เราปล่อยปละละเลย ยินยอมกับมัน เราแม้กระทั่งรู้สึกดีกับข้อมูลที่ได้ไม่ครบถ้วน ตราบใดที่เรายังมีอากาศดีๆ ในพื้นที่ที่ถูกจัดสรรไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่ควรที่จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางออก ไม่มีใครไปช่วย คงพูดไม่ได้ว่าให้คิดถึงเขาบ้าง แต่ให้จินตนาการตัวเราไปอยู่ที่นั่น แต่แม้แต่กรุงเทพฯ เอง ก็มีปัญหามลพิษอยู่เยอะมาก การที่มองไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี

อากาศที่สดชื่น หายใจได้เต็มปอด จะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่จัดการเสียตั้งแต่ตอนนี้”

ทุกวันนี้ สิ่งแวดล้อมคือแก่นงานศิลปะของ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และการเดินทางเพื่อเก็บฝุ่นจากแหล่งที่มาหลักของมลพิษทางอากาศในประเทศไทยร่วมกับกรีนพีซ คือการเดินทางที่เข้าไปสัมผัสปัญหาเพื่อถ่ายทอดให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศเป็นประเด็นการจัดการสิ่งแวดล้อมประการหนึ่งที่รัฐบาลไทยยังล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหา โดยที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM 2.5) ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน ค่าเฉลี่ยของความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 19 จุดใน 14 เมืองทั่วประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ระบุ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ทั้ง 14 เมืองเกินค่าความปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

“เราทำโปรเจคนี้ได้ไม่นานเท่าไหร่ เห็นอะไรไม่มาก แต่คนที่อยู่ที่ที่มีปัญหามากว่ายี่สิบปีนี่สิ ถ้างานนี้จะเป็นเสียงสะท้อน ขอให้คูณสิบของสถานการณ์จริงเข้าไป ถ้าจะเห็นใจคนในพื้นที่บ้าง ขอให้คูณสิบเหมือนกัน ผมหวังว่าจะมีมนุษยธรรมมากพอในประเทศนี้สำหรับคนทุกคน” เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล กล่าว

-----

ผลงานประติมากรรมจากมลพิษทางอากาศโดย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล คือ ส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการ Right to Clean Air - The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา 16-28 มกราคม 2561 ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60949


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
greenpeaceth's profile


โพสท์โดย: greenpeaceth
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
4 VOTES (4/5 จาก 1 คน)
VOTED: คำผาด
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
นี่คงเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำ "บอสพอล" สุดกลั้นน้ำตา ปล่อยโหกลางรายการบอย ไม่หยุดแค่การฉีกสัญญา เตรียมแจ้งความ ดิ ไอคอนข้อดีของการดื่มน้ำหลังตื่นนอนลีน่าจังโวย!! ร้านก๋วยเตี๋ยวคิดค่าพริกเพิ่ม 20 บาท ลั่นจะฟ้องฐานเอาเปรียบผู้บริโภค ชาวเน็ตถามร้านนี้อยู่ตรงไหน? จะตามไปกินชาร์จมือถือไปด้วยเล่นไปด้วยทำให้แบตเตอรี่เสื่อมจริงไหม? แล้วเราควรป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วอย่างไร?ฝรั่งใจฟู บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูเครื่องบินหายากที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศไทย ที่นี่เจ๋งที่สุดในอาเซียนสเนป(อาจ)เป็นภาพสะท้อนของดัมเบิลดอร์ในวัยหนุ่มฝรั่งสงสัย ทำไมไทยเปิดรับเพศทางเลือกกว่าใครในเอเชีย คำตอบที่คุณอาจคาดไม่ถึง15 เรื่องที่ได้จากการอ่านหนังสือครอบครัวกระต่ายหมูเด้ง ฟีเวอร์! นักท่องเที่ยวแห่ชม จนสวนสัตว์แทบแตก รถติดยาวเหยียด!เผยความรู้สึก ฉันรู้สึกแย่ไปตั้ง 2-3 วัน หลังจากถ่ายฉากนั้น เมื่อ Imelda Staunton เล่าถึงตอนเล่นเป็นอัมบริดจ์
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สรุปประเด็นจากรายการ "โหนกระแส" วันที่ 14 ตุลาคม 2567ครอบครัวกระต่ายเผยความรู้สึก ฉันรู้สึกแย่ไปตั้ง 2-3 วัน หลังจากถ่ายฉากนั้น เมื่อ Imelda Staunton เล่าถึงตอนเล่นเป็นอัมบริดจ์สวยสยองด้วย "ผีกะ"!ชาร์จมือถือไปด้วยเล่นไปด้วยทำให้แบตเตอรี่เสื่อมจริงไหม? แล้วเราควรป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วอย่างไร?
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
สเนป(อาจ)เป็นภาพสะท้อนของดัมเบิลดอร์ในวัยหนุ่มฝรั่งสงสัย ทำไมไทยเปิดรับเพศทางเลือกกว่าใครในเอเชีย คำตอบที่คุณอาจคาดไม่ถึง15 เรื่องที่ได้จากการอ่านหนังสือฝรั่งใจฟู บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูเครื่องบินหายากที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศไทย ที่นี่เจ๋งที่สุดในอาเซียน
ตั้งกระทู้ใหม่