อาหารกลางวันนักเรียนกับความจริงที่ไม่น่ารับประทาน แต่สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นอดีต
บทความ โดย วัชรพล แดงสุภา
ก้าวสำคัญเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบันทำให้ผู้คนใส่ใจในการรับประทานอาหารน้อยลง โดยเฉพาะอาหารเช้าที่หลายครั้งกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย อาหารกลางวันในโรงเรียนจึงกลายมาเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุดมื้อหนึ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริมพัฒนาการ โภชนาการ และการหล่อหลอมแนวคิดที่อยู่ในอาหารแต่ละคำ แต่เราทราบหรือไม่ว่าอาหารกลางวันที่เด็ก ๆ ของเรากินอยู่นั้นมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร?
คำตอบสำหรับคำถามนี้อาจเป็นความจริงที่ไม่น่ารับประทาน แต่ข่าวดีคือเรื่องมีทางออกและหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมก็กำลังร่วมกันต่อสู้เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนของอาหารกลางวันให้กับเยาวชนของพวกเรา
ถึงเวลาปฏิบัติการถาดหลุมสีเขียว!
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมามูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันจัดกิจกรรม We Grow ตอนปฏิบัติการถาดหลุมสีเขียว เพื่อเปิดตัวโครงการอาหารกลางวันยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาให้มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนเหมาะสมกับวัย ใช้วัตถุดิบจากการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โครงการอาหารกลางวันยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นโครงการด้วยการจัดอบรมครูและบุคลากรของโรงเรียนเรื่อง ผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพ ในพื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนคร พังงา และปทุมธานี โดยในปีงบประมาณนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 55 โรงเรียน
การอบรมครูมีทั้งหมดสามหลักสูตรคือ การจัดการสารเคมี นิเวศเกษตร และโภชนาการ โดยเนื้อหาครอบคลุมถึงสถานการณ์สารเคมีทางการเกษตรและการวิเคราะห์สถานการณ์อาหารในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม การศึกษาเรื่องสารเคมีและการดูดซึมและสถานการณ์การผลิตอาหารของพืชและสัตว์ รวมถึงการทดสอบสารตกค้างในอาหารสดและลงพื้นที่สำรวจชุมชนด้วย
เราจะต้องปรับตัวให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป
นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงบทบาทและเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการพัฒนานโยบายอาหารกลางวันในโรงเรียนว่า ปัจจุบันปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก เช่น เด็กผอม และเด็กเตี้ย นั้นลดลง มีเพียงปัญหาเด็กอ้วนยังไม่ลดลงเนื่องจากผู้ปกครองไม่มีเวลาทำอาหาร เด็กจึงเป้นผู้เลือกซื้ออาหารเช้าเอง ซึ่งมักจะจบลงที่ของทอด ของมัน และอาหารขยะ ดังนั้นด้วยสังคงที่เปลี่ยนไปนี้อาหารกลางวันจึงกลายมาเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุด และในบางพื้นที่เราได้เราได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อให้สามารถจัดเตรียมอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน
“สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งคนในวัยนี้มีเวลาว่างมาก หลายคนหันมาปลูกผักแต่ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เราจึงควรจะทำให้โรงเรียนเป็นตลาดของชุมชน เพราะถ้าผู้ปกครองผลิตเองก็จะสามารถสร้างอาหารที่ปลอดภัยให้กับโรงเรียน แล้วก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้นด้วย” นายทรงวุฒิ กล่าวปิดท้าย
อะไรคือความจริงที่ไม่น่ารับประทาน?
นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าวว่า “จากการศึกษาผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อนักเรียนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยง โดยการตรวจพืชผักและผลไม้ที่ใช้สำหรับอาหารกลางวันในโรงเรียน และตรวจเลือดและปัสสาวะของนักเรียนและครูในโรงเรียนประถมศึกษา พบว่าผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และวัตถุดิบเครื่องปรุงที่โรงเรียนซื้อในตลาดมีสารตกค้างในปริมาณสูง และเด็กนักเรียนและครูมีสารกำจัดศัตรูพืชในเลือดและปัสสาวะเช่นกัน นอกจากนี้ เด็กนักเรียนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับสารกำจัดศัตรูพืชจากการฉีดพ่นมากกว่า 200 วันต่อปี
ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังขาดความตระหนักในเรื่องผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กอยู่มาก รวมถึงขาดมาตรการและกฏระเบียบในการปกป้องนักเรียนและชุมชนจากผลกระทบเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และหันหน้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน เด็กนักเรียนทุกคนทั้งในเมืองและชนบทจำเป็นต้องได้กินอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของพวกเขาจริง ๆ และปลอดภัยจากสารพิษเหล่านี้” นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าว
ดร.วิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 กล่าวว่า อาหารปลอดภัยนอกจากจะต้องปราศจากสารพิษและสิ่งปนเปื้อนแล้วยังต้องเป็นอาหารที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก และได้เสนอประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นคือ หนึ่งเราจะต้องสร้างการรับรู้และจิตสำนึกให้กับคุณครูและนักเรียนเพื่อให้หันมาบริโภคอาหารที่ปลอดภัย สองจะต้องส่งเสริมการปลูกพืช และให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ และสามเราจะต้องสร้างเครือข่ายกับชุมชน เพื่อให้คนในพื้นที่ทำการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพื่อป้อนสู่โรงเรียน
ดร.วิชัย กล่าวเสริมอีกว่า “ผมเชื่อว่าโรงเรียนทั้ง 67 แห่งในจังหวัดปทุมธานีสามารถเริ่มได้”
ด้าน นางสาวเขมนิจ จามิกรณ์ หรือ แพนเค้ก นักแสดงและนางแบบชั้นนำ เห็นด้วยว่าโครงการนี้เป็นโครงการนี้มีความประโยชน์มากเนื่องจากโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง การปลูกผักในโรงเรียนก็เปรียบเสมือนการมีซูเปอร์มาร์เก็ตในโรงเรียน
“โรงเรียนมีศักยภาพในการผลิตอาหารให้กับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นในด้านที่ดินและแรงงานครอบครับหันให้ความสำคัญเรื่องอาหารหลังจากที่คุณแม่ป่วย การเลือกรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
ความเกื้อกูลคือทางออก
หากโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนรับประทานผักอินทรีย์มากขึ้นไม่เพียงจะส่งผลดีต่อสุขภาพของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกโรงเรียนจะผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนของตัวเองโดยการปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคภายในโรงเรียน เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ทุกโรงเรียนสามารถจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนโดยการเชื่อมโยงโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการผลผลิตที่ปลอดภัยของโรงเรียนนั้นคือสิ่งสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพราะจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการเกษตรจากเดิมที่เน้นความสวยงามของผลผลิตเป็นหลัก ไปสู่การผลิตเชิงนิเวศที่ใส่ใจต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตัวเกษตรกรเองก็จะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการใช่สารเคมีเกษตรที่รุนแรง ส่วนลูกหลานของพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สมควรจะได้รับ
การพัฒนาระบบอาหารกลางวันของนักเรียนให้มีความปลอดภัยนั้น หลายโรงเรียนในโครงการ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ว่างรอบโรงเรียนให้กลายเป็นแปลงปลูกผักอินทรีย์ที่เด็ก ๆ และคุณครูมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่าสิ่งที่พวกเขารับประทานนั้นปลอดภัยจริง ๆ และช่วยให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหารกลางวัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกผัก แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเยาวชนว่าการเกษตรเชิงนิเวศเป็นสิ่งที่ทำได้จริง และเป็นเรื่องที่แม้แต่เด็ก ๆ ก็ทำได้
ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้เด็กหันมารับประทานผักให้มากขึ้น ทางกรีนพีซจึงได้เชิญร้านอาหารเพื่อสุขภาพชั้นนำอย่าง ปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง และต้นกล้า ฟ้าใส มาแข่งกันออกแบบเมนูอาหารกลางวันจากผักพื้นบ้านให้ดูน่าสนใจ อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้เด็ก ๆ มีทัศนคิดที่ดีในการรับประทานผัก และทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในกรอบของงบประมาณอาหารกลางวันด้วย
ร้านปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง กำลังนำเสนอเมนูออร์แกนิคที่น่ารับประทานโดยใช้ภาชนะจากธรรมชาติ
พี่ ๆ จากร้านต้นกล้า ฟ้าใสกำลังสาธิตเมนูอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนโดยไม่ใช้เนื้อสัตว์
ควบคู่ไปกับกิจกรรมในวันนี้ทางมูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ กำลังร่วมกันจัดอมรมเรื่องสารเคมีในอาหารให้กับ 12 โรงเรียนในจังหวัดปทุมธานีที่เข้ารับการอบรม หลังจากนั้นคุณครูที่จบหลักสูตรก็จะนำความรู้เรื่องการตรวจสารพิษไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนเพื่อทำการประเมินความเสี่ยงของอาหารกลางวันต่อไป และในปีหน้าก็จะมีการจัดการอบรมเรื่องนิเวศเกษตร และโภชนาการให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 ภาค ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะช่วยให้นักเรียนก็จะได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย สนับสนุนให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการปลูกพืชด้วยวิธีที่ปลอดภัยต่อพวกเขาและสิ่งแวดล้อม
We Grow เรากำลังเติบโต
We Grow เรากำลังปลูกพืชด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
We Grow เรากำลังปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ให้กับเด็ก ๆ ของพวกเรา
วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60761