เจาะลึกคดีจอมทรัพย์ในมุมมองผู้รู้กฎหมาย ได้อะไรจากคดีครูจอมทรัพย์บ้าง?
เฟสบุค คุณ Korsy Skulchan เจาะลึกคดีจอมทรัพย์ในมุมมองผู้รู้กฎหมาย ได้อะไรจากคดีครูจอมทรัพย์บ้าง?
ได้อะไรจากคดีครูจอมทรัพย์บ้าง?
ต้องออกตัวอย่างแรงก่อนเลยว่า คดีนี้ผมไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเลย ครั้งแรกที่ได้ฟังตามสื่อต่างๆ ผมก็แอบคล้อยตามนะว่าคงมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในคดีนี้จริงๆ จนวันนึงผมได้อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีนี้ ความรู้สึกแรกเลยคือ ทำไมมันไม่ตรงกับข่าวที่ออกมาเลย พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานได้มาดี อัยการก็
ผมเลยตัดสินใจโทรไปหา ท่านอัยการศาลสูงจังหวัดนครพนม ซึ่งเคยเป็นอัยการจังหวัดสมัยผมรับราชการอยู่ที่นครพนม เลยได้รู้ว่าท่านเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องอัยการที่รับผิดชอบคดีนี้ ผมเลยได้โอกาสแอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย บอกได้เลยครับว่าข้อเท็จจริงบางอย่างมันคนละเรื่องกับที่ได้รับรู้มาตามสื่อต่างๆ เลย
สรุปสั้นๆ เลยว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาว่า ครูจอมทรัพย์มีความผิดโดยใช้รถยนต์ ทะเบียน บค 56 สกลนคร ในการกระทำผิด ต่อมาครูจอมทรัพย์ได้ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ว่า นายสับ วาปี เป็นผู้ขับรถยนต์กระบะ ทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ชนรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่
แต่พอถึงวันพิจารณาทางครูจอมทรัพย์กลับไม่นำ นายสับ วาปี ซึ่งเป็นพยานสำคัญมาเบิกความในศาล แถมทางฝ่ายครูจอมทรัพย์ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมเข้ามาในวันสืบพยานโดยขอนำรายงานผลการตรวจรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร เข้ามาอีก ทั้งที่ไม่เคยอ้างเรื่องการตรวจพิสูจน์รถคันนี้มาก่อนเลย
ถามว่า ทำไมถึงไม่เอานายสับเข้ามาเบิกความล่ะ นายสับโดนข่มขู่หรอ หรือจะไปให้ความสำคัญกับรถยนต์คันทะเบียน บค 56 สกลนคร ว่าไม่เคยเฉี่ยวชนมาก่อนแทน ตอบให้ได้เท่าที่มีข้อมูล คือ นายสับอยู่ในความคุ้มครองของกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนอย่างมากที่จะให้มีการรื้อฟื้นคดีมาโดยตลอด และขอบอกเลยว่า ทางคดีแล้วฝ่ายอัยการรวมถึงตำรวจน่าจะอยากให้นายสับเข้าเบิกความอย่างมาก เพราะสามารถที่จะถามค้านนายสับได้ถึงเรื่อง ขบวนการว่าจ้างบุคคลให้มารับผิดแทน แถมจะได้ถามเกี่ยวกับการครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ที่ฝ่ายครูจอมทรัพย์เอามาอ้างว่าเป็นรถคันก่อเหตุที่แท้จริง เพราะทางอัยการได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ครอบครองที่แท้จริงไว้หมดแล้วว่า นายสับได้ขายรถคันนี้ไปให้คนอื่นตั้งแต่ประมาณปลายปี 2545 (ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เกือบ 3 ปี) แถมมีหลักฐานเกี่ยวกับการทำประกันภัยโดยบุคคลอื่นอีก
พอการเอานายสับมาเป็นเหตุในการขอรื้อคดีท่าจะไปไม่รอด ก็มีความพยายามออกข่าวเบี่ยงประเด็นไปที่ผลการตรวจรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร แทน โดยมีการพยายามให้ข่าวว่า ได้มีการตรวจรถอีกครั้งโดยกรมการขนส่งทางบท บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าไม่พบร่องรอยการเฉี่ยวชนที่บริเวณหน้ารถ ในส่วนนี้คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีรื้อฟื้นคดีได้วินิจฉัยไว้ว่า ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ เพราะประเด็นนี้ได้เคยมีการนำสืบกันแล้วตั้งแต่ปี 2549 แถมในตอนนั้นฝ่ายครูจอมทรัพย์ก็ไม่เคยโต้แย้งในเรื่องนี้ไว้เลย
โดยทางฝ่ายอัยการเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของเทคนิคที่ยังไงแล้วศาลก็คงจะไม่รับพิจารณาแต่ยังคงถามค้านพยานที่ฝ่ายครูจอมทรัพย์นำเข้ามาสืบประเด็นนี้ และนำพยานเข้าสืบหักล้างด้วย สรุปได้ความว่า ในการตรวจพิสูจน์รถคันนี้ตอนปี 2548 ซึ่งเป็นการตรวจหลังเกิดเหตุใหม่ๆ ด้วยการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาร่องรอยการเฉี่ยวชน ผู้ตรวจพิสูจน์วิทยาการจังหวัดนครพนมให้ความเห็นว่า จากการตรวจสอบร่องรอยที่พบบนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร และรถจักรยานคนที่ผู้ตายขับขี่ พบว่ารถจักรยานชนกับรถยนต์ที่บริเวณแผ่นป้ายทะเบียน และผู้ตรวจพิสูจน์กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการตรวจสอบโดยใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงแสดงผลทางจอภาพ พบว่า สีเขียวที่ติดอยู่ที่รถจักรยานเป็นสีเขียวชนิดเดียวกันกับสีเขียวของแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ บค 56 สกลนคร ซึ่งเป็นหลักฐานได้อย่างชัดเจนว่ารถทั้งสองคันนี้มีการเฉี่ยวชนกันจริง
ดังนั้น การเอารถยนต์มาตรวจใหม่อีกครั้งซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุนานถึง 12 ปี ถ้าจะอ้างว่าเพราะวิวัฒนาการพัฒนาขึ้นมากน่าจะให้ผลที่เปลี่ยนไป แต่การตรวจพิสูจน์ในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนอะไร ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมากมายด้วยซ้ำไป แถมหน่วยงานทั้งสามที่มาตรวจใหม่ก็ไม่ใช่หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญในชั้นพิจารณาในศาลไม่มีหน่วยงานไหนยืนยันเลยว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ไม่มีร่องรอยการเฉี่ยวชนเลยนะ แยกอธิบายได้ว่า
1. พยานที่มาจากบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ เบิกความในศาลว่า ได้ตรวจพบว่าค่าความหนาของสีรถยนต์อยู่ในช่วงค่าปกติตามมาตรฐานโรงงาน ส่วนรถยนต์จะเคยเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนหรือไม่ ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ โดยในการตรวจจะใช้เครื่องมือสุ่มตรวจเป็นจุดๆ ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ตัวรถทั้งหมด (มีการพ่นสีดำทับรอยสนิมยังตรวจไม่เจอเลย) และไม่ได้ตรวจสอบว่าชิ้นส่วนของรถว่าเป็นชิ้นส่วนเดิมหรือมีการเปลี่ยนใหม่แล้ว หากมีการนำรถไปทำสีที่ศูนย์ทำสีของบริษัทโตโยต้าก็จะได้ค่ามาตรฐานโรงงาน และเครื่องมือที่ใช้ตรวจนี้เป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในการตรวจสอบมาประมาณ 10 ปีแล้ว
2. พยานที่มาจากตัวแทนกรมการขนส่งทางบก เบิกความในศาลว่า ได้ตรวจสอบแต่เพียงว่า ข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถ ตรงกับที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยไม่พบการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเลขเครื่องยนต์ ตัวถัง และสี โดยไม่ได้มีการตรวจร่องรอยการเฉี่ยวชนแต่อย่างใด และยังตอบอัยการถามค้านว่า สภาพรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนขณะที่ตรวจสอบในปัจจุบันมีความแตกต่างจากภาพถ่ายรถยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนในขณะเกิดเหตุ โดยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร เคยมีการขอออกป้ายทะเบียนใหม่แทนแผ่นป้ายเดิมที่สูญหาย แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการขอออกแผ่นป้ายทะเบียนแทนแผ่นสูญหายจำนวนกี่แผ่น เพราะเอกสารถูกทำลายไปแล้ว
3. พยานที่มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เบิกความในศาลว่า ได้ตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนโดยวิธีดูตาเปล่าและใช้กล้องความละเอียดสูง ซึ่งไม่ได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยเป็นเพียงความรู้พื้นฐาน โดยวิเคราะห์เพียงว่า แผ่นป้ายทะเบียนหน้ารถไม่เคยถูกดัดแปลงหรือซ่อมแซมมาก่อนเท่านั้น โดยไม่ยืนยันว่า แผ่นป้ายทะเบียนมีการเฉี่ยวชนหรือไม่
ที่ผมเอามาลงนี่เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีนี้เท่านั้นนะครับ การทำหน้าที่ของอัยการร่วมกับพนักงานสอบสวนในการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อนำเข้าสู่ศาลในคดีนี้ รวมถึงการถามค้านพยานของฝ่ายครูจอมทรัพย์เพื่อจับพิรุธและเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริง มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ผมทราบจากท่านอัยการศาลสูงว่า ผู้รับผิดชอบสำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นอัยการจังหวัดผู้ช่วย (ไม่แน่ใจว่าตอนรับสำนวนเป็นอัยการผู้ช่วยหรือเปล่าด้วยซ้ำ) แถมท่านอัยการศาลสูงก็ลงมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ทั้งที่ไม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งเป็นทางการ ท่านบอกผมว่า ท่านไม่ต้องลงมาทำเลยก็ได้แต่นี่เป็นเรื่องขององค์กรอัยการ ผมทราบว่ามีการทำงานเพื่อเตรียมคดีนี้กันอย่างหนักมาก แถมสืบพยานกันถึง 5 ทุ่ม และทำแถลงการณ์ปิดคดีถึง 63 หน้า เพื่อสรุปข้อเท็จจริงที่นำเข้าสืบและโต้แย้งทุกประเด็นของอีกฝ่ายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล (จนผมอยากให้มีการเผยแพร่แถลงการณ์ของอัยการฉบับนี้อย่างมาก) แค่ผมอ่านและสรุปมาบางส่วนผมยังเหนื่อยมากเลย ไม่กล้าจะคิดว่าคนทำจะเหนื่อยขนาดไหน
ผมขอชื่นชม คณะทำงานคดีนี้ทุกท่านด้วยใจ และขอขอบคุณที่ทำเพื่อองค์กรอัยการ และกระบวนการยุติธรรมไทยครับ
***ขอแก้ไขโดยนำชื่อท่านอัยการออกนะครับ ตอนโพสไม่คิดว่าจะแชร์กันมากขนาดนี้***
แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/korsy18/posts/10155068884515737